อย่าเข้าใจ กขค.ผิด!

อย่าเข้าใจ กขค.ผิด!

กขค. หรือคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้รับการแต่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560

ซึ่งพัฒนามาจาก พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 โดยมุ่งเน้นให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัด การแข่งขันในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบ ทั้งในแง่การกระทำและโครงสร้างของตลาด ภายใต้ระบบนิเวศน์ของเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตย

ทั้งนี้เพราะโครงสร้างตลาดสินค้าและบริการในโลกความเป็นจริง มิใช่โครงสร้างของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competitive Market) ส่วนใหญ่ยังเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) และตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด หรือที่เรียกว่าตลาดผู้ขายมากราย (Monopolistic Competition) ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว สังคมใดที่มีการค้าเสรีภายใต้การแข่งขันที่เป็นธรรม ปราศจากอำนาจผูกขาดทางการตลาดและการสมรู้ร่วมคิด (Collusion) ย่อมก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของผลิตภาพในการผลิต (Productivity) และที่สุดแล้วประโยชน์สูงสุดย่อมตกแก่ผู้บริโภค ซึ่งคือประชากรที่อาศัยอยู่ในสังคมนั้นๆ

ทั้งนี้เพราะอำนาจผูกขาดส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของสินค้าและบริการ ในขณะที่อำนาจเหนือตลาดส่งผลกระทบต่อราคาของสินค้าและบริการ ที่อาจถูกกำหนดให้สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบทางลบต่อผู้บริโภคอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจเจตนารมณ์ขั้นพื้นฐานก่อนว่ากฎหมายการแข่งขันทางการค้ามิใช่เครื่องมือสำหรับคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง แต่เป็นเครื่องมือสำหรับคุ้มครองผู้ประกอบธุรกิจทุกระดับให้ได้รับความเป็นธรรมจากการแข่งขันกันทางธุรกิจ โดย กขค.มีหน้าที่กำกับดูแลใน 4 ประเด็นหลักคือ 1.ไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งต้องเน้นย้ำว่าผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดไม่ถือว่ามีความผิด หากแต่จะผิดก็ต่อเมื่อใช้อำนาจเหนือตลาดที่มีกระทำการที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม 2.ไม่ให้เกิดการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่าจะไม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดก็ตาม แต่หากกระทำการใดที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจอื่น ก็อาจเข้าข่ายความผิดได้ 3.การควบรวมธุรกิจ (Merger and Acquisition; M&A) แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ การควบรวมธุรกิจที่ส่งผลให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จำต้องได้รับอนุญาตจาก กขค.ก่อนจึงสามารถรวมธุรกิจได้ และการควบรวมธุรกิจที่อาจส่งผลให้เกิดการลดการแข่งขันทางธุรกิจ จะต้องแจ้งให้ กขค.ทราบภายใน 7 วันนับจากวันที่รวมธุรกิจเสร็จสมบูรณ์ และ 4.การตกลงร่วมกันทางธุรกิจ (Cartel) ที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบเช่นกัน คือ การตกลงร่วมกันที่ส่งผลกระทบร้ายแรง หมายถึงการตกลงร่วมกันของผู้ประกอบธุรกิจที่แข่งขันทางธุรกิจในระนาบเดียวกัน (Horizontal Agreement) และการตกลงร่วมกันที่ส่งผลกระทบไม่ร้ายแรง หมายถึง การตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่คู่แข่งขันในตลาดเดียวกัน หรือในแนวดิ่ง (Vertical Agreement)

บทลงโทษของการกระทำผิดในประเด็นที่ 1 และ 4 (เฉพาะการตกลงร่วมกันที่ส่งผลกระทบร้ายแรง) เป็นโทษทางอาญา ในขณะที่บทลงโทษในประเด็นอื่นและประเด็นที่ 4 (เฉพาะการตกลงร่วมกันที่ส่งผลกระทบไม่ร้ายแรง) เป็นโทษทางปกครอง อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำความผิดที่มีโทษทางอาญา สามารถขอเปรียบเทียบปรับเป็นเงินแทนเหมือนโทษปกครองได้

กล่าวได้ว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบธุรกิจทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก รายกลาง หรือรายใหญ่ โดยเฉพาะรายใหญ่ไม่ควรมีทัศนคติด้านลบ หรือเข้าใจว่ากฎหมายฉบับนี้ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อจ้องจับผิด ทำลายโอกาส หรือสร้างอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ แต่ตรงกันข้าม กลับจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันการถูกเอาเปรียบจากการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

กล่าวคือปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ที่เป็นชาวต่างชาติจำนวนมากมาลงทุนและดำเนินธุรกิจในไทย ซึ่งอาจมีความเข้าใจและความเชี่ยวชาญเรื่องกฎระเบียบด้านการแข่งขันทางการค้าที่เป็นมาตรฐานสากลเป็นอย่างดี และอาจอาศัยความเชี่ยวชาญนี้ในการสร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้าได้ แต่เมื่อไทยใช้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 อย่างจริงจังและเห็นเป็นรูปธรรมแล้ว ย่อมส่งผลให้การพิจารณาคดีต่างๆ เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากลเฉกเช่นการปฏิบัติในอีกหลายประเทศ ซึ่งเป็นการลดปัญหาการถูกเอาเปรียบของผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ได้

ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (Small-and-Medium Enterprises; SMEs) รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจเกิดใหม่ (Start Up) ก็ควรจะเข้าใจและใช้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน เพื่อจะได้ไม่ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงการรับรู้และตระหนักถึงสิทธิที่พึงมี เพื่อสามารถร้องขอการตรวจสอบจาก กขค. เมื่อถูกจำกัดอำนาจต่อรองทางการค้า หรือเกิดอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมได้

ดังนั้น จากนี้ไปผู้ประกอบธุรกิจในไทยควรเล็งเห็นถึงความสำคัญและให้ความสนใจต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 รวมถึงกฎหมายลูกและแนวทางปฏิบัติต่างๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ และสร้างประโยชน์ให้เกิดกับธุรกิจของตน ตลอดจนสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกลงโทษตามกฎหมาย รวมถึงความเสื่อมเสียชื่อเสียงที่อาจเกิดขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้

โดย... 

ผช.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

กรรมการการแข่งขันทางการค้า