วิกฤติเศรษฐกิจแบบปี 2540 จะซ้ำรอยหรือไม่??? (2)

วิกฤติเศรษฐกิจแบบปี 2540 จะซ้ำรอยหรือไม่??? (2)

ขณะนี้ ประเทศไทยมีการลงทุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจจำนวนมาก หลายโครงการต้องนำมาเรียงลำดับความสำคัญให้ดี เพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณ

ภาคการลงทุนของไทยก็ยังไม่สามารถเติบโตได้เท่ากับก่อนวิกฤติปี 2540 ซึ่งการขยายตัวได้ระดับสูงนั้นต้องอาศัยการลงทุนจากภาคเอกชนเพราะขนาดของงบประมาณอยู่ในระดับ 1 ใน 5 ของจีดีพีเท่านั้น  

ช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 นั้นสัดส่วนการลงทุนในประเทศ(ร้อนแรง)ต่อรายได้ประชาชาติพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 41.4% จึงต้องอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศเพื่อตอบสนองการเติบโตของการลงทุน ส่วนปัจจัยสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีอยู่ที่ต่ำกว่า 25% สภาพคล่องภายในมีมากเพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องกู้ต่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจเมื่อ 22 ปีที่แล้วกับปัจจุบันแตกต่างกัน มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้เหมือนกันแต่วิกฤติจะมีลักษณะต่างกัน การศึกษาบทเรียนเกี่ยวกับวิกฤติปี 2540 จึงมีความสำคัญ และเมื่อ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา สื่อมวลชนบางส่วนได้กรุณานำเสนอข้อสังเกตของผมเกี่ยวกับวิกฤติต้มยำกุ้งไว้ และผมได้นำมาเรียบเรียงอีกครั้งหนึ่งให้กับแฟนคอลัมน์ “พลวัตเศรษฐกิจ” ดังนี้

1.ช่วงวิกฤติปี 2540 ไทยมีช่องว่างระหว่างระดับการออม - การลงทุนสูง(เกินตัว)ทำให้ต้องอาศัยเงินออม(กู้เงิน)จากต่างประเทศ เอกชนลงทุนเกินตัวเพราะสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกเอื้ออำนวยการลงทุนและส่งออก ส่งผลให้ราคาที่ดิน ราคาหุ้นสูงขึ้น ดึงดูดให้ภาคการเงินแข่งขันกันปล่อยกู้ การเปิดเสรีภาคการเงินทำให้สถาบันการเงินกู้เงินจากต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำมาปล่อยกู้ในประเทศ ทำให้เกิดการลงทุนมากเกินไป รวมถึงภาคการเงินที่มีโครงสร้างแบบผูกขาดมาเป็นเวลานาน ขาดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเงิน และขาดความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อขณะที่ปี 2562 สัญญาณการลงทุนเกินตัวของภาคเอชนมีในบางภาคเศรษฐกิจ บางพื้นที่ และมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล การลงทุนเอกชนไม่ได้ร้อนแรงมากเหมือนก่อนปี 2540 แต่การลงทุนภาครัฐมีเริ่มส่งสัญญาณลงทุนเกินตัวสะท้อนจากงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องและก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก ไม่เป็นปัญหาหากโครงการลงทุนต่างๆ สามารถสร้างการเติบโตในระยะต่อไป ช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 การเมืองไม่มีเสถียรภาพ และการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็จะมีปัญหารัฐบาลผสมที่อ่อนแอ

2.การพึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศในอัตราสูงไม่ใช่ปัญหา หากมีการบริหารจัดการที่ดีไม่ให้มีสัดส่วนของเงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นในระดับที่มากเกินไป เงินทุนที่ไหลเข้าก่อนช่วงวิกฤติปี 2540 หรือ 2-3 ปีมีสัดส่วนของการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment: FDI)น้อย การลงทุนเข้ามาถือหุ้นร่วมกิจการก็น้อยเมื่อเทียบกับเงินไหลเข้าในรูปของเงินกู้ และที่สำคัญเงินกู้เหล่านี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น ด้านสถาบันการเงินก็ต้องมีระบบปล่อยสินเชื่อที่มีมาตรฐานและโปร่งใสสถานการณ์ขณะนี้ เราเปิดกว้างในการดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะ EEC จำเป็นต้องรักษาสมดุลให้ดีระหว่างทุนชาติและทุนข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม ตัวเลข FDI ขณะนี้ก็ยังน้อยกว่าในช่วงปี 2544-2548

3.ช่วงก่อนปี 2540 มีการเปิดเสรีการเงินผ่านการเปิดเสรีวิเทศธนกิจมีเม็ดเงินไหลเข้ามาในระบบสถาบันการเงินไทยจำนวนมาก เกิดการขยายสินเชื่อในอัตราเร่ง คุณภาพสินเชื่อเริ่มลดลง อัตราส่วนระหว่างการปล่อยสินเชื่อต่อปริมาณเงินฝากสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์เมื่อสิ้นไตรมาส 2 ของปี 2538 นอกจากนี้เริ่มมีสัญญาณของหนี้เสีย ที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนขณะนี้ สถานะทางการเงินของระบบสถาบันการเงินยังแข็งแกร่ง แม้หนี้เสียเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่อันเป็นผลกระทบจากเทคโนโลยีทางการเงิน การแข่งขันในภาคการเงินรุนแรงขึ้นจากการแข่งให้บริการโดยกลุ่ม non-bank ผลของเงินดิจิทัลจะส่งผลอย่างไรต่อระบบการเงิน ต้องมีการศึกษาและรับมืออย่างจริงจัง

4.ก่อนปี2540 นโยบายการเงินที่เข้มงวด(ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย) ขณะที่ยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่พร้อมกับยังมีการเติบโตร้อนแรง อยู่ในภาคการลงทุนส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศ ยิ่งสร้างแรงผลักดันให้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศและดูดเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงก่อนเกิดวิกฤติปี 40 ผู้ให้กู้ให้สินเชื่อแบบผ่อนคลายมากขึ้น โครงการต่างๆ ขยายโดยใช้สัดส่วนของสินเชื่อค่อนข้างสูงและหลายโครงการกู้เงินตราต่างประเทศเพื่อประหยัดดอกเบี้ย โดยมีสมมติฐานว่าไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพราะมั่นใจว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ระบบตะกร้าเงิน ขณะนี้ นโยบายการเงินและระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบที่ยืดหยุ่นลอยตัวตามกลไกตลาดมากขึ้นทำให้ลดความเสี่ยงในเชิงระบบลงได้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็มาทำหน้าที่แทน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไร ทางการจึงควรออกมาตรการสกัดกั้นเงินทุนเก็งกำไรเหล่านี้ หากล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันสินค้าส่งออกและภาคการท่องเที่ยว

5.ก่อนปี2540 สภาพคล่องที่ผ่อนคลายและปริมาณเงินขยายตัวในระดับสูง ผสานกับความร้อนแรงของการลงทุนและการเก็งกำไร ทำให้ราคาที่ดินและหลักทรัพย์พุ่งสูงขึ้นกว่าปัจจัยพื้นฐานจนเกิดปัญหาฟองสบู่ โดยเฉพาะในตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนในปัจจุบัน ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นมากในบางพื้นที่เท่านั้น เช่น เขต EEC หัวเมืองใหญ่ ยังไม่มีสัญญาณชัดนักในภาวะฟองสบู่ อย่างไรก็ตาม ประเทศควรมีระบบข้อมูล Big Data ครอบคลุมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ผู้ซื้อหรืออุปสงค์ สินเชื่อสถาบันการเงิน เป็นต้น 

สาเหตุฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกช่วงปี 2540 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดข้อมูล ทำให้เกิดปัญหา oversupply การเก็งกำไร และสินเชื่อด้อยคุณภาพ ปัญหาฟองสบู่ในอสังหาฯได้ก่อให้เกิดหนี้เสียจำนวนมากในระบบสถาบันการเงินนอกจากนี้ ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการ LTV เพื่อสกัดความร้อนแรง การเก็งกำไรและฟองสบู่ในอสังหาฯ โดยมาตรการ LTV ได้ก่อให้เกิดการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์มากกว่าที่คาด