ระวังแท็บเล็ตจะหนักว่ากระเป๋า

ระวังแท็บเล็ตจะหนักว่ากระเป๋า

ปัญหากระเป๋านักเรียนที่หนักจนเด็กตัวเล็กต้องแบกกันหลังแอ่น ไม่ได้เกิดจากของขนาดกระเป๋า จำนวนหนังสือ หรือแรงดึงดูด

 รากเหง้าของความหนักเกิดจากความเบาในฐานคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้าง “นักเรียน” การเอาหนังสือยัดไปในแท็บเล็ตเป็นเพียงการแก้ปัญหาเชิงฟิสิกส์ไม่ให้แรงดึงดูดทำร้ายเด็กน้อย แต่ไม่ได้แก้ต้นตอของปัญหาซึ่งเป็นที่มาของเรื่องทั้งหมด

จุดเริ่มต้นของเรื่องเกิดจากความเชื่อว่าการสอนด้วยการสั่ง หรือ Instruction จะสร้างนักเรียนได้ แต่ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “นัก” คำนี้หมายถึงผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น นักบัญชี นักวิเคราะห์หุ้น นักกฎหมาย นักการเมือง นักร้อง นักแสดง นักรบ นักรัก ดังนั้น นักเรียนจึงหมายถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ ถ้าเข้าใจกันตามความหมายนี้ การสอนแบบที่เป็นอยู่อาจไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดในการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ก็เป็นได้

การสอนด้วยการสั่ง เหมาะกับการส่งข้อมูลข่าวสารที่ตาย ตัวตีความได้เพียงแบบเดียวไป ให้แก่ผู้รับสาร เช่น ความหมายของป้ายจราจร วีธีการติดเครื่องรถยนต์ วิธีการวัดระยะทาง การกดเครื่องคิดเลข เป็นต้น การวัดความสำเร็จของการสอนแบบนี้จึงประเมินจากความสามารถในการรับและจำข้อมูลที่ถูกส่งทอดมาให้ ความจำจึงเป็นไม้บรรทัดวัดความเก่ง

ข้อจำกัดของการสอนด้วยการสั่งคือ เวลาสั่งต้องสั่งทีละเรื่อง สั่งหลายเรื่องพร้อมกันไม่ได้ เดี๋ยวคนรับจะงง จำได้ไม่หมด ตำราที่ใช้ประกอบการสั่งเลยถูกแยกเป็นเรื่องเป็นวิชาตามไปด้วย ถ้าวันหนึ่งเด็กต้องได้รับการสั่ง 6 เรื่อง ก็ต้องมีหนังสืออย่างน้อย 6 เล่ม หากต้องทำแบบฝึกหัด หนังสือที่ต้องมีในวันนั้นอาจเพิ่มเป็น 12 เล่ม

การสั่งจะได้ผลดีหากเสริมด้วยหนังสือที่มีความละเอียด และถ้าให้ดี สิ่งที่สั่งต้องเหมือนกับเนื้อหาในหนังสือ เวลาเด็กกลับไปอ่านจะได้เข้าใจได้ ไม่เกิดความสับสนระหว่างสิ่งที่ได้รับการสั่งสอนมากับสิ่งที่อยู่ในหนังสือ ความละเอียดย่อมมาคู่กับความหนาของหนังสือ เมื่อเอาจำนวนหนังสือมาคูณกับความหนาของหนังสือ ผลลัพธ์คือภาระที่หนักอึ้งที่เด็กวัยเรียนต้องแบกรับ

การเปลี่ยนหนังสือเป็นเล่มให้กลายเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ในแท็บเล็ตช่วยลดน้ำหนักที่ต้องแบกให้เหลือแค่นิดเดียว แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนช่องทางการส่งผ่านข้อมูล หากยังใช้กรอบการสอนแบบสั่งเหมือนเดิม ความหนักใจของเด็กที่ยังต้องท่องจำ ต้องทำตามคำสั่ง หรือขาดการให้คำแนะนำที่เพียงพอ ก็ไม่ได้ลดลงไปแม้แต่น้อย

สิ่งที่น่ากังวลใจกว่านั้นก็คือ บางทีสิ่งที่เด็กบางคนต้องแบกรับจากการมีแท็บเล็ตอาจจะหนักกว่าการแบกกระเป๋าก็เป็นได้

แท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเปราะบาง ระหว่างการเดินทาง หรือการใช้งาน อาจจะเกิดความเสียหายได้ เมื่อเสียหายแล้ว ระหว่างที่ส่งซ่อม หรือรอเครื่องใหม่ จะเอาเครื่องสำรองที่ไหนมาใช้ ข้อมูลที่บันทึกไว้จะสูญหายหรือไม่ หากจะบันทึกข้อมูลไว้บนระบบคลาวด์แล้วดึงมาให้เครื่องไหนก็ได้ ระบบคลาวด์ต้องใหญ่มาก ระบบอินเตอร์เน็ตของโรงเรียนต้องดี ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ในตัวเมือง เรื่องนี้ไม่น่าห่วงนัก แต่ถ้าเป็นโรงเรียนเล็กในชนบท ซึ่งระบบอินเตอร์เน็ตยังไม่ดีหรือถึงขนาดใช้การไม่ได้ การเก็บสำรองข้อมูลอาจเป็นปัญหาได้

ถ้าไม่อนุญาตให้เอาแท็บเล็ตกลับบ้าน เด็กที่ขาดเรียนบ่อย หรือต้องรีบกลับบ้านเพื่อไปช่วยงานทางบ้าน จะมีเวลาใช้น้อยกว่า เมื่อเรียนไม่ทันแล้วไม่มีโอกาสได้ทบทวนหลายวันเข้า ย่อมมีโอกาสตามเพื่อนร่วมชั้นไม่ทัน ความเหลื่อมล้ำด้านการเรียนที่เกิดขึ้น ย่อมนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสในอนาคตได้ ทางแก้ก็คือ ต้องมีหนังสือหรือแท็บเล็ตไว้ที่บ้านอีกชุดหนึ่ง แบบนี้ต้นทุนการเรียนของเด็กย่อมเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้แล้ว การจะให้เด็กได้ประโยชน์จากแท็บเล็ตเต็มที่ ก็ต้องพัฒนาโปรแกรมการเรียนรู้ที่ดีพอ ไม่ใช่แค่ทำหนังสือเป็นอีบุ๊คส์เท่านั้น หากระบบการเรียนรู้ไม่เหมาะสม แท็บเล็ตก็ไม่ได้ช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้นกว่าเดิม ครูผู้สอนก็ต้องรู้ด้วยว่าควรสอนร่วมกับแท็บเล็ตอย่างไรถึงได้ผลดีที่สุดต่อเด็ก

แต่แม้จะแก้ปัญหาข้างต้นได้หมดทุกข้อ ปัญหาที่แท้จริงก็ยังคงอยู่ ยุค 4.0 เป็นที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ปัญญาประดิษฐ์กำลังจะทำงานบางเรื่องได้เก่งกว่าคน การสอนด้วยการสั่ง เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า เพราะความรู้จะเกิดขึ้นและล้าสมัยไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่สั่งสอนไป ถึงจำได้ทำข้อสอบได้ดี ก็ไม่ใช่หลักประกันว่าเด็กจะประสบความเสร็จในชีวิต สมการความสำเร็จในยุค 4.0 คือ การเข้าใจตนเอง มีทักษะในการเรียนรู้ สามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ และรู้จักใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างแต้มต่อในชีวิต แท็บเล็ตเป็นแค่ตัวแปรเล็ก ๆ ตัวหนึ่งในสมการความสำเร็จนี้เท่านั้น