Smart Contract: เมื่อสัญญาไม่ได้ทำด้วยกระดาษ

Smart Contract: เมื่อสัญญาไม่ได้ทำด้วยกระดาษ

ในอดีต ความเข้าใจของผู้ร่างกฎหมายในสมัยนั้น คือ สัญญาเกิดจากการแสดง “เจตนา” ของ “บุคคล” ดังนั้น “บุคคล”

จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำสัญญา หรืออาจกล่าวได้ว่า บุคคลที่ไม่เป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมาย ย่อมเข้าทำนิติกรรมสัญญาให้มีผลผูกพันตามกฎหมายได้ ในปัจจุบัน ผลทางกฎหมายจะเป็นเช่นไร หากสัญญาไม่ได้อยู่ในรูปของกระดาษและอาจไม่ได้เกิดจากการกระทำของบุคคลโดยตรง แต่เป็นการดำเนินการผ่านกลไกการตั้งค่าของระบบข้อมูลอัตโนมัติ (Automatic data system) 

การเกิดของสัญญา

ตามหลักกฎหมาย สัญญาเกิดจากการแสดงเจตนา “เสนอ” และ “สนอง” ต้องตรงกันของ “บุคคล” ตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป เพื่อมุ่งให้เกิดนิติสัมพันธ์อย่างหนึ่งอย่างใด (เช่น ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ) ดังนั้น เมื่อคู่สัญญาแสดงเจตนาที่มีเนื้อหาต้องตรงกัน สัญญาจึงจะเกิดขึ้น เช่น นาย ก. ส่งอีเมลเสนอขายรถยนต์พร้อมระบุรุ่นและราคาไปยังนาย ข. เมื่อนาย ข. ได้รับอีเมลก็ตอบตกลงซื้อทันที เช่นนี้ สัญญาซื้อขายย่อมเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจาก คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงในแบบ ที่เข้าใจตรงกัน

อย่างไรก็ดี คำถาม คือ Smart Contract สร้างผลในทางกฎหมายแบบนี้ได้หรือไม่? 

จาก Paper Contract สู่ Smart Contract

Smart Contract คือ การทำสัญญาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยคู่สัญญาได้สร้างเงื่อนไข หรือข้อตกลงผ่านการตั้งค่าในรูปแบบ Code แทนการเขียนเป็นตัวหนังสือในแบบ Paper Contract ซึ่ง Code ดังกล่าวจะถูกบันทึกหรือจัดเก็บไว้บนระบบ Blockchain หรืออาจกล่าวได้ว่า Blockchain เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่นำมาใช้เพื่อรองรับการทำ Smart Contract

ดังนั้น หลักการทำงานของ Smart Contract คือ การที่คู่สัญญาจัดทำสัญญาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยการกำหนดเงื่อนไขบางอย่างไว้ล่วงหน้า และเมื่อมีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นในอนาคต ให้ระบบทำธุรกรรมอัตโนมัติระหว่างกันตามที่ได้ตั้งค่าไว้ได้ทันที ซึ่งเป็นการทำธุรกรรมโดยปราศจากการควบคุมของตัวกลาง แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของระบบที่จะเข้าจัดการแบบอัตโนมัติ (Automated)

ยกตัวอย่างเช่น ร้าน Pizza Delivery แห่งหนึ่งในต่างประเทศ ได้นำ Smart Contract มาใช้ในการขายพิซซ่า โดยกำหนดเงื่อนไขว่าหากพิซซ่าไปส่งตรงเวลาให้คิดราคาเต็ม หากพนักงานจัดส่งช้า 15 นาทีคิดแค่ครึ่งราคา และหากจัดส่งช้าเกินกว่า 15 นาทีให้ทานฟรีไม่คิดราคา โดยในหน้า App ที่ลูกค้าสั่งซื้อจะมีช่องให้เลือกยอมรับในเงื่อนไขดังกล่าวและยินยอมให้ตัดเงินในบัญชีตามเงื่อนไขที่ร้านกำหนด

ดังนั้น มูลเหตุอันก่อให้เกิดการกำหนดเงื่อนในรูปแบบ Code ตามหลักการของ Smart Contract ก็มีพื้นฐานมาจาก “ความตกลงของคู่สัญญา” ไม่ต่างไปจากหลักการของ Paper Contract แต่ความตกลงดังกล่าว ได้ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบดิจิทัล และไม่ได้ให้มีผลทันที จนกว่าจะมีเหตุตามที่ได้ตกลงกันเกิดขึ้น

กฎหมายรองรับ Smart Contract อย่างไร?

แม้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานในการทำสัญญาของเอกชนจะไม่ได้กล่าวถึงการทำสัญญาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไว้ แต่กฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้ระบุหลักการ ที่สำคัญในการรองรับสถานะของข้อมูลและสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ไว้ ดังนั้น คำเสนอ-สนองที่เป็นเหตุให้เกิดสัญญาย่อมสามารถทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ และมีผลผูกพันคู่สัญญา อันก่อให้เกิด สิทธิ หน้าที่ และความรับผิด จากการเข้าทำสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวนั้น

ล่าสุด กฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้มีการปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำให้ชัดเจนขึ้น เพื่อรองรับหลักการทำสัญญาผ่านระบบข้อมูลอัตโนมัติ โดยกฎหมายกำหนด “ห้ามปฏิเสธความสมบูรณ์ของสัญญาที่ทำโดยการโต้ตอบระหว่างระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ (Machine) กับ บุคคลธรรมดา” หรือ “ระหว่างระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติด้วยกันเอง (Machine กับ Machine)”

ดังนั้น การตั้งค่าอัตโนมัติของ Smart Contract ในลักษณะที่ไม่มีบุคคลธรรมดาเข้าไปเกี่ยวข้องในการดำเนินการในแต่ละครั้ง จึงมีผลสมบูรณ์ในทางกฎหมาย เนื่องจากเป็นสัญญาประเภทที่เกิดจากการดำเนินการของระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติด้วยกันเอง (Machine กับ Machine)

เวลาและสถานที่เกิดของ Smart Contract การพิจารณาเรื่องเวลาเกิดของสัญญา ก็เพื่อให้ทราบถึง สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดตามกฎหมายว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด การระบุเวลาเกิดของ Smart Contract อาจแตกต่างจากกรณีสัญญาแบบกระดาษที่คู่สัญญาทำกันต่อหน้าและมีการระบุเวลาที่ชัดเจนในสัญญา

เพื่อการตีความสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายวางหลักว่า สัญญาที่เกิดจากการระบบอัตโนมัติย่อมมีผลนับแต่เวลาที่ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (คำสนอง) นั้นได้เข้าสู่ระบบข้อมูลของผู้รับข้อมูล โดยคู่สัญญาอาจพิจารณาจาก Time stamp ที่ปรากฎใน Transaction (เวลาที่ปรากฎใน inbox)

เช่น นาย ก. ได้กำหนดให้โอนเงินซื้อหุ้น X อัตโนมัติหากราคาลดลงไป 10% และเมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ระบบได้ทำการเข้าซื้อและหักเงินนาย ก. ทันทีแบบอัตโนมัติ (Machine และ Machine) โดยแม้นาย ก. จะไม่ได้เปิดเข้าไปดูการทำรายการดังกล่าว และมาทราบในภายหลังว่าได้มีการเข้าซื้อและตัดเงินไปแล้ว การทำรายการดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ซึ่งโดยมาก ระบบจะมีการขึ้นตัวเลขแสดงเวลาการทำธุรกรรมไว้ชัดเจน

อย่างไรก็ดี ปัญหาในทางปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาจเป็นเรื่องการตีความในเรื่องสถานที่เกิดของสัญญา ซึ่งสถานที่เกิดของสัญญานั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นตัวกำหนดเขตอำนาจของศาลในการดำเนินคดี ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันพยายามยึดโยงกับสถานที่ในทางกายภาพ เช่น ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ หรือที่ทำการที่เกี่ยวข้องมากที่สุดกับธุรกรรมนั้นเป็นที่เกิดของสัญญา อย่างไรก็ดี เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในอนาคตจะมีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะที่ไม่มีสถานที่ในทางกายภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง และการดำเนินการทุกอย่างในรูปแบบออนไลน์หรือผ่านระบบอินเทอร์เนตทั้งหมด ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นประเด็นสำคัญในการตีความ “สถานที่เกิดของสัญญา” ของสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า Smart Contract จะเป็นอีกกลไกที่ช่วยสร้าง trust protocol และส่งเสริมความโปร่งใสในการทำธุรกรรมระหว่างคู่สัญญา และแน่นอนว่าจะมีการพัฒนานำไปใช้ในลักษณะที่ซับซ้อนกับธุรกรรมที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้ ล้วนท้าทายความรู้ความเข้าใจของนักกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง 

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]