ญี่ปุ่นเตรียมตัวโอลิมปิก

ญี่ปุ่นเตรียมตัวโอลิมปิก

ใครที่ได้เห็นคลิปสาวญี่ปุ่นใส่กิโมโนออกมาร้องเพลงสนุกๆ และเต้นสไตล์สมัยใหม่ปนญี่ปุ่น

ทำนองล้อเลียนตนเองก็คงรู้ว่าโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพกำลังใกล้เข้ามาแล้วลองมาดูว่า เขาเตรียมตัวกันอย่างไรและมีอะไรเป็นข้อคิดบ้าง

56 ปี หลังจากเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวซึ่งเป็นครั้งแรกของเอเชีย ญี่ปุ่นมีโอกาสอีกครั้งที่เมืองเดียวกันระหว่าง 24 ก.ค. - 9 ส.ค. 2020 ผู้จัดบอกว่าโอลิมปิกครั้งที่ 32 ในยุคสมัยใหม่นี้จะเป็นการจัดการที่ใช้นวัตกรรมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยอยู่บนพื้นฐาน 3 ข้อเพื่อเปลี่ยนโลกคือ (1)มุ่งมั่นพยายามสู่ความเป็นเลิศของแต่ละบุคคล (2)ยอมรับซึ่งกันและกันซึ่งจะนำไปสู่ความสามัคคีท่ามกลางความหลากหลาย (3)ส่งต่อมรดกสู่คนรุ่นต่อไปหรือเชื่อมต่อไปถึงพรุ่งนี้

จาก 3 หลักการนี้ก็นำไปสู่การจัดงานที่มุ่งใช้นวัตกรรมเป็นหลัก ตัวอย่างเช่นใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนรถโดยสารขนาดใหญ่รับส่งนักกีฬา โดยญี่ปุ่นมุ่งมั่นสู่การเป็น Hydrogen Society เพราะเป็นพลังงานที่สะอาด ไฮโดรเจนมาจากน้ำและกลับไปสู่สภาพน้ำโอลิมปิคครั้งนี้เป็นโอกาสเปิดตัว

ญี่ปุ่นพยายามใช้สถานที่เคยแข่งขันเมื่อครั้งปี1964 ให้มากที่สุดโดยการปรับปรุงยกเครื่องให้เหมาะกับยุคสมัย(ประหยัดพลังงานและทรัพยากรเป็นภาระแก่โลกน้อยที่สุด) เช่น The Tokyo National Stadium ซึ่งเคยใช้เป็นสถานที่เปิด-ปิด และแข่งขันกีฬาหลายประเภทก็จะปรับปรุงครั้งใหญ่ถึงขนาดรื้อถอนและใช้ในพิธีเดียวกันอีกครั้ง Nippon Budōkan ที่มีชื่อเสียงสำหรับยูโด/ Baji Koen Park สำหรับแข่งขันเกี่ยวกับม้าฯลฯ

ภายใต้แนวคิด 3 ข้อญี่ปุ่นได้ทำ 5 สิ่งสำคัญเพื่อการเตรียมตัวซึ่ง ได้แก่ (1)เพิ่มการศึกษาด้านภาษาอังกฤษในทุกระดับเพื่อการสื่อสารกับทีมผู้เข้าแข่งขันและต้อนรับแขกต่างชาติผู้มาดูกีฬาซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนับแสนๆคน

ใน 30 ปีที่ผ่านมา คนญี่ปุ่นพูดภาษาอังกฤษได้มากขึ้นตามถนนหนทางมีป้ายภาษาอังกฤษแทบทุกที่ สถานีรถไฟก็มีคนที่พูดภาษาอังกฤษได้และสถานการณ์บอกทิศทางด้วยธรรมชาติของความเอื้อเฟื้อของคนญี่ปุ่นแก่คนต่างชาติก็ยิ่งดีขึ้น หลายปีที่ผ่านมามีการพัฒนาภาษาอังกฤษในโรงเรียนบริษัทหน่วยบริหารของรัฐ ฯลฯ อย่างกว้างขวาง จนน่าผลิตดอกออกผลอย่างงดงาม

(2)ยกเครื่องปรับปรุงสถานที่มรดกวัฒนธรรม ถึงแม้ปกติทุกแห่งของสถานที่สำคัญก็มีการดูแลและพัฒนาปรับปรุงอยู่แล้วก็ตาม แต่ครั้งนี้จะยิ่งพัฒนายิ่งขึ้นเพื่อความสะดวกและการเข้าถึงของคนต่างชาติ(ไม่ต้องพัฒนาห้องน้ำอย่างหนักเหมือนเมื่อโอลิมปิกเกมส์ที่ปักกิ่งเมื่อปี 2008)

(3)พัฒนาระบบการขนส่งและถนน ถึงแม้จะมีระบบที่เป็นเยี่ยมอยู่แล้วแต่ในช่วงเวลาของการจัดงานก็จะมีบริการพิเศษเพิ่มเติม(ปกติสถานี Shinjuku มีคนใช้วันละ1ล้านคนอย่างแออัดอยู่แล้ว) ทั้งในการปรับปรุงตารางเวลา ความถี่ของขบวนรถไฟและการก่อสร้างเพิ่มเติมผู้จัดเน้นการลดความคับคั่งของการจราจรในทุกบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน

(4)เปลี่ยนกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในร้านอาหารโดยมีการออกกฎเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้วไม่มากนัก ในเรื่องการสูบบุหรี่ในร้านอาหารเพื่อสุขภาพของคนไม่สูบ เรื่องนี้ถือได้ว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์มากพอควรเพราะคนญี่ปุ่นจำนวนมากสูบบุหรี่ อย่างไรก็ดี ผู้จัดจำเป็นต้องออกกฎเพิ่มเติมโดยให้มีจำนวนบริเวณสูบบุหรี่กลางแจ้งมากยิ่งขึ้นและกระจายตัวกว้างขวางมากขึ้น

(5)ขยายพื้นที่จัดการแข่งขันถึง แม้ว่าจะพยายามใช้สถานที่จัดกีฬาเก่า แต่บางสถานที่ก็ต้องรื้อทิ้งทั้งหมดและสร้างขึ้นใหม่ดัง เช่น The National Olympic Stadium ที่ใช้เมื่อปี 1964 การปรับปรุงครั้งใหญ่เริ่มตั้งแต่ปี 2016 ขณะนี้เสร็จแล้วจุคนได้68,000-80,000คน

จากการเตรียมตัวที่ดีมากโดยรู้ตัวว่าจะได้เป็นเจ้าภาพมากว่า10ปีเมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากลเมื่อเร็วๆ นี้ ไปตรวจ จึงพอใจอย่างมากกับการเตรียมการที่ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 ปี คนญี่ปุ่นมากกว่า 7.5 ล้านคน ได้ลงทะเบียนสำหรับการจับฉลากซื้อตั๋วล็อตแรก ทุกรายการแข่งขันคนญี่ปุ่นต้องการซื้อตั๋วมากกว่าตั๋วที่มีอย่างล้นหลาม ถ้ารวมนักท่องเที่ยวอีกนับแสนคนที่คาดว่า จะร่วมชมกีฬาก็จะเป็นปัญหาใหญ่พอควร (ญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยว 9 ล้านคน ในปี2012 พุ่งขึ้นถึงกว่า 30 ล้านในปี 2018 และคาดว่าจะถึง 40 ล้านคนก่อนปี 2020) ในช่วงกีฬาคาดว่าห้องของโรงแรมจะขาดแคลนกว่า10,000 ห้องภาคเอกชนกำลังเตรียมการใช้เรือขนาดใหญ่หลายลำจอดริมฝั่งทะเลเพื่อใช้เป็นที่พักของนักท่องเที่ยวที่มาชมกีฬา

ปัญหาใหญ่ทั้งผู้จัดและผู้แข่งขันกังวลก็คือ อากาศหน้าร้อนของญี่ปุ่นซึ่งร้อนจัดมากในบางช่วงเวลาและมีความชื้นสูง เมื่อปีที่ร้อนตอนที่มีคลื่นความร้อนผ่านมีคนตาย 130 คน และป่วยเข้าโรงพยาบาล 7 หมื่นคน(น่าจะดีกว่าฟุตบอลโลกปี2022 ที่การ์ต้าซึ่งอยู่กลางทะเลทราย)

ในโลกทุนนิยมเมื่อมีดีมานด์ซึ่งจะก่อให้เกิดกำไรก็ย่อมมีสัพพลายสนองตอบ ขณะนี้มีบริษัทเอกชนที่รวบรวมสถิติอากาศหน้าร้อนของญี่ปุ่นในพื้นที่ต่างๆ ข้ามเวลาตลอดจนระดับความชื้นปริมาณฝนความเร็วลมและข้อมูลประกอบทั้งหมดเพื่อเสนอขายคำพยากรณ์ของอากาศในวันที่แข่งในทุกสถานที่มีการแข่งขัน(เช่นนักกีฬามาราธอนจำเป็นต้องรู้ข้อมูลพยากรณ์ที่น่าเชื่อถืออย่างละเอียดเพื่อการฝึกซ้อมและเตรียมตัวในช่วงเวลา2-3ปีก่อนที่จะถึง)ธุรกิจที่กล่าวถึงนี้เป็นเพียงหนึ่งในธุรกิจใหญ่ที่จะเกิดขึ้นสำหรับกีฬาโอลิมปิกซึ่งจะใช้นวตกรรมล้ำหน้ามากมาย

กรรมการผู้จัด Tokyo Olympics ใช้เงินลงขันจากธุรกิจ62แห่งเป็นเงิน 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเชื่อได้ว่าจะเห็นการเปิดตัวของนวัตกรรมหลากหลายประเภทที่ใช้ในการจัดการแข่งขัน

การพัฒนาสาระพัดเครื่องมือระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 การจัดกีฬาโอลืมปิกการพัฒนายานอวกาศ การพัฒนาอาวุธ และการสื่อสารเพื่อสงครามฯลฯ ในที่สุดในหลายกรณีนำไปสู่การประยุกต์นวyตกรรมและความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของมวลมนุษย์

สภาพอากาศเป็นปัจจัยภายนอกที่นักกีฬาทุกคนต้องเผชิญและต้องเอามันมาใช้ให้เป็นพลังบวกโดยการทำตัวให้สอดคล้องเพื่อชัยชนะ เช่นเดียวกับการดำเนินชีวิตการรู้สิ่งแวดล้อมภายนอกก่อนเวลาเพียงใดก็ยิ่งจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมตัวชีวิตต่อไปเพียงนั้น

ผู้ใดเห็นสัจธรรมของชีวิตและตระหนักถึงสภาวะความชราได้อย่างท่องแท้ก่อนเวลาที่มาถึงเร็วเท่าใด ก็ย่อมมีโอกาสเป็นผู้ ชนะกล่าวคือมีความสุขใจและไม่เป็น ภัยแก่ลูกหลานเพียงนั้น