มามองอนาคตแบบไม่ไสยศาสตร์

มามองอนาคตแบบไม่ไสยศาสตร์

คนส่วนใหญ่อยากรู้อนาคตเพราะมนุษย์กลัวความลำบากและต่างแอบหวังว่าชีวิตในอนาคตจะดีกว่าวันนี้

หรือหากมีเหตุเภทภัยก็อยากจะรู้ล่วงหน้า เพื่อที่จะได้บรรเทาปัญหาเสียแต่เนิ่นๆ นี่คือสาเหตุที่ทำให้หมอดูเป็นอาชีพที่ยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน ในระดับประเทศเราสนใจอนาคตเพื่อสามารถที่จะวางแผน เพื่อยกระดับสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มียุทธศาสตร์ไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจนและมีแนวทางบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับภาคเอกขน บริษัทเชลล์ประสบความสำเร็จจากการมองอนาคตที่บริษัทอื่นๆ คาดไม่ถึงว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญที่จะมีผลต่อการครอบครองการผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง

ปัจจุบันนี้เรามีเครื่องมือมองอนาคตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อนาคตศาสตร์ได้เป็นการศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะสายวิชาที่จะต้องวางแผนอนาคต เช่น สายผังเมืองหรือสายการศึกษา ถึงแม้ว่าอนาคตศึกษาในลักษณะสาขาวิชาจะเป็นเรื่องที่ไม่เก่าแก่เท่าสาขาวิชาอื่นๆ แต่กลุ่มแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาอนาคตมีมานานแล้ว รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนงานคนเมือง 4.0 ของแผนงานคนไทย 4.0 ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องอนาคตศึกษาคนหนึ่งของประเทศไทย ได้เขียนไว้ในรายงานปริทัศน์สถานภาพความรู้ด้านอนาคตศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ไว้ว่า มีกลุ่มแนวคิดประมาณ 5 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มแนวคิดเชิงศาสนา ซึ่งเราจะเห็นว่าในศาสนาต่างๆ เช่น ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ซึ่งระบุว่าอนาคตและโชคชะตาของมนุษย์กำหนดโดยพระเจ้า ทำให้กรอบแนวคิดนี้ขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งใช้หลักเหตุผลมากกว่าความเชื่อและเห็นว่าอนาคตของมนุษย์เกิดจากเหตุผลและการกระทำของมนุษย์เอง เช่นเดียวกับศาสนาพุทธที่เชื่อกันว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม อย่างไรก็ดีภายใต้ความคิดแนวศาสนาหลักนี้ มนุษย์ไม่ได้มีทางเลือกสำหรับอนาคตมากนักเนื่องจากพระเจ้าเป็นผู้กำหนด

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มแนวคิดเชิงอุดมคติ คือ กลุ่มยูโทเปีย ซึ่งเน้นภาพที่พึงประสงค์ หรือสังคมที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคตซึ่งเป็นภาพอุดมการณ์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแนวคิดที่ผู้นำเผด็จการที่มีความมุ่งหมายที่ปรับเปลี่ยนสังคม พยายามใช้อ้างอิงเพื่อจัดระเบียบสังคมตามกรอบคิดที่ชัดเจนและเข้มงวด

กลุ่มที่สาม ได้แก่ กลุ่มประวัติศาสตร์นิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับการถอดเหตุการณ์ในอดีตเพื่อให้เห็นเงื่อนไขเฉพาะบริบท แต่ในขณะเดียวกันก็จะวิเคราะห์จังหวะ รูปแบบ กฎ หรือแนวโน้มที่ทำให้สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงอนาคตตามกฎเกณฑ์ด้านแนวโน้มที่เกิดมาก่อนหน้านั้น ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า ปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย นักวิชาการในกลุ่มนี้ จึงสนใจที่จะวิเคราะห์เหตุการณ์และปัจจัยการเปลี่ยนแปลงในอดีต เพื่อหากฎเกณฑ์ของการเปลี่ยนแปลงที่สามารถนำไปใช้ในการคาดการณ์อนาคต แล้วนำเสนอฉากทัศน์ของภาพอนาคตที่มีโอกาสเกิดขึ้น

แต่กลุ่มแนวคิดที่แปลกใหม่อย่างสนุกสนานที่สุดเป็นกลุ่มนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งดูจะไม่ใช่นักวิชาการ และเป็นกลุ่มที่ใช้จินตนาการมากที่สุดเกี่ยวกับการมองอนาคต ซึ่งไอน์สไตน์เองก็ยังเคยยอมรับว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะความรู้มีจำกัด…และจินตนาการ เป็นที่มาของวิวัฒนาการ” แต่กลุ่มนี้ก็ยังต้องมีพื้นฐานและหลักการวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องและเข้มแข็ง นักเขียนสำคัญคนแรกๆ ในกลุ่มนี้ได้แก่ จูลส์ เวิร์น ซึ่งเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการผจญภัยใต้ทะเลลึกและการเดินทางในเรื่อง “80 วันรอบโลก” ตั้งแต่ก่อนที่จะมีบอลลูน เรือดำน้ำ นวนิยายเหล่านี้ยังให้แนวคิดเกี่ยวกับทางเลือกอนาคตที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ รวมทั้งผลกระทบทั้งด้านดีและด้านร้ายของการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งจินตนาเกี่ยวกับอนาคตได้กลายเป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับนิยายวิทยาศาสตร์ และสร้างรายได้อันมหาศาลให้แก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในปัจจุบัน แม้แต่ละครไทยก็ได้สนใจอนาคตอันยาวไกลเหมือนกัน แต่เนื่องจากวิทยาศาสตร์และทุนไม่ถึงก็ยังวนเวียนอยู่กับการข้ามภพข้ามชาติเสียมากกว่า

 กลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มซึ่งในปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นฐานของอนาคตศึกษาที่ใช้แนวคิดเชิงระบบ ซึ่งใช้ลักษณะสำคัญ คือ คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบกับองค์รวม และการเปลี่ยนแปลงจากกรอบความคิดเชิงโครงสร้างไปเป็นเชิงกระบวนการ ความคิดนี้แต่เริ่มแรกนั้นได้รับอิทธิพลโดยตรงจากทฤษฎีวิทยาศาสตร์แนวปฏิฐานนิยม (Positivism) และวิธีวิจัยแบบประจักษ์นิยม (Empiricism) ซึ่งเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งธรรมชาติของมนุษย์สามารถย่อส่วนมาเป็นกลไก และทำนายพยากรณ์ได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรซึ่งเป็นที่มาของการทำในอนาคตที่เป็นหนึ่งเดียว และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยในเวลาต่อมา

การอนาคตศึกษาในยุคแรกๆ นั้นเป็นที่สนใจของฝ่ายทหารมาก (ซึ่งอธิบายได้ว่าทำไมผู้นำประเทศไทยจึงสนใจอนาคตศึกษา) ในสหรัฐ แรนด์คอร์ปอเรชั่น ได้ประยุกต์อนาคตศึกษาให้เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนด้านทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามเย็น ทำให้อนาคตศึกษาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ต่อมามีนักวิชาการจากยุโรปได้เน้นการศึกษาอนาคตระดับโลกที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางและเน้นสันติภาพมากกว่าการทหาร หลังจากสงครามเย็นได้สิ้นสุดลง อนาคตศึกษาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น รวมทั้งการศึกษาเชิงประยุกต์ที่มุ่งไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งในระดับโลก ทั้งในประเด็นการเปลี่ยนแปลงอากาศ ระดับประเทศ และระดับเทคโนโลยี ส่วนในด้านรูปแบบวิธีการ หลังจากสงครามเวียดนามซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการรณรงค์ต่อต้านสงครามแล้ว ยังจุดประกายการเรียกร้องสิทธิพลเมืองของกลุ่มต่างๆ ทำให้อนาคตศึกษาในระยะต่อมามีการนำเอากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการมองอนาคตแบบจากล่างขึ้นบนด้วย

สำหรับประเทศไทยในรอบสามทศวรรษที่ผ่านมาได้มีความสนใจเกี่ยวกับ การมองอนาคตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีการมองอนาคตและยุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปี แต่ลักษณะของการมองอนาคตที่เราใช้อยู่เป็นเพียงแต่อนาคตอันที่เป็นหนึ่งเดียว คือ อนาคตที่อยากจะเป็น และไม่ได้มีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่นอกเหนือจากผู้ใกล้ชิดทางการเมืองมากนัก แผนงานคนไทย 4.0 จึงมุ่งที่จะเติมเต็มส่วนที่ขาดคือในเบื้องต้นให้มองถึงทางเลือกอนาคตที่เป็นไปได้ มาติดตามผลงานเกี่ยวกับอนาคตของเราในคอลัมน์นี้และในเว็บไซต์คนไทย 4.0 (http://www.khonthai4-0.net/)