พรรคการเมืองกู้เงินได้หรือไม่

พรรคการเมืองกู้เงินได้หรือไม่

เมืองไทยใช้แต่นักกฎหมายกับนักรัฐศาสตร์ในการร่างและบังคับใช้กฎหมาย เป็นเนติบริกรในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง

 รวมทั้งในศาลยุติธรรมอื่นๆ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะนักเศรษฐศาสตร์มีบทบาทมากในประเทศซึ่งประชาธิปไตยก่อร่างสร้างตัวมายาวนานในยุโรปและในสหรัฐฯ Richard Posner เป็นตัวอย่างของนักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์และเป็นผู้พิพากษาในสหรัฐฯ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เช่น Hayek เจ้าของหนังสือ Constitution of Liberty , Law and Legislation… หรือ James Buchanan เป็นเพียงบางตัวอย่างในการสร้างความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง กฎหมาย และกติกาที่เหมาะสมในสังคมประชาธิปไตย ชนชั้นปกครองไทยละเลยเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธ์

การขาดไปของหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ในเรื่องการเงินของพรรคการเมืองสะท้อนออกมาชัดเจนมาก ทั้งในการร่างกฎหมายและความเห็นจากวุฒิสมาชิกก็ดี จากนักการเมืองก็ดี หรือจากคนทั่วๆไป เมื่อต้องเผชิญกับข้อเท็จจริงจากการที่พรรคอนาคตใหม่กู้เงินประมาณ 110 ล้านบาท จากหัวหน้าพรรค ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

เนื่องจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเงินของพรรคการเมืองไม่ได้ระบุห้ามการกู้เงินของพรรคการเมืองไว้ แต่มีการระบุแหล่งที่มาว่า ”อาจจะมีรายได้ อยู่ 7 รายการ (หมวด 5 มาตรา 62) ซึ่งชัดเจนว่าไม่มีเรื่องการกู้เงิน แต่รวมเงินทุนประเดิม ผู้เขียนเข้าใจว่าผู้ร่างกฎหมายคงไม่ได้คิดเรื่องการกู้เงินอยู่ในใจ โดยนัยยะของกฎหมาย การไม่ระบุเงินกู้แต่ระบุเงินทุนประเดิม ไม่น่าจะมีนัยยะว่าการกู้เงินทำไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาโครงสร้างของกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม รายได้ที่ใช้ในกฎหมายนี้ไม่ใช่รายได้แต่เป็นรายรับ (ที่รวมแม้กระทั่งเงินทุนประเดิม) ในทางเศรษฐศาสตร์ จริงๆ จะให้ถูกต้องมันคือ ”รายรับ” เพราะในทางเศรษฐศาสตร์ รายได้คือมูลค่าเพิ่ม (Value added) หรือในทางบัญชี ในทางธุรกิจ เวลาพูดถึงรายได้ เราจะหมายถึงรายรับลดต้นทุน (Revenue - Cost) คือต้องมีค่าใช้จ่ายมาหักออก ถ้าเป็นรายได้สุทธิก็คือกำไร

แต่วิธีคิดเพื่อดูว่าพรรคการเมืองกู้เงินได้หรือไม่ การนำหลักเศรษฐศาสตร์มาใช้มีความสำคัญไม่น้อยกว่า หรืออาจจะมากกว่าการมองจากบทบัญญัติทางกฎหมายด้วยซ้ำไป ในทางเศรษฐศาสตร์ การกู้เงินมีผลต่อภาระหนี้สินในอนาคต แต่ทันทีทันใดที่มีการกู้เงินหรือก่อหนี้ องค์กรหรือบุคคลที่กู้ ทั้งหนี้สินและสินทรัพย์ (เช่น เงินสด หรือสิทธิในการเรียกร้อง) จะเพิ่มขึ้นทันทีในจำนวนเท่ากัน องค์กรจะมีขนาดของสินทรัพย์ที่ใหญ่ขึ้น (งบดุลรวม สินทรัพย์ = หนี้ + ทุน) ในทางเศรษฐศาสตร์ การก่อหนี้สร้างสินทรัพย์ หรือ Debt create asset การกู้เงินไม่มีผลต่องบรายได้รายจ่าย หรือบัญชีกำไรขาดทุนทันที ในทางเศรษฐศาสตร์หรือบัญชี เพราะฉะนั้นชัดเจนว่า หนี้สินที่ก่อขึ้นจากเงินกู้จึงไม่ใช่รายได้

แต่การก่อหนี้จะสร้างภาระผูกพันในอนาคตในการชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับเงินกู้ระยะยาว ดอกเบี้ยจะเป็นรายจ่ายอยู่ในบัญชีกำไรขาดทุน ในทางธุรกิจ หนี้ที่กู้มาสามารถสร้างสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้มากกว่าภาระดอกเบี้ย องค์กรและสินทรัพย์ก็เติบโตได้ ในกรณีของพรรคการเมือง เช่น อนาคตใหม่ สินทรัพย์ที่เติบโตขึ้นนั้นอาจจะมาจากการที่พรรคสามารถชนะการเลือกตั้ง ได้ส.ส.จำนวนมาก ซึ่งตัวส.ส.เองสามารถที่จะเป็นแหล่งรายได้และการระดมทุนที่สำคัญ ทั้งจากตัวเองที่ให้แก่พรรคหรือจากบุคคลภายนอก สินทรัพย์ตัวนี้อาจจะเป็นสินทรัพย์ที่ฝังอยู่ในชื่อเสียงและความไว้วางใจที่ผู้เลือกทั้งในปัจจุบันและในอนาคต (Reputational หรือ trust asset) มอบให้แก่พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งก็จะส่งผลต่อความสามารถในการระดมเงินทุนจากแหล่งภายนอก เพื่อนำมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ ยังไม่พูดถึงการได้ส.ส.จำนวนมาก จะทำให้พรรคสามารถได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมือง แน่นอนว่าทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ย่อมต้องมีความเสี่ยง พรรคอาจจะต้องถูกยุบถ้าเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย เพราะไม่สามารถชำระหนี้ พรรคการเมืองกู้เงินได้ถ้ามีคนอยากให้กู้

โครงสร้างกฎหมายการเงินของพรรคการเมือง เมื่อใช้หลักเศรษฐศาสตร์และตัวบทกฎหมาย ชัดเจนว่าพรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้แน่นอน คิดง่ายๆ พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล มีเงินทุนประเดิม มีสินทรัพย์ มีรายได้รายจ่าย จึงมีโครงสร้างทางการเงิน พรรคการเมืองไม่ใช่สถาบันการเงินที่รัฐต้องคุ้มครองผู้ฝากเงินหรือผู้ออม กฎหมายไม่ได้ระบุว่าเงินกองทุนของพรรคการเมืองจะติดลบไม่ได้หรือมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน กฎหมายไม่ได้จำกัดหนี้สินของพรรค การมีหนี้ก็คือการกู้ยืมเงิน มีภาระผูกพันต่อเจ้าหนี้ ซึ่งอาจจะเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรง การค้างจ่ายค่าจ้าง เงินเดือน ค่าเช่า ของที่ซื้อมา เป็นต้น พรรคการเมืองที่มีเงินและทรัพย์สิน (ซึ่งเท่ากับหนี้ + ทุน) สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรค ทั้งการเลือกตั้งหรือเพื่อการบริหารพรรค (มาตรา 87 หมวด 7)

โดยสรุป ตรรกะทางเศรษฐศาสตร์และบทบัญญัติทางกฎหมายของไทย พรรคการเมืองไทยกู้เงินได้แน่ๆ ตราบใดมีผู้ยินยอมจะให้กู้และรับความเสี่ยง เหมือนกับที่พรรคการเมืองในต่างประเทศ เช่น ประเทศกรีซทำเป็นประจำ กู้จากธนาคารโดยใช้หลักประกันซึ่งเป็นเงินสนับสนุนจากรัฐสำหรับการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคจะได้รับในอนาคต