Push & Pull...ทั้งผลักทั้งดึง

Push & Pull...ทั้งผลักทั้งดึง

เชื่อว่าทุกคนคงเห็นคำๆ นี้ ที่มักติดประตูเข้าออกอาคารสถานที่ร้านค้าทั้งหลาย ที่มีความหมายเดียวกันว่าการที่จะเปิดประตูออกไปสู่ภายนอกนั้น

สามารถทำได้ทั้งการผลักบานประตูออกไป หรือดึงบานประตูเข้ามา ก็จะเกิดช่องว่างที่ทำให้เคลื่อนร่างกายออกมาจากสถานที่นั้นๆได้

ในทางสังคมก็เช่นกัน สังคมนั้นมีทั้งคนจนคนรวย คนมีการศึกษาน้อย คนมีการศึกษาสูง คนด้อยโอกาส คนได้โอกาส และอีกมากมายในทำนองเดียวกันนี้ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาคไม่เท่าเทียม และเป็นปัญหาของทุกสังคม

แน่นอนว่าทุกคนที่เกิดมา แม้ว่าจะมีสองมือสองเท้าเหมือนกัน แต่ก็มีอีกมากมายหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องของธรรมชาติและรัฐบาลของทุกประเทศ ไม่ว่าที่ไหน ประเทศไหนในโลก ถ้าไม่ใช่เผด็จการเพื่อตนเองก็จะต้องหาวิธีที่จะทำให้ประชาชนในประเทศของตัวเองมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำลดลงหรือหมดไปจากสังคม นี่เป็นความหวังอันสูงสุดของทุกรัฐบาลที่เข้ามาทำงานเพื่อประชาชน

นโยบายสำคัญของรัฐบาลทั่วโลกนั้น โดยหลักๆ ก็มี 2 ค่าย ค่ายหนึ่งเน้นเรื่องการกระจายรายได้และความมั่งคั่งจากคนที่มีรายได้มาก มั่งคั่งมาก ให้ผู้ที่ด้อยกว่า โดยรัฐเป็นผู้จัดการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ค่ายนี้มองว่าการกระจายรายได้นั้นเป็นหน้าที่ของรัฐ เพราะคนมั่งมีมั่งคั่งจะไม่ปล่อยให้ความมั่งคั่งของตนลดลงอย่างไม่มีผลตอบแทน รัฐจึงต้องออกกฎหมายเก็บภาษีเงินได้และทรัพย์สินสูงๆ เพื่อเอาไปกระจายให้ผู้มีรายได้น้อย นโยบายเช่นนี้อาจเรียกว่า demand-side

ส่วนอีกค่ายหนึ่งนั้นเชื่อว่าในระบบทุนนิยมนั้นคนรวยจะยิ่งสร้างงานเพื่อสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้น และยิ่งสร้างงานมากเท่าไรก็จะมีผลให้คนที่ด้อยกว่ามีโอกาสทำงานมีรายได้ รัฐบาลไม่ต้องเข้าไปจัดการกระจายรายได้โดยการเก็บภาษีในอัตราสูงๆ แต่เก็บในอัตราที่ต่ำกว่าเพื่อให้มีเงินในการขยายกิจการ และยิ่งกิจการดีก็มีผลถึงประชาชนที่จะมีงานทำ มีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในทางเศรษฐศาสตร์มักเรียกนโยบายของค่ายนี้ว่าเป็นพวก supply-side

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เกือบไม่มีประเทศไหนในโลกที่สุดโต่งในนโยบายใดนโยบายหนึ่ง เว้นแต่บางช่วงบางตอนในอดีตบางประเทศที่ใช้นโยบายสังคมนิยมเข้มข้นหรือระบบคอมมิวนิสต์ ก็จะเก็บผลผลิตของทุกคนในประเทศมาเป็นส่วนกลางแล้วแบ่งให้แต่ละคนเท่าๆกันโดยไม่คำนึงว่าใครผลิตได้มากกว่ากัน หรือในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ ประเทศตะวันตกหลายประเทศมุ่งการผลิตที่ให้ความสำคัญกับนักลงทุนและนักอุตสาหกรรมอย่างมาก ปล่อยให้บริหารจัดการแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาหรือที่เรียกว่า Laissez faire ทำให้กลุ่มคนรวยร่ำรวยเอาๆ แต่คนจนเป็นเพียงผู้ขายแรงงานมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบากและรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ

ในปัจจุบัน การผสมผสานระหว่าง 2 แนวคิดนี้มีมากขึ้น รัฐบาลของแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับการยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเข้าไปจัดระบบสวัสดิการต่างๆ ใช้เงินภาษีที่เก็บจากผู้ที่มีรายได้มากหรือมั่งคั่งในทางทรัพย์สิน เอาไปช่วยผู้ด้อยโอกาส ที่เป็นการดึง หรือ pull ประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามผลักดันหรือ push ให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาสนั้นไม่งอมืองอเท้ารอรับความช่วยเหลือจากรัฐอย่างเดียว โดยสนับสนุนส่งเสริมให้ยกระดับความรู้ความสามารถ สร้างเสริมสุขภาพ สร้างเสริมทักษะ ช่วยตัวเองมากขึ้น ให้ยืนบนขาของตัวเองมากขึ้นหายใจด้วยจมูกของตัวเองมากขึ้น

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ รัฐบาลก็จะใช้เงินส่วนที่เหลือในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าระบบการศึกษา สาธารณสุข ความมั่นคง อุตสาหกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อประเทศได้พัฒนาเท่าเทียมกับประเทศอื่นและยกระดับความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ สร้างความมั่งคั่งของประเทศให้มั่นคง นี่เป็นระบบใหญ่หรือระบบของสังคมใหญ่ของประเทศ ที่สังคมย่อยๆ เล็กลงไปก็ต้องดำเนินการตามระบบของสังคมใหญ่ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความขัดแย้งในสังคม

สวัสดิการทั้งหลายที่รัฐใช้จ่ายเพื่อดึงให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั้นจึงเป็นเพียงขาเดียว ในขณะที่การผลักดันให้ประชาชนยืนอยู่บนขาของตัวเองไม่เป็นภาระของสังคมนั้นเป็นอีกขาหนึ่ง ที่จะต้องผลักดันให้ฝันนั้นเป็นจริง สวัสดิการที่รัฐทุ่มลงไปจึงไม่ใช่การดึงทุกคนในสังคม เพราะประชาชนที่มีความรู้ความสามารถนั้นสามารถที่จะช่วยรัฐด้วยการจ่ายภาษีจากรายได้และความมั่งคั่งของตนอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องที่รัฐจะต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพื่อยกระดับประชาชนในกลุ่มนั้นให้ขึ้นมาสู่มาตรฐานที่สูงขึ้น และเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ด้อยโอกาสได้เข้าถึงความเป็นไปได้ที่จะช่วยตัวเองให้ก้าวข้ามสถานะความเป็นผู้ด้อยโอกาสมาสู่ความเป็นประชาชนที่ช่วยตัวเองได้และมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี

การบริหารจัดการของรัฐบาลจะต้องคำนึงถึงจุดสมดุลว่าการที่จะลงทุนเพื่อดึง กับการเปิดโอกาสให้ประชาชนผลักดันตัวเองนั้นอยู่ในจุดไหนถึงจะสมดุลย์มากสุด เพราะถ้ารัฐบาลคิดแต่จะให้อย่างเดียว ในที่สุดก็จะกลายเป็นผู้สร้างสังคมที่อ่อนแอง่อยเปลี้ยเสียขาที่ประชาชนทำอะไรไม่เป็น คอยแต่จะพึ่งรัฐ ในขณะที่ถ้าปล่อยให้สังคมของผู้ด้อยโอกาสต้องตีนถีบปากกัดเพื่อเอาชีวิตรอดโดยไม่มีการช่วยดึงหรือผลักดัน สร้างแรงฮึดขึ้นมาสร้างเนื้อสร้างตัว สังคมก็คงไปไม่รอด และอาจยิ่งทำให้เกิดปัญหาในสังคมมากขึ้น

รัฐบาลใหม่ของประเทศไทยที่กำลังจัดตั้งในขณะนี้จะต้องสร้างสมดุลในการดึง หรือ pull กับการผลักดัน หรือ push อย่างเหมาะสม เพราะสังคมที่รัฐมีแต่ให้ ก็เท่ากับสร้างรัฐที่อ่อนแอ