วางแผนความมั่งคั่งแบบอัตโนมัติและข้อควรระวัง

วางแผนความมั่งคั่งแบบอัตโนมัติและข้อควรระวัง

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆท่าน คราวก่อนหน้าผมได้เขียนเกี่ยวกับผู้แนะนำการลงทุนแบบอัตโนมัติ หรือ Robo-Advisor

 รวมถึงหลักในการพิจารณาเลือกผู้แนะนำ วันนี้ผมอยากจะขยายความให้เห็นตัวอย่างการลงทุนเพื่อให้ภาพที่ชัดเจนมากขึ้น สำหรับท่านผู้อ่านสนใจที่จะวางแผนความมั่งคั่งหรือวางแผนเกษียณแบบอัตโนมัติ

อันดับแรกคือ เราต้องกำหนดให้ได้ก่อนว่าเราอยากได้อะไร เช่น ไมตรีอยากมีเงิน 10 ล้านบาทในอีก 15 ปีข้างหน้าเพื่อเป็นเงินสำหรับการเกษียณ หรือ ทิพวัลย์อยากมีเงิน 2 ล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้าเพื่อเอาไว้เป็นทุนสำหรับลูก เป็นต้น

อันดับสอง เมื่อทราบเป้าหมายแล้ว เราต้องประเมินตัวของเราเองในสองเรื่องคือ เรารับความเสี่ยง (จากการขาดทุน หรือจากความผันผวน) ได้มากน้อยเพียงใด และ เราสามารถที่จะลงทุนในแต่ละเดือนได้สูงสุดเท่าไหร่ ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่เราวางไว้จากข้อ 1 เช่น ถ้าไมตรีอยากมีเงิน 10 ล้านแต่จะลงทุนแค่เดือนละ 5,000 บาท ซึ่งลองคำนวณคร่าวๆแล้ว การที่ไมตรียินดีที่จะลงทุนด้วยเงินต้นเพียง 9 แสนบาท (เดือนละ 5,000 1 ปี 6 หมื่นบาท 15 ปี เท่ากับ 9 แสน) มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้เงิน 9 แสนนั้นโตมาเป็น 10 ล้าน หรือถ้าทิพวัลย์รับความเสี่ยงได้น้อยไป แต่อยากให้เงินลงทุนของตัวเองโตเร็ว ๆ มันก็เป็นไปไม่ได้อีก ในตัวอย่างผมจึงกำหนดให้ในการลงทุน ตัวแทนทั้งสองสามารถรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงค่อนข้างมาก

จากตัวอย่างข้างบน ถ้าไมตรีอยากมีเงิน 10 ล้านในอีก 15ปี ไมตรีต้องลงทุนด้วยเงิน 35,000 บาทต่อเดือน ในพอร์ตการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี ซี่งแน่นอนพอร์ตดังกล่าวคงต้องประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเช่นหุ้นในสัดส่วนที่มากระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับทิพวัลย์ต้องการเงิน 2 ล้านบาทไว้เป็นเงินทุนสำหรับลูก ทิพวัลย์ต้องลงทุนเดือนละ 12,500 เป็นเวลา 10 ปี ด้วยโครงสร้างพอร์ตการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 7 เป็นต้น

เมื่อวางแผนตามลำดับแล้ว ที่เหลือคือ การลงทุนให้ได้ตามที่ได้วางแผนเอาไว้ ก็ดูเหมือนว่าจะจบและเราก็ไม่ต้องกังวลอะไรแล้ว แต่ในความเป็นจริงการลงทุนมีความเสี่ยง ผลลัพธ์จากการลงทุนอาจไม่ได้เป็นไปตามที่ได้วางเอาไว้ ดังนั้นตอนวางแผนบริหารความมั่งคั่ง บริษัทที่ปรึกษาควรกำหนดค่าเบี่ยงเบน หรือกำหนด คอมพอร์ตโซนให้กับนักลงทุน หรือบางที่ก็เรียกว่าค่าเซฟตี้รีเทิร์น ถ้าเราอยากรู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้นเราอาจใช้ค่าผลตอบแทนที่น้อยลงหรือที่เรียกว่า ผลตอบแทนที่สร้างความมั่นใจ (confidence return) มาใช้ในการวางแผน แต่แน่นอนสิ่งที่เราต้องเสียไปคือเราต้องใช้เงินลงทุนในแต่ละเดือนที่เพิ่มขึ้น และจากการที่การลงทุนมีความเสี่ยง สิ่งที่เราพึงให้ความระมัดระวังสำหรับการลงทุนแบบอัตโนมัติในกรณีต่างๆ มีดังนี้

  1. ติดตามความมั่งคั่งของเราเป็นระยะๆ ซึ่งไม่ควรถี่จนเกินไป และไม่ควรทิ้งช่วงยาวจนเกินไป เช่นดูทุกๆ 3 เดือนก็น่าจะเป็นระยะที่เหมาะสม การดูให้สำรวจดูว่าความมั่งคั่งของเราเพิ่มพูนขึ้นตามเป้าหมายที่ได้วางไว้หรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงพอร์ตของเราอาจจะมากกว่า หรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยตามแผนก็ได้ หากพอร์ตมากกว่าก็สบายใจไป แต่ถ้าพอร์ตของเราน้อยกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องตกใจหรือกังวลไปหากความมั่งคั่งของเรายังอยู่ในโซนที่ปลอดภัย แต่ถ้าพอร์ตเราต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากๆ เราอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนก็เป็นได้
  2. ให้ความระมัดระวังในช่วงใกล้ครบกำหนดตามแผน ในช่วงแรกๆของการลงทุนเม็ดเงินในพอร์ตของเรายังไม่มากนักเมื่อเทียบกับเงินลงทุนในแต่ละเดือนความผันผวนของตลาดอาจไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของพอร์ตของเรา (เมื่อพิจารณาเป็นบาทไม่ใช่ร้อยละ) มากนัก ดังนั้นเวลาตลาดตก เงินที่ใส่เข้าไปก็จะช่วยถัวเฉลี่ยราคาให้เราสามารถซื้อของที่ถูกลง แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆพอร์ตของเราจะมีจำนวนเงินที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่เราลงทุนในแต่ละเดือน และหากตลาดมีความผันผวนในทางลบมากๆในช่วงนี้อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการบรรลุเป้าหมายของเราได้มากกว่า (ลองนึกภาพตามก็ได้เช่น ในตอนต้นพอร์ตเรามีเงิน 1 แสนบาท ถ้าหุ้นตก 10% พอร์ตเราจะลดลง 1 หมื่นบาท แต่ตอนใกล้จบ พอร์ตเรามีมูลค่า 9 ล้านบาท ตลาดลบ 10 % พอร์ตเราจะลดลง 9 แสนบาท)

อย่างไรก็ดีผมยังเชื่อว่าการวางแผนความมั่งคั่งโดยปฎิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว และมีการกระจายการลงทุนที่ดีประกอบกับการลงทุนอย่างสม่ำเสมอจะช่วยทำให้เราบรรลุเป้าหมายที่เราได้วางไว้ได้ดีกว่า และท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมีความสุขและโชคดีกับการลงทุนนะครับ