เข้าใจฮ่องกง เข้าใจคนฮ่องกง

เข้าใจฮ่องกง เข้าใจคนฮ่องกง

ผมชอบฮ่องกง ชอบมาตั้งแต่ยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย สมัยเด็กๆ ฮ่องกงเหมือนเป็นตำนานของความใหม่ ความทันสมัย

ที่สมัยก่อนสินค้าดังๆ ที่เข้ามาเมืองไทยจะมาจากฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็น ของเล่น แผ่นเสียง หนังสือ เสื้อผ้า เป็นแหล่งชอปปิ้งที่คนที่ไปจะกลับมาด้วยเรื่องเล่าที่สนุกสนาน พร้อมความประทับใจกับมนต์เสน่ห์ของเกาะฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารกลางน้ำ ระบบสาธารณูปโภค อ่าว เรือโดยสารข้ามฟาก(Star Ferry) รถราง รถเมล์สองชั้นแบบอังกฤษ ทำให้คนไปฮ่องกงรู้สึกสนุกกับชีวิตที่นั้น เป็นพื้นที่คนจีนในเอเชียที่แออัดไปด้วยผู้คนที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน มีความทันสมัยและมีเสน่ห์แบบตะวันตก เป็นเสน่ห์ที่ฮ่องกงมีมาถึงปัจจุบัน

ความสำเร็จของฮ่องกงมาจากระบบเศรษฐกิจฮ่องกงที่เน้นความเป็นเสรีของระบบตลาด มีระบบกฎหมายที่เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน ภายใต้ระบบยุติธรรมที่มีความเป็นอิสระ และสปิริตของคนฮ่องกงที่พร้อมทำงานหนัก พร้อมแข็งขันเพื่อยกฐานะและความเป็นอยู่ของตนเอง ไม่ต่างจากเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ตอนจีนแพ้สงครามฝิ่นและต้องยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษปกครองเป็นเวลาร้อยปี ช่วงนั้นความเป็นอยู่ของคนในเกาะฮ่องกงไม่ต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะคนที่อยู่ฮ่องกงส่วนใหญ่ก็อพยพมาจากจีนเพื่อสร้างชีวิตใหม่ แต่ที่ได้สร้างความแตกต่างมากระหว่างจีนกับฮ่องกงก็หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งแต่ปี 1950 ที่ผู้ปกครองเกาะฮ่องกงได้พัฒนาฮ่องกงให้เป็นเมืองท่าปลอดภาษีของภูมิภาคเอเชีย

ผู้บริหารเกาะฮ่องกงที่บุกเบิกเรื่องนี้ก็คือ เซอร์ จอห์น ดาวเพริธ์เว็ท (John Cowperthwaite) ข้าราชการอังกฤษ เชื้อสายสก็อต ที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของรัฐบาลฮ่องกง ช่วงปี 1951 – 1971 เป็นผู้ที่มีความเชื่อในระบบตลาดอย่างจริงใจ ตามแนวคิดของ อดัมท์ สมิธ และได้วางรากฐานให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจฮ่องกงด้วยหลักการง่ายๆ สามข้อ คือ หนึ่ง การค้าระหว่างประเทศเสรี ไม่มีการเก็บภาษีศุลกากรสินค้าเข้าและสินค้าออก สอง ภาษีในประเทศเก็บในอัตราที่ต่ำ สาม ฐานะการคลังภาครัฐเกินดุล โดยเน้นบทบาทภาครัฐในการจัดสร้างระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี ไม่แทรกแซงการทำงานของระบบเศรษฐกิจ ยกเว้นในเรื่องการค้าผูกขาดและที่อยู่อาศัยที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนฮ่องกง หลักการเหล่านี้ได้ถูกเขียนไว้ในกฎหมายหลัก (Basic Law) ของฮ่องกงจนถึงปัจจุบัน

ผลที่เกิดขึ้น คือ เศรษฐกิจฮ่องกงเติบโตอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในปี 1960 รายได้ต่อหัวเฉลี่ยของคนฮ่องกงจะประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ของคนอังกฤษ แต่เพิ่มเป็น 137 เปอร์เซ็นต์ในปี 1997 ปีที่อังกฤษต้องคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีนและเป็นจุดเริ่มต้นของหลักการ “ประเทศเดียว สองระบบ” ของการนำฮ่องกงเข้าสู่ระบอบการปกครองของจีน ด้านคุณภาพชีวิต จากอายุขัยเฉลี่ยของคนฮ่องกงที่สั้นกว่าคนอังกฤษถึง 5 – 6 ปี ในปี 1950 ในปี 1997 อายุขัยเฉลี่ยของคนฮ่องกงเพิ่มมากกว่าคนอังกฤษถึง 2 ปี และมากกว่าคนอเมริกัน 3 ปี ขณะที่ระบบการศึกษาของฮ่องกงก็ถูกจัดอันดับในระดับนำของโลก ดีกว่าของอังกฤษ

ศาสตราจารย์ มิลตัน เฟร็ดแมน (Milton Friedman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิล ที่มีความเชื่อในระบบเสรีนิยม ได้กล่าวในปี 1980 ว่า ฮ่องกงเป็นกรณีตัวอย่างของความสำเร็จของระบบตลาดและศักยภาพที่เสรีภาพของประชาชนสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตและความกินดีอยู่ดีของประชาชนดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด เป็นตัวอย่างความสำเร็จของระบบทุนนิยมแม้ฮ่องกงจะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากความวิริยะอุตสาหะของประชาชน ล่าสุด ปี 2019 ฮ่องกงถูกจัดอันดับให้เป็นเศรษฐกิจที่มีความเป็นเสรีมากที่สุดในโลกอีกปีหนึ่ง แม้จะอยู่ในระบบ “ประเทศเดียว สองระบบ” ของจีน วัดจากความเป็นเสรีของตลาด บทบาทภาครัฐ การบังคับใช้กฎหมายและประสิทธิภาพของการกำกับดูแลของภาคทางการ

สิ่งเหล่านี้ คือ ค่านิยมหรือ Values ที่คนฮ่องกงเติบโตมาและต้องการที่จะรักษาไว้ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว คือ สิทธิ เสรีภาพของประชาชน และความเป็นเสรีของเศรษฐกิจในระบบตลาดที่ปลอดจากการแทรงแซงของรัฐ ที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจฮ่องกงและความเป็นตัวเป็นตนของคนฮ่องกงมากว่าเจ็ดสิบปี เป็นความภาคภูมิใจที่คนฮ่องกงมีต่อความเป็นฮ่องกงของเกาะฮ่องกง ที่คนฮ่องกงต้องการรักษาไว้

ดังนั้นในทุกครั้งที่ความเป็นตัวเป็นตนของคนฮ่องกง คือ สิทธิเสรีภาพและความเป็นเสรีของระบบตลาดถูกท้าทาย คนฮ่องกงก็จะออกมาแสดงพลัง ออกมาประท้วงเพื่อปกป้องค่านิยมและความเป็นตัวเป็นตนเหล่านี้ การประท้วงมีมาตลอด เช่น ล่าสุด ปี 2014 ที่คนฮ่องกงประท้วงการแทรกแซงของจีนในการเลือกตั้งผู้บริหารเกาะฮ่องกง และขณะนี้ที่การประท้วงได้ยืนระยะมานานกว่าสิบอาทิตย์ ที่เริ่มจากการประท้วงร่างกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่คนฮ่องกงเกือบสองล้านคนออกมาแสดงพลังคัดค้านจนรัฐบาลฮ่องกงต้องยอมถอย แต่ยังไม่ยอมเลิก ทำให้การประท้วงบานปลายไปสู่ข้อเรียกร้องสี่ข้อของกลุ่มผู้ประท้วง คือ หนึ่ง ล้มเลิกร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน สอง ปล่อยผู้ประท้วงที่ถูกจับและไม่เอาผิดลงโทษผู้ประท้วง สาม ตั้งคณะทำงานอิสระเพื่อหาข้อเท็จจริงเรื่องการประท้วง โดยเฉพาะความรุนแรงในการทำหน้าที่ของตำรวจ สี่  ผู้บริหารสูงสุดของเกาะฮ่องกงคนปัจจุบันต้องออกจากตำแหน่ง ข้อเรียกร้องทั้งสี่ข้อ ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้บริหารหรือรัฐบาลฮ่องกง จนการประท้วงได้ถูกยกระดับเป็นการยึดพื้นที่ในสนามบินนานาชาติฮ่องกงอย่างที่เป็นข่าว​​​

ผมเองทึ่งในความตั้งใจและความทุ่มเทของคนฮ่องกงที่พร้อมต่อสู้เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพเพื่อคนฮ่องกง 7.4 ล้านคน ซึ่งได้รับการสนับสนุนมากมาย ทึ่งในจำนวนคนฮ่องกงที่พร้อมกันออกมาแสดงพลังเป็นแสนเป็นล้านคนอย่างไม่กลัวเกรง ทึ่งในความหลากหลายของคนที่มาร่วมประท้วง ไม่ว่าจะจนหรือรวย หรืออยู่ในสถานะไหนของสังคม ทั้งนักศึกษา คนทำงาน เจ้าของธุรกิจ นักธุรกิจ ข้าราชการ ผู้ใช้แรงงาน ทึ่งในความสามารถในการบริหารจัดการการประท้วง ความเป็นปึกแผ่น และความมีวินัยของผู้ประท้วง ที่มาร่วมกันโดยไม่มีหัวหน้าหรือผู้นำ ร่วมกันโดยสมัครใจ ตัดสินใจร่วมกันและแบ่งหน้าที่กันอย่างเป็นระบบ ภายใต้ความเข้าใจว่า “เราจะไม่แตกแยกกัน” เป็นการทำหน้าที่ของประชาชนที่พรัอมลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพ

มีการตั้งข้อสังเกตุว่า แกนของผู้ประท้วง ก็คือ คนฮ่องกงรุ่นหนุ่มสาวที่จะต้องอยู่ในฮ่องกงอีกทั้งชีวิต และคงต้องเจอกับสภาพการปกครองของจีนในอีก 28 ปีข้างหน้า เมื่อระบบ “ประเทศเดียว สองระบบ” ถูกยกเลิกตามข้อตกลงห้าสิบปี หลังปี 1997 ที่ในปี 2047 เกาะฮ่องกงจะกลับมาเป็นของจีนอย่างสมบูรณ์ ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้จะต้องมีชีวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจจีนแบบสังคมนิยม ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ควบคุมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คนเหล่านี้จะเป็นผู้สูญเสียมากที่สุดเมื่อฮ่องกงกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของจีน หมดความเป็นคนฮ่องกง หมดความเป็นเศรษฐกิจที่เคารพในสิทธิเสรีภาพประชาชนและระบบตลาด และหมดในสิทธิทางการเมืองที่จะเลือกผู้นำของตนเอง

นี่คือเหตุผลที่ทำให้การประท้วงในฮ่องกงอาจมีต่อไปไม่จบสิ้น เพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพที่คนที่รักเสรีภาพและประชาธิปไตยทั่วโลกเข้าใจและเอาใจช่วย แม้รู้ดีว่าจีนคงไม่ยอมและคงพร้อมทำทุกอย่างที่จะเอาเกาะฮ่องกงกลับมาเป็นของจีนอย่างสมบูรณ์ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง เหมือนที่ฮ่องกงเคยเป็นส่วนหนึ่งของจีนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เป็นการทวงคืน ส่วนหนึ่งของแผ่นดินจีนที่เคยต้องเสียให้กับระบบจักรวรรดินิยม