แก้ปัญหาเรื่อง “คน” ไม่ยาก ถ้า"กล้าและลงมือทำ!”

แก้ปัญหาเรื่อง “คน” ไม่ยาก ถ้า"กล้าและลงมือทำ!”

Part 1. “ที่หน่วยงาน หรือ ที่บริษัท มีปัญหาเรื่อง คน หรือเปล่าครับ!?”

ปัญหาเรื่องคน ในที่นี้หมายถึงทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ลงมาจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการที่เป็นปัญหาทุกเรื่องของทุกหน่วยงานในบริษัท

เช่น มีทัศนคติที่เป็นลบกับงาน กับสินค้า กับหัวหน้า หรือกับลูกค้า / ทักษะไม่เพียงพอกับตำแหน่งหน้าที่ /ไม่ยอมรับหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง /เรื่อยเฉื่อย ไม่มีความกระตือรือร้น /ขาดวินัย ขาดความรับผิดชอบ /ไม่มีการพัฒนาและไม่ชอบการเรียนรู้ /ติดโซเชียล เน็ตเวิร์คจนทำให้ทำงานไม่เต็มที่ ฯลฯ

ถ้าถูกถามคำถามนี้ คำตอบของท่านจะเป็นแบบไหนครับ!? คงหายากที่จะตอบว่า ที่หน่วยงาน

หรือที่องค์กร ไม่มีปัญหาเรื่องคนเลย ทุกอย่างเลิศเลอ เพอร์เฟ็ก!

คำตอบของบางท่าน อาจจะตอบว่า มีปัญหาเรื่องคนบ้าง แก้ไขได้บ้าง แก้ไขไม่ได้บ้าง! แต่คำตอบของหลายๆท่านส่วนมาก อาจจะตอบว่า มีปัญหาเรื่องคนพอสมควร และแก้ไขไม่ค่อยได้!

Part 2.

“แล้วที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องคน ทำไมแก้แล้วไม่ค่อยได้ผล!?” ถ้าจะแก้เรื่องคน คงไม่สามารถแก้ด้วยการฝึกอบรมแบบเป็นครั้งคราวอย่างที่ทำกัน (เพราะถ้ามันได้ผล ก็คงได้ผลกันไปแล้ว จริงมั๊ยครับ!?)

ถ้าจะแก้ให้ได้ผล ต้อง “แก้และป้องกัน” ไปด้วย เพื่อให้ปัญหาเรื่องคน มีน้อยที่สุดในอนาคต เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีปัญหาเรื่องคนเลย แต่ถ้ามีต้องแก้ให้เป็นและมีวิธีป้องกันในระยะยาวครับ

ลองนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ดูนะครับ...

Part 3.

ขั้นแรก...ต้องแยกแยะ “คน” ในหน่วยงานนั้น (ถ้าจะเน้นแก้เฉพาะหน่วยงาน) หรือ คนในองค์กร (ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องคนทั้งองค์กร) ออกมาให้ชัดเจนครับ ว่ามีกี่กลุ่ม?

กลุ่มที่สร้างปัญหา.. กลุ่มนี้ถ้าสร้างปัญหาอย่างร้ายแรงเช่นทุจริต หรือทัศนคติลบซ้ำซากไม่ยอมเปลี่ยนแปลงและยังชักนำคนอื่นๆ ให้มีทัศนคติลบไปด้วย หรือสร้างปัญหาซ้ำซากกับลูกค้าแบบไม่แคร์อะไร “อย่าเก็บกลุ่มนี้ให้สร้างปัญหาต่อไปเป็นอันขาด!”

แต่ปัญหาคือ.. บรรดาหัวหน้าทีมไปจนถึงผู้บริหาร มักจะกล้ำกลืนฝืนทน เก็บเอาไว้.. เพื่ออะไรครับ!?

ส่วน กลุ่มที่สร้างภาระ..กลุ่มนี้อาจไม่ถึงกับสร้างปัญหา แต่สร้างภาระให้กับหน่วยงาน ส่วนมากเป็นกลุ่มคนที่อยู่มานาน แต่ไม่มีการพัฒนา ไม่ชอบเรียนรู้ นับวันยิ่งเป็นภาระขององค์กร ขึ้นอยู่กับผู้นำองค์กรว่าจะมองกลุ่มนี้ยังไง? เห็นว่าอยู่มานานก็ไม่อยากไปทำอะไรกับกลุ่มนี้ ส่วนมากจึงปล่อยให้กลุ่มนี้สร้างภาระต่อไป..

ถ้ากล้าคิด กล้าตัดสินใจ ต้องคุยกับกลุ่มนี้ให้ชัดให้เข้าใจตรงกันว่า การอยู่มานานถ้าไม่พัฒนาก็ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง! จะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆวิธีคิดใหม่ๆเพื่อไม่ให้เป็นภาระของหน่วยงานและองค์กร หรือจะลดวันทำงานลดรายได้ของกลุ่มนี้ไปจนถึงจากกันด้วยดีแต่เพียงเท่านี้ ให้กลุ่มนี้เลือกเอา!

กลุ่มที่สร้างปัญหาและกลุ่มที่สร้างภาระ ถ้า2กลุ่มนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่มีการพัฒนา จะเป็นกลุ่มที่ฉุดรั้งหน่วยงานหรือองค์กรไปสู่ความหายนะ... จะเก็บหรือจะแก้หรือจะตัด.... ต้องรีบทำครับ!

Part 4.

กลุ่มที่ไม่สร้างอะไรชัดเจน... อาจเป็นกลุ่มที่ทัศนคติพอใช้แต่ขาดการเรียนรู้ ไม่มีใครเป็น Coach ให้ ควรให้โอกาสกลุ่มนี้ พัฒนาดีๆ จะกลายเป็นกลุ่มที่ช่วยสร้างผลงานหรือรายได้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมให้กับองค์กรได้

ปัญหาของกลุ่มนี้ ส่วนมากเกิดจาก หัวหน้าหรือผู้จัดการ ไม่ได้เป็น Coach ให้กับกลุ่มนี้ครับ!

ส่วนกลุ่มที่สร้างผลงาน...ให้กับหน่วยงานและองค์กร ไม่ต้องคิดมาก ดูแลรักษาและต่อยอดกลุ่มนี้ให้ดีที่สุด เพราะเป็น ชนกลุ่มน้อย ที่มีคุณค่าที่สุดของหน่วยงานและองค์กร!

Part 5.

เมื่อแยกแยะแต่ละกลุ่มได้ชัดเจน การคุยและการ Coaching แต่ละกลุ่ม คือขั้นตอนต่อไปที่ต้องทำ แล้วจะพบว่า แต่ละกลุ่มควรจะให้โอกาส จะพัฒนาอย่างไร กลุ่มไหนถึงที่สุดแล้วต้องตัดทิ้งอย่าลังเล! กลุ่มไหนที่ควรให้โอกาส? กลุ่มไหนที่ควรต่อยอด?

หลังจากนั้น หัวหน้าทีมหรือผู้จัดการ ก็ต้องติดตามผลและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อ Feedback ให้แต่ละกลุ่มรับรู้และให้ผู้บริหารรับทราบ เพื่อที่จะหาข้อสรุปว่า กลุ่มที่ให้โอกาสแล้ว ดีขึ้นมากหรือน้อย? และยังมีกลุ่มที่จำเป็นต้องตัดทิ้งอีกหรือไม่?

(เชื่อมั๊ยครับ...หลังจากตัดทิ้งกลุ่มที่สร้างปัญหาและกลุ่มที่สร้างภาระบางส่วนที่ไม่ยอมพัฒนา ท่านจะมีงบเหลือจากกลุ่มที่ตัดทิ้ง นำมาสร้างแรงจูงใจให้กับกลุ่มพัฒนาได้และกลุ่มที่สร้างผลงาน โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมเลย!?

พูดง่ายๆ ก็คือ เงินที่จ่ายเป็นเงินเดือนและค่าใช้จ่ายทุกอย่างให้กับกลุ่มที่ถูกตัดทิ้ง เป็นการใช้จ่ายที่ไร้ค่า แต่จะมีคุณค่ามากกว่าถ้ามาจ่ายให้กับกลุ่มที่ควรได้รับ!?)

Part 6.

ในท้ายที่สุด องค์กรหรือหน่วยงานของท่าน จะเหลือแต่ “กลุ่มคนที่มีคุณภาพสูง” กับ “กลุ่มคนที่มีคุณภาพใช้ได้” เพียง 2 กลุ่ม ภายในเวลากี่เดือน ขึ้นอยู่กับจำนวนพนักงานที่มีและวิธีการที่จะใช้ “คัดกรองและพัฒนา” ในแต่ละกลุ่ม..

คงเป็นหน้าที่ของผู้นำและผู้บริหารระดับสูงต้องตัดสินใจแล้วว่า จะให้องค์กรเป็นที่รวมของกลุ่มที่สร้างปัญหา กลุ่มที่สร้างภาระ กลุ่มที่ไม่สร้างอะไรชัดเจน กลุ่มที่สร้างผลงาน

หรือให้องค์กร เป็นองค์กรที่มีแค่2กลุ่มคือ “กลุ่มคนที่มีคุณภาพสูง” กับ “กลุ่มคนที่มีคุณภาพใช้ได้”!