รัฐที่ล่มสลายในยุค 4.0

รัฐที่ล่มสลายในยุค 4.0

“รัฐ” ถือเป็นสถาบันที่เป็นหัวใจของการเมืองการปกครองในสังคมสมัยใหม่

การดำรงอยู่ของรัฐเป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนและเสถียรภาพของสังคม อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันก็มีความเสี่ยงที่รัฐบางรัฐจะกลายเป็น รัฐที่ล้มเหลว (Failed State)” ได้เช่นกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความล่มสลายของระบบกฎหมายและการสูญเสียความสงบเรียบร้อยในรัฐนั้น ประเด็นเรื่องผลกระทบทางการเมืองและกฎหมายของการเป็นรัฐที่ล้มเหลวจึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่ผู้เขียนอยากหยิบยกมาแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้อ่านในที่นี้

จากมุมมองทางกฎหมายอาจกล่าวได้ว่า “รัฐที่ล้มเหลว” คือสภาวะที่รัฐไม่สามารถรักษาศักยภาพในการบังคับใช้กฎหมายเอาไว้ได้เลย กล่าวคือไม่มีหน่วยงานใดที่ประชาชนไว้วางใจมอบอำนาจให้ทำงานในลักษณะที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายท่ามกลางความระส่ำระสายของโครงสร้างภายในประเทศ ณ ขณะนั้น เช่น การบังคับใช้กฎหมาย สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การจัดการกับการทุจริตในระบอบการปกครอง รวมถึงการแทรกซึมของกลุ่มผู้ติดอาวุธและใช้ความรุนแรง

ผลของความล้มเหลวของรัฐจึงอาจสร้างความเสียหายแก่ประเทศของตนได้อย่างต่อเนื่องและสะสมเป็นปัญหาในระดับโลก วิธีที่กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศใช้เพื่อประคองรัฐที่ล้มเหลวให้ฟื้นตัวได้คือการสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งและการจัดโครงสร้างการบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพในระยะยาว โดยหลีกเลี่ยงสถานการณ์ซึ่งส่งผลให้สหประชาชาติจะต้องถอนสถานะความเป็นรัฐ แม้ว่ากระบวนการดังกล่าวอาจต้องการเวลาและการสนับสนุนที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่ายก็ตาม

เมื่อกล่าวถึงรัฐที่ล่มสลายหรืออยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นรัฐที่ล้มเหลวในยุคปัจจุบันหรือสังคม 4.0 สภาพการเมือง กฎหมายและเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่ท้าทายการพัฒนาและความสมบูรณ์ของรัฐนั้น ๆ อย่างปฏิเสธไม่ได้ กล่าวคือ แม้แต่ในประเทศซึ่งการเมืองการปกครองและการบริหารประเทศอยู่ในภาวะปกติ ประชาชนยังไม่อาจมั่นใจได้เลยว่ากฎหมายจะมีผลใช้บังคับอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง หรือเพียงตอบสนองต่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีองค์กรผู้สรรสร้างกฎหมายในหลากหลายระดับตั้งแต่องค์กรสากล องค์กรระดับภูมิภาค มาจนถึงองค์กรระดับท้องถิ่น ผลิตผลขององค์กรเหล่านี้ที่ออกมาในรูปของกฎหมายอาจถูกตีความให้แตกต่างจากบริบทที่ควรจะเป็น

สำหรับรัฐซึ่งถูกแทรกแซงและเข้าสู่สภาวะล้มเหลวจะยังคงรักษาดุลยภาพแห่งกฎหมายซึ่งส่งผลกระทบต่อระบอบการเมือง การปกครอง สภาพเศรษฐกิจในสังคม 4.0 ที่โลกหมุนเร็วเช่นนี้ไว้ได้หรือไม่ หรืออาจต้องละทิ้งให้กฎหมายในรัฐที่ล้มเหลวเป็นเพียงแค่ตัวอักษรบนกระดาษซึ่งไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สภาวะที่ดีขึ้นได้อีกต่อไป ในทางตรงกันข้าม รัฐซึ่งถูกแทรกแซงและเข้าสู่สภาวะล้มเหลวอาจต้องอาศัยการหยิบยื่นความช่วยเหลือจากภายนอกโดยอาศัยกฎหมายที่ถูกกำหนดโดยผู้อื่น การแทรกแซงของรัฐบาลจากภายนอก หรือการบริหารประเทศจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวโดยคาดหวังให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดียิ่งขึ้น

หากประวัติศาสตร์ซ้ำรอยมาที่ประเทศไทย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเริ่มเข้าสู่สถานการณ์ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อภาวะล้มเหลวทางการบริหารประเทศอยู่พอสมควรจนอาจกลายเป็นรัฐล้มเหลวได้ในที่สุด ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วกับความไร้อำนาจในการบังคับใช้เครื่องมือทางกฎหมายและวิกฤตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรป เหตุที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากประสิทธิภาพในการบรรเทาความเดือดร้อนของปากท้องประชาชนโดยใช้กฎหมายหรือกฎระเบียบ อำนาจในมือของรัฐเข้าไปแก้ไขปัญหา สะท้อนความเป็นจริงว่าปัจจุบันวิธีการดังกล่าวยังคงไม่เป็นผล

เมื่อเครื่องมือทางกฎหมายไม่ตอบสนองต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนส่วนมากในรัฐนั้นๆ เป็นเหตุให้ต้องมองย้อนมาที่โครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองการปกครองและการบริหารประเทศว่ายังตั้งอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและปราศจากการแทรกแซงจากภายนอกหรือไม่ เฉกเช่นการคัดสรรผู้ที่จะนำพารัฐนั้น ๆ ผ่านสภาวะการทุจริตคอร์รัปชั่นในการบริหารประเทศ ความแตกสลายของรัฐบาลและการฝ่าวิกฤตทางเศรษฐกิจไปให้ได้

จากกรณีศึกษามุมมองทางสังคมศาสตร์ไม่ว่าทั้งระดับภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ การสร้างรากฐานทางการปกครอง เครื่องมือทางกฎหมายและกลไกทางเศรษฐกิจที่ดีให้แก่รัฐถือเป็นสาระสำคัญซึ่งพยุงความตั้งอยู่ของรัฐดังกล่าวให้สามารถดำเนินต่อไปได้ในยุคปัจจุบันซึ่งแต่ละรัฐไม่สามารถจะล้มแล้วลุกได้อย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด อีกทั้งปลอดจากภาวะการคุกคามจากเนื้อร้ายอย่างอาชญากรรมข้ามชาติ ก่อการร้ายหรือยาเสพติด รวมถึงการเข้าแทรกแซงขององค์กรภายนอก ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับประเทศโซมาเลีย กรีซ หรือเวเนซุเอลา

ในความเห็นของผู้เขียน การจัดการคนเข้ามาบริหารประเทศอย่างมีคุณภาพจึงเป็นต้นทางของกลไกการสร้างรากฐานที่ดีต่อโครงสร้างพื้นฐานของรัฐดังกล่าว ที่สามารถเอื้อให้มีการบัญญัติกฎหมายออกมาบังคับใช้และนำข้อบังคับหรือกฎเกณฑ์ทางกฎหมายดังกล่าวมาเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

โดย... 

ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์