อีกช่องทาง ช่วยเกษตรกรไม่ประสบวิกฤติ(บ่อย)

อีกช่องทาง ช่วยเกษตรกรไม่ประสบวิกฤติ(บ่อย)

ภาวะวิกฤติของเกษตรกรที่เราได้ยินกันมานานและบ่อยครั้งมีหลายประการ เช่น ราคา สภาพดินฟ้าอากาศ ค่าเงินบาท

สถานการณ์มักลงเอย่วา รัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยออกมาตรการฉุกเฉิน เช่น โครงการรับจำนำข้าว รับซื้อยางพารา การสนับสนุนให้นำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นพลังงาน แต่มาตรการเหล่านี้มักเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ มักก่อปัญหาอื่น ๆ ตามมาในอนาคต และกลายเป็นเครื่องจูงใจให้เกษตรกรไม่พยายามหาทางหลีกเลี่ยงปัญหาด้วยตนเอง

จากผลการศึกษา เรื่อง “พลวัตการทำเกษตรไทย และนัยต่อผลตอบแทนและความเสี่ยงของครัวเรือนเกษตร” โดยคณะผู้วิจัย ที่เผยแพร่ เมื่อ 19 มิ.ย.2562 ชี้ว่า กิจกรรมเกษตรของไทยกระจุกตัวอยู่ในพืชเพียง 5 ชนิด คือมันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย (ซึ่งเป็นพืชไร่) ยางพารา และปาล์มน้ำมัน (ซึ่งเป็นพืชยืนต้น) การทำเกษตรยังกระจุกตัวในเชิงพื้นที่และเวลา เช่น พื้นที่ปลูกข้าว 36% อยู่ในภาคอีสานตอนล่าง และ 10% กระจุกตัวอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนพื้นที่ปลูกยางพารา 53% กระจุกตัวอยู่ในภาคใต้ 

การกระจุกตัว ทั้งในเชิงชนิดพืช พื้นที่ และเวลานี้ สามารถก่อความเสี่ยงได้ง่ายและมาก เช่น ปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาผลผลิตตกต่ำ นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยภายนอกที่สำคัญหลายประการที่อาจแปรผันและเพิ่มความเสี่ยงขึ้นไปอีก เช่น สภาวะดินฟ้าอากาศและน้ำ ปริมาณการซื้อขาย / แลกเปลี่ยน / กักตุน / ราคาในตลาดโลก อีกทั้งภาวะความเสี่ยงนี้ได้เพิ่มขึ้นในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา)  ต่างจากสถานการณ์ในประเทศเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อย่างชัดเจน เพราะประเทศเหล่านี้ได้ลดเนื้อที่ ปลูกข้าวลง และหันไปกระจายพืชผล โดยเน้นพืชผัก ผลไม้ และพืชพลังงาน ตามคำแนะนำของธนาคารโลก เพื่อลดความเสี่ยงและเปราะบางของภาคเกษตรกรรม

เมื่อผลการศึกษาลึกลงไปในระดับครัวเรือนพบว่า 2 ใน 3 ของครัวเรือนเกษตรในปัจจุบันทำเกษตรเชิงเดี่ยว (monoculture) ไม่เป็นไปตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบหลากหลายและยั่งยืน  ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะเกษตรกรมองว่าเมื่อเลือกปลูกพืชหลักในเชิงเดี่ยว แม้จะมีความเสี่ยงสูงและให้ผลตอบแทนต่ำ แต่รัฐก็คงเข้าไปดำเนินมาตรการโอบอุ้มอย่างแน่นอนหากเกิดปัญหา เมื่อคณะผู้วิจัยทำการทดสอบทางสถิติแล้วปรากฏว่า ในระดับความเสี่ยงเดียวกัน  เกษตรผสมผสานให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเกษตรเชิงเดี่ยว (โดยเฉพาะในกรณีข้าวในเกือบทุกพื้นที่)

หลายฝ่ายอาจข้องใจว่าเกษตรกรแบบผสมผสานนั้นอาจกระทำไม่ได้ (impracticable) เพราะสภาวะทางธรรมชาติไม่เอื้ออำนวย แต่หากผู้ที่ข้องใจได้ติดตามข่าวสารที่แท้จริงในวงการเกษตรแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าการทำเกษตรแบบผสมผสานตามที่ ร.9 ทรงสอนไว้นั้นให้ผลสำเร็จอย่างแท้จริงในหลายพื้นที่ เช่น จ.ตรัง มีพืชหลัก คือ ยางพารา พืชผสมผสาน คือ บวบหวาน, ผักกูด, ถั่วพู, ตำลึง, ผักเหลียง จ.สตูล มีพืชหลักคือ ยางพารา ก็สามารถปลูกตะไคร้, ขมิ้น, ข่า, ผัก, กล้วยหอม, กล้วยไข่ เป็นพืชผสมผสาน  เป็นต้น 

ภาพรวม คือ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่แยกการปลูกพืชเป็น 7 ระดับ ได้แก่ (1) ไม้ชั้นบน เป็นไม้เนื้อแข็ง อายุการปลูกยาวนาน (2) ไม้ชั้นกลาง เป็นไม้ใช้งาน ใช้เวลาการปลูกไม่กี่ปี (3) ไม้ชั้นล่าง เป็นพวกผลไม้ (4) ไม้หน้าดิน เป็นพืชผักสวนครัวและสมุนไพร (5) ไม้หัว เป็นพืชหน้าดิน (6) ไม้เถา เป็นพืชจำพวกเกาะเกี่ยว (7) ไม้น้ำ เช่น ผักบุ้ง สายบัว

การทำเกษตรแบบหลากหลาย ก็ยังมีอุปสรรคที่สำคัญและก่อปัญหาความยุ่งยากแก่หลายฝ่าย คือ เรื่องกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินทำกิน เช่น ชาวนารายใหญ่บางรายอาจต้องการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะเชื่อในข้อได้เปรียบของขนาดและความสะดวก ในขณะที่ชาวนารายย่อยบางรายก็อาจรู้สึกว่าตนไม่สามารถที่จะไปทำการเกษตรแบบหลากหลายได้เพราะขนาดที่ดินเล็ก 

ในเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้  ทางออกที่ควรพิจารณา คือ รัฐสนับสนุนให้ชาวนาหลายรายที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันมาร่วมมือกันทำข้อตกลงจัดตั้ง “ห้างหุ้นส่วน” หรือสหกรณ์ชาวนา เพื่อทำการเกษตรร่วมกันทั้งในรูปเชิงเดี่ยวในบางแปลงและรูปหลากหลายในบางแปลง โดยแต่ละสมาชิกที่เข้าถือหุ้นจะมีสิทธิในการแบ่งรายได้รวมตามสัดส่วนของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทั้งนี้ ห้างหุ้นส่วนหรือสหกรณ์ชาวนาเช่นนี้จะมี นโยบายหลักคือ รักษากรรมสิทธิ์ที่ดินเหมือนเดิม แต่เพิ่มการทำเกษตรแบบหลากหลายมากขึ้น เพราะให้ผลตอบแทนที่สูง และความเสี่ยงต่ำดังที่กล่าวข้างต้น อนึ่ง รัฐควรเสนอแนะแก่กลุ่มชาวนาที่เข้าร่วมมือกันนี้ด้วยว่า พืชชนิดใดเหมาะสมที่จะปลูกในแปลงหลากหลาย

การที่เกษตรกรหลายรายเข้ามาร่วมโครงการ (โดยยังรักษากรรมสิทธิ์ที่ดินเหมือนเดิม) จะก่อประโยชน์ได้ในหลายแง่มุม เช่น (1) ขยายขนาดที่ดินส่วนรวมของกลุ่ม ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรทั้งกลุ่มสามารถจัดสรรแบ่งส่วนว่าจะทำเกษตรเชิงเดี่ยวเท่าใด เกษตรแบบหลากหลายเท่าใด และครอบคลุมพืชชนิดใดบ้าง จึงจะเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม (optimal unix) โดยเฉพาะทางด้านต้นทุนและผลตอบแทน (2) เพิ่มแรงงานและประสิทธิภาพการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตให้แก่เกษตรกรทั้งกลุ่ม (3) เพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่ผลผลิตหลายชนิดของเกษตรกรทั้งกลุ่ม 

นอกจากนั้น ในเมื่อชาวนาที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนกันนั้นมักจะรู้จักกันดีเพราะมีที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกัน จึงไม่น่ามีปัญหาเรื่องความไว้วางใจ ซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือนี้จะเกิดง่ายขึ้น หากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐในหมู่บ้านหรือตำบลนั้น ๆ เข้ามาช่วยประสานงาน พร้อมทั้งเป็นพยานในข้อตกลงความร่วมมือนั้น ๆ ด้วย

ในขณะเดียวกัน หน่วยงานของรัฐก็ควรสนับสนุน “ห้างหุ้นส่วน” หรือสหกรณ์ชาวนานี้ โดยมีมาตรการจูงใจใน บางรูปแบบ เช่น ให้สิทธิพิเศษทางภาษี ทางการเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบ ทางการขนส่ง ทางการตลาด และคำแนะนำเกี่ยวกับพืชผลการเกษตรที่ควรนำมาปลูกผสมผสานกับพืชหลักตามช่วงเวลาที่เหมาะสม นอกเหนือจากนั้น รัฐควรติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องและทันสมัยทั้งในตลาดต่างประเทศและตลาดภายในประเทศ พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นให้แก่เกษตรกรอยู่เสมอ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรสามารถปรับกลยุทธ์การผลิตของตนได้อย่างถูกต้องและทันต่อเวลา

โดย... ปกรณ์ วิชยานนท์