หยุดสิ้นคิดหยุดติดอยู่ในวงจรอุบาทว์

หยุดสิ้นคิดหยุดติดอยู่ในวงจรอุบาทว์

สื่อหลายสำนักรายงานด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นเรื่องรัฐบาลจะแจกเงินให้ไปเที่ยวกันคนละ 1,500 บาท

ความตื่นเต้นจะเกิดขึ้นในตัวของผู้รายงานเองเพราะจะได้เงินไปเที่ยว หรือสะท้อนความตื่นเต้นของคนไทยโดยทั่วไปไม่เป็นที่ประจักษ์ ตามรายงาน โครงการแจกเงินหลักหมื่นล้านบาทครั้งนี้จะยังไม่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีจนใกล้ปลายเดือน ฉะนั้น ยังไม่สายเกินไปที่คณะรัฐมนตรีจะหยุดเสริมแนวคิดที่ทำให้เศรษฐกิจและสังคมไทยติดอยู่ในวงจรอุบาทว์ ซึ่งเริ่มเมื่อปี 2544

ย้อนไปในปีนั้น คนไทยโดยทั่วไปได้ยินคำว่า “ประชานิยม” เป็นครั้งแรก มาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นประชานิยมหรือไม่ยังถกเถียงกันอยู่ แต่เป็นที่แน่นอนว่ารัฐบาลมีมาตรการอันเกิดจากแรงจูงใจที่หวังจะได้ความนิยมโดยการแจกโดยทางตรงบ้าง หรือโดยทางอ้อมบ้างให้ประชาชน ผมเป็นหนึ่งในผู้หวังดีที่เตือนรัฐบาลตอนนั้นว่า การลอกเลียนแบบประชานิยมในอาร์เจนตินาจะทำให้เมืองไทยล้มลุกคลุกคลานในวันข้างหน้าในแนวอาร์เจนตินาด้วย คำเตือนออกมาในรูปต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือซึ่งปรับขยายมาเป็นเรื่อง “ประชานิยม ทางสู่ความหายนะ (ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ www.bannareader.com และฟังได้จาก YouTube)

เป็นที่ประจักษ์ว่ารัฐบาลนั้นและรัฐบาลต่อๆ มาไม่ฟังคำเตือนของใคร นโยบายประชานิยมในรูปแบบต่าง ๆ จึงยังถูกใช้อย่างต่อเนื่อง หนังสือเรื่อง “สู่จุดจบ!” ซึ่งพิมพ์เมื่อต้นปี 2549 มีคำโปรยบนปกหน้าว่า “เราเก่งกว่าเขาหรือว่าเราไม่ได้อ่านประวัติศาสตร์” หนังสือเล่มนี้ถูกห้ามวางขายโดยมือที่มองไม่เห็นซึ่งหลายคนมองว่าน่าจะเป็นน้ำมือของผู้สนับสนุนรัฐบาล อย่างไรก็ดี เมื่อต้นปีนายกรัฐมนตรีแนะนำให้คนไทยหามาอ่าน (ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์เดียวกันและฟังได้จาก YouTube) ผู้ได้ทำตามคำแนะนำนั้นและอ่าน “สู่จุดจบ!” จนเข้าใจน่าจะสรุปได้ว่า การแจกเงินเพื่อให้ไปเที่ยวคนละ 1,500 บาทนั้นขัดกันโดยสิ้นเชิงกับจุดยืนของหนังสือ

คงจำกันได้ว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในแนวเดียวกันเกิดขึ้นหลังรัฐบาลจากการเลือกตั้งปี 2544 เข้าบริหารประเทศ เช่น การให้ข้าราชการยืมเงินไปเที่ยวได้คนละ 10,000 บาท นอกจากนั้น ยังมีมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนกู้เงินจากสารพัดแหล่งบนฐานของการคิดด้านเศรษฐกิจที่มองได้ว่าสิ้นคิดมากอีกด้วย นั่นคือ รัฐบาลประชาสัมพันธ์ว่า การมีหนี้แสดงถึงความมีฐานะมั่งคั่ง

จากวันนั้นถึงวันนี้ คงทราบกันดีว่าหนี้สินครัวเรือนของคนไทยเพิ่มขึ้นจนแทบขยับตัวไม่ได้ ครูจำนวนมากซึ่งมีความรู้สูงกว่าประชาชนทั่วไปเป็นหนี้กันถึงขั้นวิกฤติ รีสอร์ทจำนวนมากหากทำการวิจัยแบบถูกหลักวิชาน่าจะพบว่า ถ้าไม่มีภาครัฐไปจัดประชุมสัมมนาซึ่งมีค่าเท่ากับพาข้าราชการไปเที่ยวไม่น่าจะอยู่รอด อาคารจำนวนมากที่ภาครัฐจัดสร้างขึ้นเพื่อแสดงและขายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) มักกลายเป็นสถานที่นั่งตบยุง สะพานไม้ไผ่ที่รัฐสนับสนุนให้สร้างยื่นเข้าไปในทุ่งนาเริ่มผุพังอยู่กลางทุ่ง

มองได้ไหมว่าความสูญเปล่าเหล่านี้เกิดจากความคิดของรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจคนเดียวกันจากยุคนั้นถึงยุคนี้?

อย่างไรก็ดี เรื่องมิได้จบแค่นั้น การกระตุ้นให้ใช้จ่ายอย่างเมามันทั้งจากเงินที่ภาครัฐแจกและจากหนี้มีส่วนทำให้สภาพความเหลื่อมล้ำร้ายแรงยิ่งขึ้นเพราะเงินส่วนใหญ่วิ่งไปเข้าร้านเพียงไม่กี่ชนิดใช่หรือไม่? หนี้นำไปสู่การสูญเสียที่ดินของเกษตรกรจนส่งผลให้การถือครองที่ดินไปกระจุกอยู่ที่เศรษฐีเพิ่มขึ้นใช่หรือไม่? เมื่อไร้ที่ดิน การทำมาหากินของเกษตรกรยากลำบากขึ้นส่งผลให้มีคนจนรอรับเงินแจกจากภาครัฐเพิ่มขึ้นใช่หรือไม่?

แม้การแจกเงินคนละ 1,500 บาทดังกล่าวจะเกิดขึ้น ภาคการท่องเที่ยวมีโอกาสทรุดสูงมากเนื่องจากสงครามการค้าและการก่อการร้ายมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ฉะนั้น หัวหน้ารัฐบาลที่มักอ้างศาสตร์พระราชาจะต้องเร่งหาทางออกจากวงจรอุบาทว์อันเกิดจากแนวคิดของนักการตลาดจำพวกแจกปลาแล้วรีบหันมาปฏิบัติตามศาสตร์นั้นซึ่งเน้นการปูทางให้ประชาชนเกิดปัญญาเพื่อหาจับปลามากินเอง ขอยืนยันอีกครั้งอย่างมั่นใจเต็มร้อยว่า ศาสตร์พระราชาจะพาออกจากวงจรอุบาทว์ของนักการตลาดและนำชาติไทยไปสู่ความยั่งยืนอย่างแน่นอน