อนาคตมหาวิทยาลัยในยุคระบบวิจัยและนวัตกรรมใหม่

อนาคตมหาวิทยาลัยในยุคระบบวิจัยและนวัตกรรมใหม่

มหาวิทยาลัยในอนาคตนอกจากจะต้องตอบโจทย์งานแห่งอนาคตและการสร้างหลักสูตรที่เหมาะสมกับนักศึกษายุคใหม่และการเรียนรู้ตลอดชีวิตแล้ว

อีกประเด็นที่สำคัญของมหาวิทยาลัยคือการตอบโจทย์การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม

ระบบวิจัยและนวัตกรรมทั้งไทยและในต่างประเทศอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่ ผู้เขียนมีโอกาสได้ศึกษาพัฒนาการของระบบวิจัยและนวัตกรรมชั้นนำ เช่น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส จีน และสิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย ภายใต้โครงการวิจัยการจัดตั้งเครือข่ายหน่วยงานให้ทุนวิจัยของทุกภาคส่วนของประเทศ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งปัจจุบันปรับโครงสร้างเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

การศึกษาพบว่าระบบวิจัยและนวัตกรรมในต่างประเทศมีพัฒนาการและความเป็นมาที่แตกต่างหลากหลาย โดยแต่ละประเทศล้วนมีการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับบริบทและสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ของประเทศมาโดยตลอด ทำให้แต่ละประเทศมีระบบที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง

สำหรับประเทศไทย ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมครั้งสำคัญเกิดขึ้น และมีการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม ปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดสรรทุนแบบเป็นก้อนและหลายปีต่อเนื่อง มีการปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้สามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีทิศทางการให้ทุนวิจัยเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนและชุมชนมากยิ่งขึ้น

ทิศทางหลักของการพัฒนาของระบบวิจัยและนวัตกรรมของไทยสอดคล้องไปกับแนวโน้มใหญ่ของการพัฒนาในต่างประเทศ คือ การมุ่งเน้นส่งเสริมการวิจัยที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศเป็นสำคัญ ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ตลอดจนการมุ่งเน้นทำให้ระบบและกลไกการให้ทุนวิจัยมีความหลากหลาย เรียบง่ายและยืดหยุ่น

ทั้งนี้ ประเทศชั้นนำด้านวิจัยและนวัตกรรมล้วนตั้งเป้าในการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาให้อยู่ในระดับ 2-4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในขณะที่สัดส่วนดังกล่าวของไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ประมาณ 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยประเทศพัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนของการลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนที่สูงกว่าภาครัฐ เช่นเดียวกับทิศทางของประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ยังตั้งเป้าในการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและเพิ่มอันดับที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาระดับโลก

สำหรับแนวโน้มหลักของการให้การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมในต่างประเทศจะเน้นการสนับสนุนการวิจัยที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีการให้ทุนวิจัยทางวิชาการสำหรับศาสตร์ด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และศิลปศาสตร์ โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ หลายประเทศเน้นวาระการวิจัยที่อยู่ในลักษณะสหสาขาวิชาหรือการเอาโจทย์ที่สำคัญของประเทศเป็นตัวตั้งเพิ่มขึ้น เช่น สหราชอาณาจักร กำหนดวาระการวิจัยในลักษณะสหสาขาวิชา ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงาน ความมั่นคงด้านอาหารโลก การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ เทคโนโลยีเพื่อชีวิต และความร่วมมือในการใช้ชีวิตในเมือง หรือ สิงคโปร์ เน้นวาระการวิจัยเชิงบูรณาการ ได้แก่ การผลิตและวิศวกรรมขั้นสูง วิทยาศาสตร์สุขภาพและชีวการแพทย์ การแก้ปัญหาเมืองและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริการและเศรษฐกิจดิจิทัล การวิจัยเชิงวิชาการ การพัฒนากำลังคน และนวัตกรรมและวิสาหกิจ

นอกจากนี้ ในต่างประเทศมีการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่เป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่เพื่อตอบโจทย์ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น โปรแกรมการให้เงินทุนวิจัยโครงการสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน โปรแกรม SIP (Cross-ministerial Strategic Innovation Promotion Program) ของประเทศญี่ปุ่น กองทุนมุ่งเป้าสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของสหราชอาณาจักร เพื่อแก้ไขปัญหางานวิจัยที่มีลักษณะเบี้ยหัวแตก และส่งเสริมการขับเคลื่อนงานวิจัยขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศ

ทิศทางดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทยที่จะมีการกำหนดวาระการวิจัยแบบบูรณาการและเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น เพื่อจะใช้งานวิจัยในการตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศทั้งในด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน การลดความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเชิงพื้นที่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในต่างประเทศมีการจัดสรรทุนวิจัยในรูปแบบต่างๆ ที่น่าสนใจและหลากหลายมากขึ้น เช่น โปรแกรมการจัดสรรทุนที่ให้กับสตาร์ทอัพและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นพิเศษ เช่น กองทุนชี้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีของประเทศจีน และโปรแกรม EXIST ของประเทศเยอรมนี มีกองทุนการให้ทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่ เช่น กองทุนสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ของสหราชอาณาจักร โปรแกรมนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเยอรมนี

ในด้านกระบวนการให้ทุนวิจัยในต่างประเทศมีทิศทางที่พยายามปรับกระบวนการจัดสรรทุนให้ง่ายมากขึ้น ทั้งการลดกฎระเบียบและการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อบริการจุดเดียวที่มีข้อมูลและกระบวนการพร้อมสำหรับการยื่นข้อเสนอทุน การพิจารณาและดูผลการอนุมัติ เช่น แพลตฟอร์มการวิจัยในเยอรมนี (Research in Germany) แพลตฟอร์มการให้ทุนของสหรัฐอเมริกา (Grant.gov) แพลตฟอร์มบริการแห่งชาติของประเทศจีน ระบบการบริหารจัดการจัดสรรทุนแบบบูรณาการของสิงคโปร์ (IGMS) ระบบการบริหารจัดการวิจัยและพัฒนาข้ามกระทรวงของญี่ปุ่น (e-Rad) ซึ่งในกรณีของไทย หน่วยงานให้ทุนก็ได้พยายามปรับกระบวนการให้ทุนมีความง่ายและสะดวกมากขึ้น พยายามพัฒนาระบบผ่านทางออนไลน์ที่สมบูรณ์โดยแก้ไขข้อติดขัดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งระบบน่าจะมีความสะดวกต่อนักวิจัยมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ดังนั้น เมื่อระบบวิจัยและนวัตกรรมทั้งในระดับโลกและประเทศไทยกำลังปรับตัวและปฏิรูปสู่ทิศทางใหม่ มหาวิทยาลัยไทยในอนาคตจึงต้องศึกษาเรียนรู้และเร่งปรับตัวให้เข้ากับทิศทางการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมใหม่นี้อย่างเร่งด่วนและจริงจัง 

โดย... 

ธราธร รัตนนฤมิตรศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation