Supply Chain Finance (2)

Supply Chain Finance (2)

ครั้งที่แล้วได้กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เรียกกันว่า Supply Chain Finance (SCF)

 ที่เข้ามาช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับห่วงโซ่ทางการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นให้กับผู้ลงทุนด้วยเช่นกัน

โดยอุตสาหกรรมที่เป็นที่นิยมนำมาทำ SCF นั้น โดยทั่วไปแล้ว จะประกอบไปด้วยคุณสมบัติหลัก คือ 1) ประกอบด้วยห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ที่เชื่อมโยงไปเป็นจำนวนมากทั่วโลก 2) มีระยะเวลาการรอคอยสินค้า (Lead Time) ที่ยาวนานเพียงพอ 3) บริษัทผู้ซื้อสินค้าเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ และมีอันดับความน่าเชื่อถือสูงกว่าบริษัทผู้ขาย (Supplier) ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีองค์ประกอบเหล่านี้ จะอยู่ในกลุ่มค้าปลีก การผลิต รถยนต์ ผลิตภัณฑ์เคมี และเวชภัณฑ์ เป็นต้น (Supply Chain Finance Primer, 2015)

การที่สถาบันการเงิน หรือนักลงทุนจะเข้าไปซื้อลดใบแจ้งหนี้ (Invoice) จากผู้ขายสินค้า หรือขยายเครดิตเทอมให้ผู้ซื้อสินค้าใน SCF Program ผ่านแพลตฟอร์มอัตโนมัติที่ได้กล่าวถึงไปในครั้งที่แล้ว จะต้องมีข้อควรคำนึงถึงหลายประการด้วยกัน เช่น ความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทผู้ซื้อสินค้า โครงสร้างการเป็นเจ้าของ และการจัดการ สถานภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรม แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม ระดับความพึ่งพากันของบริษัทผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยงระดับประเทศ ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ซึ่งหลายปัจจัยก็มีความใกล้เคียงกับเกณฑ์การพิจารณาปล่อยสินเชื่อทั่วไป

ซึ่งเมื่อพิจารณาปัจจัยข้างต้นแล้ว ก็จะได้มาซึ่งระดับความเสี่ยง ตั้งแต่ต่ำ – สูง ที่จะเป็นตัวกำหนด ระดับความต้องการของสถาบันการเงินหรือนักลงทุน ขนาดหรือระยะเวลาของตราสาร ระดับราคาที่จะรับซื้อ โดยจะต้องมีการรับประกันหรือสิทธิการไล่เบี้ยหรือไม่ หรือต้องมีกลไกการลดความเสี่ยงด้านเครดิตอื่นๆอีกหรือไม่ เป็นต้น (GSCF’s Views, Jan 2019)

การลดความเสี่ยงด้านเครดิตนั้นสามารถทำได้หลายวิธี โดยในปัจจุบันการรับประกันลูกหนี้การค้าทั่วโลก มีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านยูโร (ที่มา: The International Credit Insurance & Surety Association)

แม้สถาบันการเงิน ซึ่งมีบุคลากรและความชำนาญในการวิเคราะห์สินเชื่อ ก็ยังมีการทำประกันความเสี่ยงด้านเครดิต ทั้งนี้ก็เพื่อลดภาระในการคำนวณสินทรัพย์เสี่ยง นอกจากนี้การทำประกันยังช่วยเพิ่มกลุ่มลูกค้าที่มิใช่สถาบันการเงินเข้ามาด้วย

อย่างไรก็ตามการทำประกันความเสียหายจากสินเชื่อลูกหนี้การค้านั้น จะเข้าเกณฑ์ของสถาบันการเงินในสหรัฐฯและยุโรปได้ กรมธรรม์จะต้องออกโดยบริษัทประกันที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่สูง และมีเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์โดยตรงกับสถาบันการเงินเท่านั้น ดังนั้น การหาบริษัทประกันที่มั่นคง และมีกำลังมากเพียงพอที่จะรับประกันความเสียหาย จึงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมาก

และแม้ว่าจะมีการประกันความเสียหายแล้วก็ตาม แต่บริษัทประกันอาจมีเงื่อนไขยกเว้นความคุ้มครองในบางกรณี เช่น การผิดนัดชำระหนี้ของผู้ซื้อสินค้า อันเนื่องมาจากสงครามนิวเคลียร์ หรือการแพร่กระจายของรังสีนิวเคลียร์ เป็นต้น หรือ บริษัทประกันอาจประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ตามกำหนดเวลา

แต่การมีประกันความเสียหาย อย่างไรเสียก็ดีกว่าไม่มี และโอกาสที่บริษัทประกันที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง จะประสบปัญหาทางการเงินนั้นมีโอกาสน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องอย่างในปัจจุบัน

อันที่จริงแล้ว การลงทุนในสินเชื่อลูกหนี้การค้า ที่มีประกันคุ้มครองเต็มจำนวนนั้น ถือได้ว่ามีการป้องกันความเสี่ยงถึง 2 ชั้น โดยชั้นแรก คือ การมีหลักประกันเป็นลูกหนี้การค้า ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลูกหนี้มักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีเครือข่ายการผลิตทั่วโลก และมีความน่าเชื่อถือในระดับสูง (เทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไปที่ไม่มีหลักประกัน) และชั้นถัดมา คือ มีการคุ้มครองความเสียหายจากบริษัทประกันซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สูงเพียงพอ

SCF ถือเป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง ที่ผู้ลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่ ใช้เป็นเครื่องมือกระจายการลงทุนในพอร์ตตราสารหนี้ของตนได้ อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนควรศึกษาถึงความเสี่ยงต่างๆ เช่น ความเสี่ยงด้านเครดิต หลักประกัน ความคุ้มครอง อัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ ก่อนการลงทุน