“Green To Gray” แนวทางฟื้นฟูชายฝั่ง

 “Green To Gray” แนวทางฟื้นฟูชายฝั่ง

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของไทยไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแนวชายหาดที่ถอยร่นเท่านั้น

แต่ยังกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งที่ต้องอาศัยหาดรูปแบบต่างๆ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหลบภัยของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น ปูลม ผักบุ้งทะเล ตลอดจนสัตว์ทะเลที่อาศัยบริเวณชายหาดที่ทอดยาวไปจนถึงแนวปะการัง และยังช่วยชะลอความแรงของคลื่นที่มีผลต่อการกัดเซาะชายฝั่งได้อีกด้วย

“Green To Gray” แนวทางฟื้นฟูชายฝั่ง

ในอดีตชายฝั่งทะเลประสบกับปัญหาการกัดเซาะ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว ทำให้ภาครัฐ เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง พยายามแก้ไขปัญหา กระทั่งปี 2553 ครม.มีมติเห็นชอบกรอบแผนบูรณาการงบประมาณการจัดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ปีงบประมาณ 2554-2559 แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่าในหลายกรณี ยิ่งแก้ ยิ่งกัดเซาะ ยิ่งทำให้ปัญหาขยายวงกว้าง เนื่องจากการทำงานมุ่งสร้างโครงสร้างแข็ง ซึ่่งไม่ใช่แนวทางป้องกันปัญหาที่ตามมาอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลักษณะดินตะกอนใต้น้ำ หนำซ้ำโครงสร้างที่ใช้แก้ไขปัญหาเกิดการชำรุด ทรุดตัว

ทั้งนี้ จากที่ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเล 3,151.13 ตารางกิโลเมตร(ไม่รวมชายฝั่งบนเกาะ) แต่พบว่า กัดเซาะชายฝั่งมีความน่าเป็นห่วง โดยข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2560 ชี้ว่า มีชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะไปแล้วกว่า 145.73 กิโลเมตร และที่อยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะถึง 558.71 กิโลเมตร ซึ่งบางส่วนก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข มีเพียง 1,723.81 กิโลเมตรที่ไม่มีปัญหาการกัดเซาะ ส่วนที่เหลืออีก 722.88 กิโลเมตร เป็นพื้นที่อื่นๆ เช่น พื้นที่ก่อสร้างรุกล้ำแนวชายฝั่ง หาดหิน หน้าผา และปากแม่น้ำ

เมื่อมองข้อมูลที่รวบรวมตั้งแต่ปี 2495 – 2560 แม้ปัญหาการกัดเซาะจลดลง โดยปี 2495 - 2551 มีชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะสูงถึง 830 กิโลเมตร ปี 2554 พื้นที่กัดเซาะลดลงเหลือ 696 กิโลเมตร และลดลงเหลือ 145 กิโลเมตร ในปี 2560 แต่กลับมองว่าสิ่งที่กำลังทำกันอยู่นี้ เป็นเพียงการชะลอปัญหาเท่านั้น เพราะวิธีการที่มุ่งเน้นการรักษาแนวชายฝั่ง แต่ไม่ใช่การรักษาระบบนิเวศชายฝั่ง ทำให้การแก้ปัญหาออกมาในรูปแบบของการทำโครงสร้าง เพื่อรักษาแนวชายฝั่งไม่ให้ถูกกัดเซาะมากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเวลาชายฝั่งถูกกัดเซาะจะทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งหายไป แต่การแก้ปัญหาของเรายังไม่ได้ระบบนิเวศหาดทรายกลับคืนมาด้วย ดังนั้น ตัวชี้วัดที่สำคัญของความสำเร็จในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่สำคัญ คือ การรักษาสถานภาพของระบบนิเวศชายหาดให้คงอยู่ ควบคู่กันไปพร้อม กับการรักษาชายหาด

จากกรณีดังกล่าว จึงนำมาสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อสำหรับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย ภายใต้โครงการารจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

1. ป้องกันที่สาเหตุการกัดเซาะชายฝั่ง : กิจกรรมชายฝั่ง ประกอบด้วย การประกาศเขตถอยร่น ( set back zone) ระงับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่ทำให้สมดุลตะกอนในบริเวณชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลง ปกป้อง ดูแล และรักษาระบบนิเวศที่เป็นแนวกันคลื่น เช่น ปะการัง ป่าชายเลน เป็นต้น 

2.แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยการปฏิบัติตามแนวทาง Green to Gray การตรวจสอบและซ่อมแซมโครงสร้างแข็งที่ชำรุดหรือทรุดโทรม และสำหรับโครงการแก้ไขปัญหาที่ไม่ต้องผ่าน IEE หรือ EIA หรือ EHIA รวมถึง Environmental check list นั้น จะต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบด้วยจากกรมทรัพากรทางทะเลและชายฝั่ง

3.จัดการปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของการกัดเซาะชายฝั่งในกรณีพื้นที่ตกน้ำ กำหนดให้ผู้ที่สูญเสียพื้นที่ที่มีเอกสิทธิ์ในที่ดินจำเป็นต้องแสดงสิทธิ์เพื่อครอบครองพื้นที่ สร้างมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ที่เดือดร้อน เช่น การจัดการที่อยู่อาศัยใหม่ในมาตรฐานเดียวกับพื้นที่เก่า และในกรณีพื้นที่ที่งอกใหม่ ต้องมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ใหม่ให้ชัดเจน มีการจัดทำกระบวนการที่มีส่วนร่วมเพื่อจัดการการใช้ประโยชน์ของพื้นที่

4.เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งประกอบด้วย การบูรณาการ ปรับปรุงและจัดทำระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ระบุดัชนีชี้วัดและตัวชี้วัดร่วมของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้ชัดเจนเพื่อสะท้อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูป และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการกำหนดเขตกิจกรรมการใช้ประโยชน์และการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล เป็นต้น

"ข้อสังเกตส่งท้าย เราตั้งโจทย์ถูกหรือเปล่า เรามุ่งที่จะแก้ปัญหการกัดเซาะ มุ่งไปที่การรักษาแนวชายฝั่ง หรือจริงๆ เราต้องการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะเพื่อให้ระบบนิเวศชายฝั่งของที่นั้นๆ กลับคืนมา ดังนั้นแนวคิดต่างๆ เป็นสิ่งที่เราต้องเลือกและหาแนวทางที่เหมาะสม

โดย.... 

ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย