ทางเลือกของจีนในวันที่ปัญหาถาโถมเข้าใส่

ทางเลือกของจีนในวันที่ปัญหาถาโถมเข้าใส่

จีนกำลังเผชิญกับปัญหาน่าปวดหัวพร้อมกัน 2 เรื่องในเวลาเดียวกัน

 เรื่องแรกได้แก่เรื่องที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์หันกลับมาประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนล่าสุดอีกรอบในอัตรา 10% โดยครอบคลุมสินค้านำเข้าจากจีนกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ และเรื่องที่สองคือ เรื่องเหตุการณ์ประท้วงที่ฮ่องกงซึ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตามที่เป็นข่าวไปทั่วโลกในขณะนี้

เรื่องแรกคือ เรื่องสงครามการค้านั้น ดูเหมือนว่าจีนจะได้ตอบโต้สหรัฐกลับไปเกือบจะทันทีด้วยการปล่อยให้ค่าเงินหยวนปรับตัวลดลงไปต่ำกว่าระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี จนทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมากล่าวหาจีนว่าพยายามบิดเบือนค่าเงิน (currency manipulation) ซึ่งบางคนก็เริ่มเกรงว่าอาจเป็นสาเหตุนำไปสู่การเกิดสงครามค่าเงินได้หรือไม่ สำหรับประเด็นนี้ ผู้เขียนกลับเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะเหตุผลดังต่อไปนี้

ประการแรก เราจะเห็นได้ว่า ค่าเงินหยวนที่ลดลงล่าสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่คิดเป็น 1.46% เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น มีผลไปชดเชยกับผลกระทบทางลบที่เกิดจากการเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 10% เพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งก็เป็นกลไกปกติของระบบเศรษฐกิจ เพราะการที่สหรัฐประกาศเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าโดยไม่ได้มีการปรับเพิ่มการออมโดยรวมในประเทศแต่อย่างไรนั้น ก็จะไม่สามารถลดขนาดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (current-account deficit) ของสหรัฐได้ เพราะตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ขนาดของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้นจะเท่ากับความแตกต่างระหว่างระดับการลงทุนโดยรวมและระดับการออมโดยรวมของสหรัฐเองเสมอ ดังนั้นการที่สหรัฐได้ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนโดยที่ระดับการออมโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะไม่สามารถลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐได้ แต่กลับจะมีผลทำให้ค่าเงินของจีนปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตามกลไกปกติของระบบเศรษฐกิจนั่นเอง

ประการที่สองก็คือ จีนเองก็ตระหนักดีว่าการทำสงครามค่าเงินนั้นกลับจะส่งผลเสียต่อจีนในระยะยาวเนื่องจากว่า (ก) จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จีนจะต้องเผชิญกับปัญหาการไหลออกของเงินทุนจำนวนมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจในจีนได้ (ข) การลดค่าเงินหยวนบ่อยๆ จะทำให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียต้องเดือดร้อนไปด้วย เท่ากับผลักไสให้ประเทศเหล่านี้ต้องไปพึ่งพาสหรัฐในที่สุด และ (ค) จีนได้เลือกเดินนโยบายเศรษฐกิจในระยะยาวที่มุ่งจะขยายความสำคัญและสัดส่วนของเศรษฐกิจภาคบริการให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อแทนที่สัดส่วนของภาคเศรษฐกิจการผลิตที่เน้นการใช้แรงงานราคาถูกหรือที่ก่อให้เกิดมลภาวะ และรวมถึงการลดสัดส่วนของภาคเศรษฐกิจการเกษตรให้ลดน้อยลงด้วย การทำสงครามค่าเงินจึงไม่เป็นผลดีกับจีนมากนัก เพราะจีนไม่ต้องการจะพึ่งพาเพียงภาคการผลิตที่เน้นส่งออกสินค้าราคาถูกจำนวนมากเหมือนในอดีต

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้กล่าวไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า การสู้ศึกสงครามการค้าในครั้งนี้ก็เหมือนกับการเดินทัพทางไกลครั้งใหม่ที่ต้องอาศัยความอดทน จึงตีความได้ว่า ไม่น่าจะใช่เรื่องที่จะรับมือกันได้ง่ายๆ ด้วยการลดค่าเงินหยวนเท่านั้น แต่จีนจะต้องเร่งยกระดับความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีให้เจริญก้าวหน้าให้มากกว่าสหรัฐ สงครามการค้าได้บีบให้จีนต้องพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมไฮเทคให้ทิ้งห่างสหรัฐให้มากขึ้น

สำหรับเรื่องที่สองคือปัญหาการประท้วงที่บานปลายในฮ่องกง ซึ่งทำให้จีนตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีทางเลือกไม่มากนักในการจัดการกับปัญหานี้ หลายฝ่ายเริ่มคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่า จีนอาจจะใช้วิธีการจัดการปัญหาแบบเดียวกับกรณีเหตุการณ์ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ พ.ศ.2532 ที่การประท้วงจบลงด้วยการปราบปรามแบบนองเลือด

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิเคราะห์อีกไม่น้อยที่เชื่อว่า เหตุการณ์การประท้วงในฮ่องกงครั้งนี้จะแตกต่างจากกรณีของการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เพราะหากจีนส่งกำลังทหารเข้าไปปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงที่ฮ่องกง ก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้การปกครองแบบ “ 1 ประเทศ 2 ระบบ (one country, two systems)” ต้องสิ้นสุดลง ซึ่งย่อมจะกระทบต่อฐานะความเป็นศูนย์กลางทางการเงิน และศูนย์กลางธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ที่สำคัญของฮ่องกงในภูมิภาคนี้ และจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ทำธุรกิจอยู่ในฮ่องกงด้วย ดังนั้น แม้ว่าจีนจะสามารถใช้กองกำลังทหารปราบปรามผู้ประท้วงจำนวนมากได้สำเร็จก็ตาม แต่สิ่งที่จะแตกต่างกับกรณีการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินก็คือว่า ครั้งนี้ ชัยชนะของจีนอาจต้องแลกด้วยความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลและการสูญเสียโอกาสที่จีนจะใช้ฮ่องกงเป็นประตูในการดึงดูดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ด้วย

ในทางกลับกัน ทางเลือกของจีนในการปล่อยให้กลุ่มผู้ประท้วงที่ฮ่องกงกลายเป็นฝ่ายชนะในที่สุดนั้น ก็อาจจะไม่เป็นผลดีในทางการเมืองต่อตัวผู้นำของจีนเอง เพราะมันจะสั่นคลอนฐานอำนาจและความน่าเชื่อถือของตนในหมู่สมาชิกคนสำคัญของพรรคฯ ที่อาจไม่เห็นด้วยกับทางเลือกนี้ก็ได้เช่นกัน

ดังนั้น การตัดสินใจของผู้นำจีนในเรื่องนี้ จึงนับเป็นการตัดสินใจที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ไม่น้อยไปกว่ากรณีเหตุการณ์ประท้วงในอดีตที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

ผู้เขียนก็ได้แต่ภาวนาว่า จีนจะเลือกใช้ทางออกที่ดีและถูกต้องในการแก้ปัญหาการประท้วงที่ฮ่องกง เหมือนเช่นที่จีนได้เลือกทางออกที่เหมาะสมและรอบคอบเพื่อรับมือกับสงครามการค้าอยู่ในเวลานี้