ค้าปลีกออนไลน์เปลี่ยนชีวิต แก้จนให้ชนบทด้วยอีคอมเมิร์ซ

ค้าปลีกออนไลน์เปลี่ยนชีวิต แก้จนให้ชนบทด้วยอีคอมเมิร์ซ

อีคอมเมิร์ซอย่างเดียวไม่ได้ ต้องผสมผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์

จีนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำหรือแก้ปัญหาความยากจนได้ดีที่สุดในโลก โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือการ “กระตุ้นช่องทางค้าปลีกออนไลน์” ให้เข้าถึงผู้บริโภคโดยเฉพาะในชนบทมากขึ้น มาลองดูกันว่า ประเทศจีนใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซหรือการค้าปลีกทำอะไรบ้าง จึงสามารถแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจีนให้ดีขึ้นได้

ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น มีบทความวิเคราะห์ด้านการตลาดของจีนจากศาสตราจารย์ หลิน อี้ฟู ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจัยผู้ที่มีส่วนสำคัญในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลเมื่อทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างชนบทจีนยุคใหม่ โดยการกระตุ้นทางเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่นตามแนวทางสังคมนิยมใหม่ของจีน

โครงการดังกล่าวทำให้ชนบทของจีนหลายแห่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมากขึ้น โครงการถูกวางไว้ตั้งแต่ปี 2549 แล้วไปสิ้นสุดในปี 2563 โดยรัฐบาลจีนได้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาและยกระดับให้กับระบบสาธารณูปโภคในชนบทของจีนให้เพิ่มมากกว่า 4 ล้านล้านหยวน หรือเท่ากับประมาณปีละ 270,000 ล้านหยวนต่อปี โดยมีการโยกงบประมาณที่เคยพัฒนาในเขตเมืองให้เข้าสู่ชนบทมากขึ้น เพื่อให้อนาคตจะได้กระตุ้นให้แรงงานมีการกระจายตัวจากเขตเมืองกลับไปสู่ชนบทได้

ใช้โมเดลหมู่บ้านเสี่ยวกังในอดีตมาประยุกต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีการประยุกต์มาตั้งแต่สมัยที่รัฐบาลจีนได้เปิดประเทศเมื่อ 40 ปีก่อน ในสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งเวลานั้นหมู่บ้านเสี่ยวกังได้กลาเป็นหมู่บ้านแห่งแรกของจีนที่ใช้แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจที่สวนทางกับแนวทางของระบอบสังคมนิยม 

โดยให้ครัวเรือนแต่ละแห่งได้บริหารจัดการผลกำไรขาดทุนในครัวเรือนด้วยตนเอง โมเดลนี้ช่วยให้หมู่บ้านที่ยากจนสามารถบริหารจัดการรายได้และสร้างผลผลิตได้ดีกว่าหมู่บ้านอื่น ซึ่งรัฐบาลจีนก็เห็นดีด้วยกับแนวทางนี้จนกระทั่งต่อมาแนวทางนี้เรียกว่าเป็น ประชาธิปไตยในหมู่บ้าน และมีส่วนกระตุ้นให้แต่ละครัวเรือนมีความรู้สึกว่าพวกเขาคือเจ้าของกิจการและสินทรัพย์ โดยไม่ได้ยึดติดกับระบบคอมมูนที่เคยล้มเหลวมาก่อน

รัฐบาลจีนสนับสนุนและส่งเสริมเสี่ยวกังโมเดลให้กระจายตัวไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตชนบท เพื่อหาทางสนับสนุนให้หมู่บ้านในชนบทหลายแห่งได้มีแรงขับดันในการผลิตเพิ่มขึ้น และเพื่อยกระดับให้กับชนบทมากขึ้นยังได้มีการระดมเงินทุนและแรงงานจากภาคเกษตรกรในชนบทสำหรับการสร้างกิจการของตนเอง

รวมถึงสนับสนุนและช่วยเหลือในส่วนอื่นๆ เช่นด้านการเงินและเทคโนโลยีตามแต่สมควร ซึ่งอีคอมเมิร์ซก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ได้รับการส่งเสริมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจ อีคอมเมิร์ซถูกนำไปใช้กับผู้ผลิตและกิจการรายย่อยในชนบท เนื่องจากรัฐบาลจีนมองว่า การจะเข้าถึงผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกรายย่อย แล้วให้กระจายสินค้าออกไปยังส่วนต่างๆ ได้นั้น รัฐบาลส่วนกลางของจีนไม่สามารถออกเงินทุนได้อยู่ฝ่ายเดียว ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นเองก็ถือว่าเป็นภาระที่หนักเกินไป

ดังนั้นจึงนำมาซึ่งการใช้แนวทางเศรษฐศาสตร์ที่มีแนวคิดง่ายๆ ว่า ผู้ได้ประโยชน์ก็ต้องเป็นฝ่ายลงทุน แล้วจึงค่อยรับส่วนแบ่ง ซึ่งแนวทางนี้ทำให้รัฐบาลจีนกู้เงินยืมจากธนาคารและระดมทุนจากภาคเอกชนที่ทำให้พวกบริษัทเอกชนในจีนเองก็ได้ประโยชน์ด้วย

นอกจากนี้ นำอีคอมเมิร์ซที่มีหัวเรือหลักอย่างอาลีบาบา ให้เข้าถึงผู้ค้ารายย่อย มีการส่งเสริมและอบรมเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรและผู้ผลิตท้องถิ่นในจีนมีความร่ำรวยมากขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างโมเดลตัวอย่างที่ทำให้คนหนุ่มสาวในเมืองใหญ่ รวมถึงนักศึกษาจีนในต่างแดนได้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ในเมืองจีนยังมีโอกาสรออยู่ ขณะเดียวกันทำให้คนในเมืองได้กลับไปสนับสนุนในบ้านเกิดโดยอาศัยพลังท้องถิ่นนิยมของคนจีนในแต่ละมณฑลเองเข้าช่วยด้วย

ผสมผสานออนไลน์และออฟไลน์ แน่นอนว่า อีคอมเมิร์ซเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถกระตุ้นตลาดได้ การใช้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าผสมผสานกันจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ตัวอย่างเช่น ธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กเริ่มให้ความสำคัญกับบริการจัดส่งแบบเดลิเวอรรี่ ผสานกับการสั่งอาหารด้วยมือถือ มีระบบอีเพย์เมนท์รองรับ ผลปรากฏว่าช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับร้านขนาดย่อมได้มากกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2560