ภาษีดิจิทัล บริบทใหม่ของสงครามการค้า

ภาษีดิจิทัล บริบทใหม่ของสงครามการค้า

สงครามการค้า มิได้มีแค่เพียงระหว่างสหรัฐ และจีน เช่นเดียวกัน สงครามการค้า มิได้มีเพียงแค่สินค้าที่จับต้องได้และมีคุณลักษณะทางกายภาพ

ดังเช่นตัวอย่างของ สมาร์ทโฟนโดยหัวเว่ย ที่สามารถถูกกีดกันด้วยพิธีการทางศุลกากร เช่น กำแพงภาษี และ การห้ามนำเข้าสินค้า ซึ่งเป็นยุทธวิธีของสงครามการค้า ในสมัยเก่า

แต่ในปัจจุบัน สินค้าจำนวนมาก เป็นสินค้าและบริการดิจิทัล ที่ไม่สามารถจับต้องได้และไม่มีคุณลักษณะทางกายภาพ จึงไม่สามารถถูกกีดกัดด้วยพิธีการทางศุลกากร เพราะถูกนำส่งผ่านใยแก้วนำแสง หรือ โครงข่ายใร้สายเช่น 4G และ 5G

ในขณะที่สหรัฐ กำลังขาดดุลการค้า จากการนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งนั่นก็คือสินค้าที่จับต้องได้และมีคุณลักษณะทางกายภาพ ที่กำลังต่อสู้กับด้วยพิธีการทางศุลกากร แต่ในขณะเดียวกัน นานาอารยประเทศ กำลังขาดดุลการค้า จากการนำเข้าสินค้าและบริการดิจิทัล ที่ไม่สามารถจับต้องได้และไม่มีคุณลักษณะทางกายภาพ จากสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่ถูกขนานนามว่า GAFA อันได้แก่ Google, Apple, Facebook และ Amazon

ซึ่งประเทศไทย ก็ไม่ได้มีสถานะที่แตกต่างจาก นานาอารยประเทศ ในขาดดุลการค้า ให้กับ สหรัฐ

กลุ่มบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ สามารถขายสินค้าและบริการดิจิทัล ดังเช่นตัวอย่างของ เสิร์ชเอนจิน โฆษณาดิจิทัล ภาพยนตร์ เพลง ละครโทรทัศน์​ โซเชียลมีเดีย คลาวด์คอมพิวติ้ง บิ๊กดาต้า อนาลิติกส์ ฯลฯ เข้ามาในประเทศอื่น โดยสามารถหลีกเลี่ยงภาษีส่วนใหญ่ และการกำกับดูแลทางกฎหมายของประเทศนั้นได้ เนื่องจากสามารถทำการลงทุน อุปกรณ์ บุคลากร และ R&D ทั้งหมด ในประเทศของตัวเอง เช่น สหรัฐ และ ขายสินค้าและบริการดิจิทัล ผ่านใยแก้วนำแสง หรือ 4G และ 5G เข้ามาในประเทศอื่น เช่น ประเทศไทย โดยไม่ต้องมีตัวตนทางกฎหมายในประเทศนั้นเลย

จึงเปรียบเสมือนเป็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของธุรกิจข้ามชาติเหล่านี้ และการสูญเสียอธิปไตยทางดิจิทัลของประเทศนั้นๆ

ข้อดีของ สินค้าและบริการดิจิทัล คือการที่ผู้บริโภค จากประเทศต่างๆ สามารถเข้าถึงบริการชั้นเยี่ยม ของ Google, Apple, Facebook และ Amazon ได้เกือบไม่แพ้ผู้บริโภคจากสหรัฐเอง

แต่ข้อเสียของ สินค้าและบริการดิจิทัล ในรูปแบบปัจจุบัน คือ กลุ่มบริษัท GAFA สามารถสร้าง Economy of Scale ในการลงทุนครั้งเดียวที่สหรัฐ แต่สามารถให้บริการได้ทั้งโลก ซึ่งจะลดโอกาสของ ธุุรกิจในประเทศต่างๆ ที่จะพัฒนาสินค้าและบริการมาแข่งขัน จนเกิดเป็นการผูกขาด หรือ การมีอำนาจเหนือตลาดในระดับโลก ของธุรกิจข้ามชาติเหล่านี้

บริบทล่าสุด ของสงครามการค้า คือการที่วุฒิสภาของประเทศฝรั่งเศษ ได้อนุมัติ การคิดภาษีดิจิทัล จากธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่ขายสินค้าและบริการดิจิทัลเข้ามาในฝรั่งเศษ โดยจะกำหนดเป็น ภาษีดิจิทัล 3% สำหรับธุรกิจข้ามชาติที่มีรายได้อย่างน้อย 750 ล้านยูโร ทั่วโลก และ 25 ล้านยูโร ในฝรั่งเศษ

มีการคาดคะเนว่า ธุรกิจข้ามชาติราว 30 ราย จะได้รับผลกระทบจากภาษีดิจิทัลของฝรั่งเศษ โดยเกือบทั้งหมด เป็นธุรกิจสัญชาติอเมริกัน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศจะตอบโต้ฝรั่งเศษ อย่างทันควัน เพราะรัฐบาลของนานาอารยประเทศ มีหน้าที่เพื่อปกป้องระบบเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง

อย่างไรก็ดี ภาษีดิจิทัลของฝรั่งเศษ ก็ไม่ใช่ครั้งแรก ที่นานาอารยะประเทศ มีแนวคิดที่จะตอบโต้ ความเหลืื่อมล้ำระดับโลกเช่นนี้ แม้แต่ในยุโรปเอง ก็มีอย่างน้อย อังกฤษ อิตาลี สเปน ออสเตรีย ที่กำลังมีความพยายามที่จะกำหนดภาษีในรูปแบบที่คล้ายของฝรั่งเศษ ทั้งยังมีความพยายามของอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยมาตรการจำนวนหนึ่งได้ถูกขนานนามว่า Google Tax

สำหรับประเทศไทย แม้จะมีการโปรโมทยุทธศาสตร์ดิจิทัลมาหลายปีแล้ว ต้องอย่าลืมว่า การนำเข้า ส่งผลเป็นลบกับ GDP ซึ่งในปัจจุบัน เรายังเป็นผู้นำเข้าของสินค้าและบริการดิจิทัล ซึ่งไม่แตกต่างกับนานาอารยประเทศ แต่ที่แตกต่างกับนานาอารยประเทศ คือเรากลับไม่ได้มียุทธศาสตร์ใดๆ ที่จะมารับมือกับบริบทใหม่ของสงครามการค้าในครั้งนี้เลย