ไลฟ์สไตล์ Gen Alpha สะท้อนอนาคต

ไลฟ์สไตล์ Gen Alpha สะท้อนอนาคต

การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้เด็กรุ่นนี้เห็นภาพการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เขาคุ้นเคยกับการสั่งอาหารผ่าน Food Delivery และการชำระเงินผ่านมือถือ

ในยุคกำเนิดเทคโนโลยีใหม่ การเรียนรู้ระหว่าง Gen Alpha กับ Gen Y ต่างกันมาก สะท้อนถึงอนาคตทั้งด้านไลฟ์สไตล์ ทักษะ และอาชีพ ที่จะแตกต่างจากปัจจุบัน ซึ่งในบทความนี้ได้กล่าวถึงพฤติกรรมต่างๆ ระหว่างวัย 

ผมมีลูกชายสองคนมีวัยที่แตกต่างกัน คนโตอยู่ในวัยเริ่มทำงานจัดเป็น Gen Y ซึ่งเติบโตในช่วงที่เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเริ่มเข้ามา นั่นคือ Facebook หรือ iPad เข้ามาช่วงที่เขาเรียนมัธยมศึกษา ขณะนั้นการติดอินเทอร์เน็ตภายในบ้านก็ยังเป็นเรื่องใหม่ ส่วนลูกชายคนเล็กเพิ่งเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาอยู่ใน Gen Alpha เกิดมาในยุคดิจิทัล อยู่ในโลกของอินเทอร์เน็ต เข้าใจเรื่อง Line, Facebook, NetFlix หรือการใช้ Tablet ตั้งแต่เล็ก

ครั้นไปพบคุณย่า ซึ่งทีวีที่บ้านท่านเป็นช่องเคเบิ้ล ลูกชายคนโตได้เปิดรายการทีวีปกติให้น้องชายดู แต่บังเอิญว่าภาพยนต์ที่เปิดมานั้นกำลังจะจบ ผมจึงได้รับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างวัยที่เติบโตมาต่างยุคกันจากบทสนทนา ดังนี้

Gen Alpha : “ทำไมหนังจบแล้วละ ขอเริ่มดูแต่ต้นใหม่”

Gen Y : “อันนี้มันช่องทีวีปกติดูย้อนหลังไม่ได้”

Gen Alpha : “ อ้าวไหงเป็นอย่างนี้ละ งั้นขอดูหนังเรื่องใหม่ เมื่อไหร่มา”

Gen Y : “ต้องรอซักครู่ รอดูโฆษณาให้รายการต่อไปมาก่อน นี่ไม่ใช่ NetFlix”

Gen Alpha : “งั้นขอเลือกหนังจะดูต่อเลยนะ”

Gen Y : “เลือกไม่ได้ ไม่ใช่ NetFlix ไม่ใช่ YouTube”

จากบทสนทนานี้ ผมเชื่อว่าลูกชายวัย Gen Alpha คงจะยังงงว่าทำไมทีวีจึงเลือกดูไม่ได้ ดูย้อนหลังก็ไม่ได้ เพราะเขาคุ้นเคยกับการดูทีวีตามความต้องการของเขา (TV On Demand) จะเลือกดูเวลาใด รายการใดก็ได้ ดูจากอุปกรณ์ใดก็ได้ ทั้งจากทีวี มือถือ หรือ Tablet นั่นหมายความว่าเด็กรุ่นใหม่มีความคิดที่แตกต่างไปจากเดิมมากจึงไม่แปลกใจว่าเหตุใดอุตสาหกรรมต่างๆ จึงถูกปั่นป่วนจากการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล

เด็กในวัยนี้เกิดมาในยุคที่บ้านยกเลิกการรับหนังสือพิมพ์เป็นฉบับกระดาษ แต่อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์รูปแบบดิจิทัลไฟล์ จึงไม่แปลกใจที่เขาไม่รู้จักหนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษ ครั้งหนึ่ง เขาหยิบกรอบรูปที่บ้านคุณย่ามาดูพร้อมกับใช้นิ้วชี้เลื่อนด้วยความคาดหวังว่าจะได้ดูรูปถัดไป ซึ่งเขาแปลกใจว่าทำไมจึงเลื่อนไม่ได้

เด็กใน Gen Alpha เติบโตขึ้นพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะไม่รู้จักเทป แผ่นซีดี เครื่องคิดเลข เครื่องพิมพ์ดีด และอุปกรณ์รุ่นเก่าทั้งหลาย แม้แต่การใช้เมาส์ก็อาจไม่คุ้นเคยเพราะมักจะใช้นิ้วมือลากไปยังอุปกรณ์ต่างๆ และสั่งงานด้วยเสียงแทนการใช้คีย์บอร์ด ซึ่งล่าสุดเขาเริ่มเรียนรู้การใช้ Home Assistant สั่งงานด้วยเสียงเป็นภาษาไทย

การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้เด็กรุ่นนี้เห็นภาพการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เขาคุ้นเคยกับการสั่งอาหารผ่าน Food Delivery และการชำระเงินผ่านมือถือ

ผลการศึกษาล่าสุดโดยบริษัทเลโก้ที่ได้ทำแบบสำรวจอาชีพในฝันของเด็กวัย Gen Alpha ในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และจีน จำนวนราว 3,000 คน พบว่าอาชีพในฝันของเด็กช่วงชั้นประถมที่สมัยก่อนเรามักได้ยิน 5 คำตอบยอดนิยมคือ หมอ, ครู, ตำรวจ, ทหาร, และวิศวกร ได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะ 1 ใน 3 มีความฝันว่าโตขึ้นอยากเป็น Vlogger ซึ่งเป็นคำสั้นของ Video Blogger ที่จะรวมถึง Youtuber, Video blogger, Snapchat, Twitch และ Tiktok ฯลฯ ในขณะที่ 11% อยากเป็นนักบินอวกาศ แต่อย่างไรก็ดี หากแยกนับเฉพาะเด็กชาวจีนกลับพบว่า กว่าครึ่งมีความฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ

การมาของเทคโนโลยีใหม่โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพและการทำงานในอนาคตอย่างมาก และเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยากว่าอนาคตจะมีอาชีพอะไรบ้าง ทักษะของเด็กที่จำเป็นในอนาคตจะแตกต่างจากปัจจุบันไปอย่างมาก ดังนั้นการสอนเด็กเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจึงจำเป็นต้องให้เขาพร้อมที่จะปรับตัวได้ มีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆไปได้ตลอดชีวิต

ประเทศฟินแลนด์เป็นแบบอย่างที่ดีในความพยายามที่จะพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในห้องเรียน เด็กสามารถที่จะใช้มือถือส่วนตัวได้ในเวลาเรียน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ว่ามือถือของตนเป็นได้มากกว่าเครื่องมือที่ใช้แชทกับเพื่อนเวลาว่างเท่านั้น นอกจากนี้ยังเปลี่ยนรูปแบบหลักสูตรสิ่งที่เรียนใหม่ โดยใช้หลัก Phenomenon base-learning (PBL) เป็นการเรียนการสอนให้เด็กรู้ถึงทักษะที่จำเป็นในยุคสมัยปัจจุบัน อาทิ การแยกแยะข่าวจริง/เท็จ โดยมีหลักสำคัญคือให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะคิด เรียนรู้ที่จะเข้าใจ โดยสร้างการสอนให้สนุกสนาน พร้อมๆ กับเตรียมเด็กให้พร้อมเผชิญโลกในปัจจุบัน

ถึงเวลาแล้วที่เราอาจต้องเริ่มคิดปฎิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจัง โดยการนำวิธีคิดของเด็ก Gen Alpha และมองอาชีพในอนาคตที่ยังไม่มีความแน่นอนเป็นที่ตั้ง แล้วออกแบบการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กเหล่านี้พร้อมจะปรับตัวเข้าสู่อนาคตที่ดีขึ้น

 

 

 

.