Currency War 2019 เมื่อสหรัฐอยากให้ดอลลาร์อ่อน

Currency War 2019 เมื่อสหรัฐอยากให้ดอลลาร์อ่อน

ถ้าให้เลือกว่าอะไรคือสิ่งที่ไม่คาดฝันที่สุดในตลาดเงินปีนี้ เชื่อว่าคงหนีไม่พ้นการที่สหรัฐฯ “กลับลำ”

ส่งสัญญาณว่าจะแทรกแซงเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าเสียเอง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง ตลาดก็จะเข้าสู่สงครามค่าเงินเต็มรูปแบบ

ผู้ที่อยู่ในโลกการเงินอย่างเราจึงต้องรู้ให้ทัน ว่าอะไรคือเหตุผลของสหรัฐฯ? การแทรงแซงโดยตรงจะส่งผลอย่างไร? ไปจนถึงความเสี่ยงและโอกาสในตลาดการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้

เรื่องแรก ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่าทุกประเทศมีสิทธ์ที่จะแทรงแซงค่าเงินตนเองเมื่อมีเหตุจำเป็น และครั้งนี้สหรัฐฯอาจต้องใช้ค่าเงินช่วยบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้า

ด้วยกำแพงภาษีล่าสุด หลายสถาบันวิเคราะห์ว่าความเสียหายโดยตรงกับทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯและจีน จะเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 0.7-1.0% ต่อจีดีพี การที่เศรษฐกิจของทั้งคู่จะหลบความเสี่ยงนี้ในเชิงการค้า ทั้งหยวนและดอลลาร์ต้องอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ

แต่ในปัจจุบัน ดูจะมีแต่ธนาคารกลางจีนที่สามารถเข้ามาปรับสมดุลเงินหยวนได้  ส่วนฝั่งสหรัฐฯ นักลงทุนส่วนใหญ่กลับวิ่งเข้าถือดอลลาร์เมื่อตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งกว่าที่ควรเป็น ดังนั้น ถ้าเราไม่ต้องการเห็นเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวผิดปรกติ การแทรกแซงค่าเงินโดยตรง ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่เกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ นโยบายการเงินสหรัฐฯมีอยู่จำกัด ถ้าไม่ต้องการให้เศรษฐกิจเผชิญกับภาวะถดถอยนาน การเตรียมการแทรกแซงดอลลาร์ไว้ก็เป็นอีกหนึ่งทางออก 

เหตุผลนี้สืบเนื่องจากสงครามการค้า ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ จึงถูกกดดันหนัก เมื่อทุกอย่างไม่มีทีท่าที่จะดีขึ้น นักธุรกิจก็จะเริ่มกังวล การลงทุนก็จะชะลอตัว และกลับมาถือเงินสด พอดอลลาร์แข็ง ความกังวลก็จะเกิดขึ้นอีก ถ้าอนาคตสหรัฐฯยังวงอยู่ในวัฏจักรนี้ เศรษฐกิจที่ขยายตัวเพียง 2.1% ในปัจจุบัน ก็อาจจบที่ภาวะถดถอยเร็วขึ้น

ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปัจจุบันมีเพียง 2.25% น้อยกว่า 5.0% ที่เป็นค่าเฉลี่ยที่เฟดเคยใช้ในการดึงเศรษฐกิจออกจากภาวะถดถอยในอดีต ดังนั้น ถ้าสหรัฐฯไม่ยอมจบสงครามการค้า และไม่อยากให้เศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นเร็วและนานกว่าปรกติ การแก้สมการเศรษฐกิจ ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนจึงดูจะเป็นทางเดียวที่เหลืออยู่

แน่นอน คำถามที่หลายคนสงสัยคือจะทำสำเร็จหรือไม่?”

ถ้าย้อนดูในอดีต การแทรกแซงตลาดเงินโดยตรง จะเกิดขึ้นและได้รับการยอมรับจากนานาชาติในสามกรณีคือมีเหตุผิดปกติ หรือความผันผวนสูงผิดปกติ หรืออัตราแลกเปลี่ยนผิดจากอดีต

ตัวอย่างของ “เหตุการณ์ผิดปกติ” เช่นช่วงมีนาคม 2011 เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิญี่ปุ่น นำไปสู่การแข็งค่าของเงินเยน 5-6% เพราะตลาดญี่ปุ่นปิดรับความเสี่ยงหนัก ในครั้งนั้นทางการสหรัฐฯและญี่ปุ่น ช่วยกันแทรกแซงค่าเงินอย่างรวดเร็วส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่ากลับไปที่เดิมได้

เปรียบเทียบกับครั้งนี้ สิ่งผิดปรกติอาจหมายถึงสงครามการค้าเพราะกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ต้องถามว่าจะมีประเทศไหนที่พร้อมช่วยแทรกแซงค่าเงินตัวเองเพื่อช่วยสหรัฐฯหรือไม่

แบบที่สอง คือการแทรกแซงเมื่อ “ความผันผวนปรับตัวสูงขึ้นผิดปกติ

ตัวอย่างใกล้ที่สุดคือช่วงปลายวิกฤติดอทคอมเดือนกันยายนปี 2000 ความผันผวนของเงินดอลลาร์ต่อยูโร พุ่งขึ้นจากระดับ 5% ไปเป็น 10% ส่งผลให้ยูโรอ่อนค่าจากระดับ 1.20 ไปที่ระดับ 0.95 ดอลลาร์ต่อยูโร

ครั้งนั้น ธนาคารกลางยุโรปและสหรัฐฯร่วมมือกันดึงค่าเงินยูโรให้แข็งค่ากลับไปที่เดิมได้ อย่างไรก็ดี กรณีนี้อาจใช้เทียบเคียงกับปัจจุบันได้ยาก เพราะความผันผวนของดอลลาร์ไม่ได้สูงผิดปกติ ถ้าสหรัฐฯดึงดันแทรกแซงค่าเงิน ก็อาจถูกแรงต้านจากนานาประเทศทันที

แบบสุดท้ายคือแทรกแซงเพราะ “อัตราแลกเปลี่ยนผิดจากอดีตมากเกินไป” ถ้าเทียบกับปัจจุบัน กรณีนี้ดูจะใกล้เคียงที่สุด

ตัวอย่างเช่นในช่วงปี 1994-1995 สหรัฐฯขายมาร์คเยอรมันและเยนญี่ปุ่นทิ้งราว 13-14 พันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยหนุนดอลลาร์ ทางการทั้งสองประเทศก็ตอบรับด้วยการช่วยแทรกแซงจนค่าเงินดอลลาร์กลับทิศมาแข็งค่าได้ 30-50% ในปีถัดมา ปัญหาก็คือการแทรกแซงลักษณะนี้ มักสำเร็จเมื่อได้รับการสนับสนุนจากคู่ค้า และผลที่ได้เป็นบวกกับทั้งสองเศรษฐกิจ ในครั้งนี้ก็ต้องถามอีกครั้งว่าประเทศไหนที่พร้อมจะทำลายการส่งออกของตัวเองเพื่อช่วยสหรัฐฯ

ถึงตรงนี้ ทุกคนคงเห็นถึงความจำเป็นของการแทรกแซงค่าเงินในมุมมองของทรัมป์ และประเด็นที่สามารถทำให้เรื่องนี้กลายเป็นความจริงได้

สิ่งที่เราต้องรู้ทันต่อมา คือสกุลเงินไหนที่จะกลายเป็นเป้าหมาย และประเทศเจ้าของเงินนั้นจะตอบโต้อย่างไร ซึ่งผมมองว่า “สามสกุลเงิน” ที่เข้าข่ายอาจถูกแทรกแซงคือ ยูโร เยน และหยวน

ในบทความหน้า ผมจะมาวิเคราะห์กันต่อว่า ทำไมต้องเป็นสามสกุลเงินนี้ ขณะที่รัฐบาล และธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะสู้กับสหรัฐฯในสงครามค่าเงินนี้ได้อย่างไร รวมไปถึงประเทศไทย และนักลงทุนอย่างเราจะได้รับผลกระทบแบบไหน

เพราะดูท่าว่าเราอาจหนีสงครามค่าเงินในรอบนี้ไม่พ้นเสียแล้ว