ช่องว่างทางเทคโนโลยี

ช่องว่างทางเทคโนโลยี

คนที่ตกงานเพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ข่าวคราวความเคลื่อนไหวในแวดวงไอทีทุกวันนี้ทำให้เห็นบทบาทและอิทธิพลของโลกดิจิทัลที่ขยับเข้ามาในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น Neuralink ซึ่งเป็นบริษัทที่

อีลอน มัสก์(Elon Musk) นักธุรกิจชื่อดังก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วโดยมีเป้าหมายคือการเชื่อมสมองของมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์เหมือนที่เราเห็นในภาพยนตร์

มาถึงวันนี้อีลอนเพิ่งประกาศความสำเร็จขั้นแรกในการรับสัญญาณประสาทจากสมองโดยตรงผ่านสายสื่อประสาท ซึ่งมีขนาดเล็กเพียง 4 ไมโครเมตรหรือเล็กกว่าเส้นผมของคนเราหลายสิบเท่า การรับสัญญาณจากสมองก็คือการอ่านความคิดความรู้สึกของเรา ซึ่งเบื้องต้นอีลอนตั้งเป้าจะใช้งานด้านการแพทย์โดยเฉพาะผู้ป่วยอัมพาต

การเชื่อมสัญญาณประสาทของมนุษย์เข้ากับพิวเตอร์ก็คือการอ่านความต้องการของผู้คนซึ่งคอมพิวเตอร์สามารถตอบสนองความต้องการได้โดยไม่ต้องสั่งการใดๆ ไม่ต้องพิมพ์คำสั่ง ไม่ต้องคลิ้กปุ่มต่างๆ ไม่ต้องพูดเพื่อสั่งการ เพียงแค่คิดก็มีคอมพิวเตอร์จัดการทุกอย่างให้ได้แล้ว

สิ่งที่อีลอนนำเสนอด้วยความตื่นเต้นไม่ต่างอะไรจากภาพยนตร์หรือนิยายวิทยาศาสตร์ที่ฉายภาพผู้คนในอนาคตที่คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยงานทุกสิ่งทุกอย่างตลอดเวลาโดยไม่ต้องสั่งการใดๆ เพราะเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั้งหมดถูกเชื่อมโยงเข้ากับสมองมนุษย์โดยตรง

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงทั้งกับชีวิตส่วนตัวของผู้คนทั่วไป กับโลกธุรกิจ อุตสาหกรรมไปจนถึงระดับประเทศ เพราะการอ่านใจคนทั่วไปได้ ย่อมทำให้หลายอาชีพหมดความสำคัญไปโดยทันที การเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์กับสมองจะทำให้ตัวกลางที่เคยมีบทบาท เช่นเลขานุการ ล่าม นายหน้า ฯลฯ หมดความสำคัญลงเพราะใช้คอมพิวเตอร์จัดการเรื่องเหล่านี้ได้เร็วกว่ามาก

คนที่ตกงานเพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงทวีคูณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่น่ากังวลก็คือเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้จะเอื้อให้คนที่มีฐานะมีโอกาสยิ่งรวยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถใช้เงินทุนที่มีต่อยอดสร้างผลกำไรใหม่ๆ โดยการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้มากขึ้น ส่วนคนที่ด้อยโอกาสก็จะยิ่งจนลงเรื่อยๆ ช่องว่างระหว่างคนสองกลุ่มนี้ก็จะยิ่งห่างไกลกันไปทุกที

ผมเชื่อว่าในอนาคตกลุ่มมหาเศรษฐีซึ่งมีจำนวนคิดเป็น 0.1% ของประชากรทั้งหมดมีโอกาสครอบครองสินทรัพย์ถึง 90% จากเดิมที่ครอบครองทรัพย์สินราวๆ 66% ของโลก หากแนวโน้มยังคงเป็นเช่นนี้ตลอดไป เพราะการเข้าถึงโอกาสจากโลกดิจิทัลที่เปิดกว้างขึ้นนั้นมีเพียงกลุ่มคนเหล่านี้เท่านั้นที่ได้อานิสงส์ไปอย่างเต็มที่

นั่นหมายความว่าในอนาคต ประชากรส่วนใหญ่ในสังคมจะมีโอกาสน้อยมากในการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ต่างๆ เพราะเกือบทั้งหมดถูกถือครองโดยกลุ่มคนรวยซึ่งมีเพียงไม่กี่คน โอกาสในการประสบความสำเร็จก็จะยิ่งน้อยลงไป เป้าหมายในการใช้ชีวิตก็ดูจะเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกิน

การประท้วงที่เกิดขึ้นในฮ่องกงและยืดเยื้อจนถึงทุกวันนี้ ก็อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงทุกวันนี้ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของแม้เพียงอพาร์ตเมนต์ขนาดเล็กในเมืองเพราะราคาแพงมาก

ราคาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงนั้นสูงติดอันดับต้นๆ ของโลกมาตลอดหลายปี และปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตลอดจนอพาร์ตเมนต์ขนาดเพียง 10 กว่าตารางเมตรมีราคาสูงถึงกว่า 12 ล้านบาท ซึ่งเกินกำลังของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานและยังมีรายได้ไม่มากนัก

คนฮ่องกงจำนวนมากหากไม่อยู่ในอพารต์เมนต์ขนาดเล็กราวๆ 10 ตารางเมตรก็ต้องอยู่รวมกันในบ้านเช่านับสิบคนเพื่อแบ่งกันรับภาระค่าเช่าบ้าน โดยไม่เกี่ยงว่าเป็นพนักงานที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ หรือผู้บริหารที่ทำงานมาหลายปีแล้วก็ตาม

คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ทำงานไปอย่างไรก็ยังมองไม่เห็นเป้าหมายว่าจะเป็นเจ้าของบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ได้เมื่อไร ปัญหาเหล่านี้ถูกบ่มเพาะมาหลายปี จนมีเรื่องกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจึงเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายจุดชนวนให้ชาวฮ่องกงออกมาชุนชุมประท้วงกันอย่างรุนแรงในขณะนี้