โอกาสท่ามกลางวิกฤต ???

โอกาสท่ามกลางวิกฤต ???

การตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 12 ปี ของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจช่วยเติมเต็มความหวังแห่งแสงสว่างให้แก่นักลงทุนหลายคน

ท่ามกลางหมอกควันกลุ่มใหญ่ที่ยังคงปกคลุมภาพเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดการเงิน อาทิ ภัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะจีน แนวคิดแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลงของอังกฤษ (No-deal Brexit) รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เตรียมซ้ำเติมความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น การลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังจึงยังมีความท้าทายรออยู่ และควรทำความเข้าใจกับ 3 ประเด็น ดังนี้

หากมองภาพใหญ่ “เศรษฐกิจโลกไม่ได้หดตัว เพียงแต่ชะลอลง” นักพยากรณ์เศรษฐกิจจากสถาบันวิจัยชั้นนำทั่วโลกล้วนเห็นตรงกันว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ขยายวงกว้างขึ้นและยืดเยื้อนานกว่าหนึ่งปี เป็นปัจจัยฉุดสำคัญต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดกิจกรรมการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องและยังมองหาจุดต่ำสุดไม่เจอ ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หั่นตัวเลขคาดการณ์ GDP โลกเหลือ 3.2% ในปีนี้ (2561: 3.6%) ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการณ์เงินโลกปี 52 อย่างไรก็ดี IMF ยังคงประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวสูงขึ้นในปีหน้า แต่ภายใต้เงื่อนไขว่าปัจจัยเสี่ยงไม่เร่งตัวไปมากกว่านี้

ส่วนภาคธุรกิจที่เผชิญกับอุปสรรคทางการค้าและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามวัฏจักรเศรษฐกิจ “บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ไม่ได้ขาดทุน แต่อาจทำกำไรน้อยลง” ท่ามกลางความไม่แน่นอนของรายได้ นักธุรกิจย่อมต้องดิ้นรนเพื่อรักษาความอยู่รอดของกิจการ ซึ่งหากไม่สามารถหาช่องทางสร้างรายได้จากแหล่งใหม่หรือควบรวมกิจการได้ วิธีการลดต้นทุน เช่น ลดชั่วโมงทำงาน/ปลดคนงาน มักเป็นหนึ่งในทางเลือกอันดับต้น ๆ เสมอ โดยเฉพาะช่วงภาวะอุปสงค์ชะลอตัว หากพิจารณาข้อมูลตลาดแรงงานในประเทศอุตสาหกรรมหลัก รวมถึงไทย ตัวเลขการจ้างงานและอัตราการว่างงานอาจยังไม่พบสัญญาณว่าธุรกิจโดยภาพรวมเร่งลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานอย่างมีนัยยะ แต่ทว่าการเปิดเผยตัวเลขผลประกอบการที่แย่กว่าคาดในไตรมาส 2 จะทำให้นักวิเคราะห์ทางการเงินทยอยปรับลดคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนลง ซึ่งอาจสะท้อนโอกาสเกิดภาวะผลประกอบการถดถอย (Earnings recession) ที่มีสูงขึ้นก็เป็นไปได้

สำหรับประเด็นสุดท้าย เครื่องมือเชิงนโยบายของธนาคารกลางผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ควบคู่กับการเสริมสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สามารถช่วยประคับประคองภาคธุรกิจในสภาวะฝืดเคืองทางการเงินได้ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า “นโยบายการเงินไม่ได้ผ่อนคลายตลอดไป แต่แค่ชั่วคราว” เนื่องด้วยข้อจำกัดและผลข้างเคียงของการดำเนินนโยบาย ดังนั้น การใช้มาตรการทางการเงินอย่างเหมาะสมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงชะลอตัว จึงถือเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหลักทรัพย์ในตลาดเพียงระยะสั้น แต่หากธนาคารกลางจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยฯ ต่อเนื่อง ก็ขอให้ตั้งข้อสังเกตไว้เลยว่าวิกฤตจะแวะเวียนมาเยือนหรือเปล่า

กล่าวโดยสรุป คือ เรากำลังอยู่ ณ จุดที่นโยบายการเงินกลับมามีบทบาทต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ท่ามกลางการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก ซึ่งยังคงถูกบดบังด้วยปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างมาก ทำให้การตัดสินใจลงทุนจำเป็นต้องมีความระมัดระวังด้วยเช่นกัน การคัดเลือกหลักทรัพย์จึงควรเน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมีโครงสร้างรายได้แน่นอนและสม่ำเสมอ เช่น หุ้นในกลุ่ม SET50 ส่วนนักลงทุนที่ทนความผันผวนได้น้อยและพอใจกับอัตราผลตอบแทนต่ำ อาจเลือกลงทุนในตราสาหนี้ระยะกลาง แต่ส่วนตัวผมยึดการจัดพอร์ตแบบกระจายสินทรัพย์ คือ หุ้นในและต่างประเทศ 40% ตราสารหนี้ระยะสั้นถึงกลาง 50% และน้ำมัน 10% ซึ่งคาดหวังผลตอบแทนได้ ประมาณ 4-6% ต่อปี

ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน