ซอสพริก กับชื่ออำเภอ

ซอสพริก กับชื่ออำเภอ

ย้อนหลังไป 40 กว่าปีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ท่านที่รับประทานอาหารและชอบใช้เครื่องปรุงรสเป็นซอสพริก จะคุ้นเคยกับซอสพริก

ที่เรียกกันติดปากว่า ซอสศรีราชา ซึ่งมีประวัติ เริ่มต้นจากการทำน้ำพริกไว้รับประทานเฉพาะในครัวเรือนของบุคคลที่มีภูมิลำเนาในอำเภอศรีราชา แล้วขยายเป็นธุรกิจครองครัว ทำซอสพริกศรีราชาใช้ชื่อศรีราชาพานิช จำหน่ายในศรีราชาและนักท่องเที่ยว ต่อมาผู้ประกอบการเครื่องปรุงรสซื้อกิจการไปผลิตและจำหน่ายโดยยังใช้ชื่อซอสศรีราชา ตราพริกและรสชาติแบบเดิม จนแพร่หลายทั่วประเทศ

ซอสศรีราชาเป็นประเด็นในสื่อ เมื่อ 3-4 ปีก่อน เมื่อมีการเปิดเผยว่าในสหรัฐมีการจำหน่ายซอสพริก ที่เรียกว่าซอสศรีราชาซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก แต่ซอสดังกล่าวเป็นซอสศรีราชา ตราไก่ ผลิตโดยชาวเวียดนามอพยพ ทำให้มีคำถามตามมาว่า ซอสศรีราชาที่มีต้นกำเนิดในประเทศไทย แล้วชาวเวียดนามผลิตซอสใช้ชื่อว่าซอสศรีราชาในสหรัฐและนำออกจำหน่าย เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ละเมิดเครื่องหมายการค้าซอสศรีราชาของคนไทยหรือไม่

ซอสศรีราชาเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีผู้พบว่าซอสศรีราชาที่วางจำหน่ายในร้านซูเปอร์มาร์คเก็ตในประเทศไทย เป็นซอสศรีราชาตราไก่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีการแสดงความเห็นว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ละเมิดสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ซอสศรีราชา ที่มีต้นกำเนิดในประเทศไทยและผลิตในประเทศไทยหรือไม่ ทางราชการที่รับผิดชอบจะช่วยผู้ประกอบการไทยที่ผลิตและจำหน่ายซอสศรีราชาแต่เดิมได้อย่างไรหรือไม่

การผลิตซอสพริกและเรียกชื่อว่าซอสศรีราชาที่มีต้นกำเนิดในประเทศไทย นั้น ต้องพิจารณาว่าได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านใด กล่าวคือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่ หากเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ก็จะได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องจดหรือขอขึ้นทะเบียน แต่เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว การผลิตและจำหน่ายซอสพริก โดยใช้ชื่อว่า ซอสศรีราชา ไม่เข้าข่ายเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์

ในด้านสิทธิบัตร หากมีการขอรับสิทธิบัตรกระบวนการหรือกรรมวิธีในการผลิตซอสศรีราชาที่ต้องเป็นกรรมวิธีการผลิตซอสที่คิดค้นขึ้นใหม่หรือที่ทำให้คุณภาพดีขึ้นกว่าเดิม และได้รับสิทธิบัตร ก็จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร แต่ไม่ปรากฏว่าการผลิตซอสศรีราชาได้รับสิทธิบัตรแต่อย่างใด หรือหากซอสศรีราชาได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เนื่องจากการใช้วัตถุดิบในท้องที่อำเภอศรีราชาที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษเป็นเอกลักษณ์โดเด่นแตกต่างจากวัตถุดิบแหล่งอื่น ก็จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ แต่ปรากฏว่า ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนซอสศรีราชาเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศสาสตร์

อันเนื่องจากมีการใช้ชื่อในทางการค้า ว่าซอสศรีราชามาตั้งแต่แรก จึงมีข้อพิจารณาว่า คำว่าซอสศรีราชาเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนและได้รับการคุ้มครองตากฎหมายเครื่องหมายการค้าหรือไม่ ซึ่งมีคำชี้แจงจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า คำว่าศรีราชาเป็นชื่อในอำเภอหนึ่งของจ.ชลบุรี และถือเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ไม่สามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวได้ แต่ผู้ประกอบการสามารถใช้คำว่า ซอสพริกศรีราชาบรรยาย สินค้าโดยจะต้องมีโลโก้หรือเครื่องหมายการค้าของตนกำกับด้วยเสมอ

ข้อกฎหมาย 1 ชื่อสามัญ และชื่อทางภูมิศาสตร์ ไม่ว่าในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ถือว่าเป็นคำไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะไม่สามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ เช่นคำว่า “JAVACAFE “ คำว่าJAVA เป็นชื่อเกาะในอินโดนีเซีย เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ส่วนคำว่า” CAFE” เป็นคำสามัญ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “JAVACAFE “ ชอบแล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2545 )

2 ถ้ามีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยมีคำสามัญและชื่อทางภูมิศาสตร์ ประกอบอยู่ โดยผู้ขอจดทะเบียนปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้คำสามัญและชื่อทางภูมิศาสตร์ นั้นก็สามารถรับจดทะเบียนได้ ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายเครื่องหมายการค้า และตามนัยของ คำพิพากษาศาลฎีกาที่5940/2541 ที่วินิจฉัยว่า “มหาชัยเป็นชื่อ ตำบลหนึ่ง ของจ.สมุทรสาคร อันเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ถือได้ว่าเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ดังนั้นการที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า วินิจฉัยให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่ามหาชัยประกอบอยู่ โดยให้ผู้ขอจดทะเบียนปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวในคำว่า ”มหาชัย” จึงกระทำได้ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย

3 เครื่องหมายการค้าทีไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เช่นเป็นชื่อสามัญหรือชื่อทางภูมิศาสตร์ หากได้จำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นจนแพร่หลายแล้วตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามมาตรา7 วรรคท้ายของ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ รับจดทะเบียนได้ ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5449/2549 ที่วินิจฉัยไว้ว่า ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า WASHINTON และคำว่าแอปเปิ้ล และรูปแอปเปิ้ลประดิษฐ์ เมื่อมีการนำสืบว่าเครื่องหมายการค้าพิพาทได้จำหน่าย เผยแพร่ และโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายที่พิพาทจนแพร่หลายแล้วในประเทศไทย จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่ให้ถือว่ามีลักษะบ่งเฉพาะ รับจดทะเบียนได้

ข้อสรุป  จากข้อกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น กรณีของซอสศรีราชาดั้งเดิมของไทย หากผู้ผลิตขอจดจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เช่น ตราภูเขารูปประดิษฐ์ โดยใช้ข้อความ “ซอสศรีราชา”เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้านั้นด้วย และปฏิเสธไม่ถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ของคำว่าซอสศรีราชา โดยบุคคลอื่นยังสามารถใช้คำว่าซอสศรีราชาได้ ก็จะสามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซอสศรีราชาตราภูเขาได้ ส่วนในด้านการตลาดก็เน้นว่าเป็นซอสศรีราชาดั้งเดิมของไทยถูกปากคนไทย หรือยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใช้ตราดั้งเดิมพร้อมคำว่าซอสศรีราชา โดยพิสูจน์ว่าได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว จำหน่ายซอสศรีราชา จนแพร่หลายในประเทศไทยเป็นที่รู้จักของคนไทยมาหลายสิบปี อันถือได้ว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะแล้ว น่าจะสามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ตามนัยของคำพิพากษาศาลฎีกาที่5449/2549 ดังกล่าว โดยไม่ต้องปฏิเสธสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้คำว่าซอสศรีราชา