อนาคตมหาวิทยาลัย พลิกตัวสู่โลกใบใหม่ผ่านโมเดล 5Fs (2)

อนาคตมหาวิทยาลัย พลิกตัวสู่โลกใบใหม่ผ่านโมเดล 5Fs (2)

มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต นอกจากต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ทักษะ งานในอนาคตของนักศึกษา(Future of Work)

รวมถึงการยกระดับทักษะแล้วยังต้องปรับเปลี่ยนทักษะสำหรับช่วงวัยทำงานเพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในบทความตอนที่แล้ว

โจทย์สำคัญข้อที่ 2 ของมหาวิทยาลัยแห่งอนาคตคือการตอบโจทย์ ประสบการณ์การเรียนรู้ของนักศึกษาที่เป็นดิจิทัลเนทีฟซึ่งเป็นผู้ที่เติบโตมาพร้อมกับยุคดิจิทัล โดยการปรับหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่น มีช่องทางการเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างการเรียนที่แคมปัสของมหาวิทยาลัยและการเรียนผ่านทางออนไลน์ (Future of Course)

ในประเด็นนี้ ผู้เขียนคิดว่า แม้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่จะมีทางเลือกในการศึกษาที่เปิดกว้างมากกว่าในอดีตซึ่งมาจากแพลตฟอร์มการศึกษาดิจิทัลแบบ MOOC ที่มีคุณภาพ หลากหลายและราคาถูก แต่วิธีหรือโหมดการเรียนรู้และการสร้างความเข้าใจในเนื้อหาที่ดีที่สุดของมนุษย์ก็น่าจะยังอยู่ที่การมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมการเรียนในโลกจริง ทั้งผ่านการสนทนา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถกเถียงและการช่วยกันแก้ไขปัญหาของนักศึกษาที่มีมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ผ่านคำแนะนำของครูบาอาจารย์ที่มีคุณภาพ

ในงานวิจัยสำคัญชิ้นหนี่งของ Richard Light ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจาก Harvard Graduate School of Education ค้นพบว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่กำหนดความสำเร็จของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา คือ ความสามารถในการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้กับกลุ่มย่อย โดยนักศึกษาที่อยู่ในกลุ่มการเรียนรู้จะมีผลการเรียนรู้ที่ดีกว่าการเรียนด้วยตนเองเพียงอย่างเดียว ดังนั้น การเรียนออนไลน์จึงยังไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาส่วนใหญ่

นอกจากนี้ การเรียนออนไลน์ด้วยตนเองยังเป็นงานที่ทำให้สำเร็จได้ยาก ดังมีงานวิจัยของ Katy Jordan ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการศึกษา ที่พบว่า ผู้ที่เรียนคอร์สออนไลน์หรือ MOOC จนจบได้มีเฉลี่ยเพียง 15% เท่านั้น เพราะการเรียนออนไลน์ด้วยตนเองต้องใช้วินัยเป็นอย่างสูงในการควบคุมตนเองให้เรียนจนจบแต่ละวิชา ในอีกด้านหนึ่ง หลักสูตรออนไลน์สมัยใหม่เองก็ได้พยายามปรับรูปแบบให้เนื้อหาแต่ละโมดูลการเรียนรู้สั้นลง สร้างรูปแบบให้คล้ายการเล่นเกม มีการเก็บพลัง เพื่อเลื่อนขั้น ผ่านด่านต่างๆ เพื่อเอื้อให้ผู้เรียนสนุกและสามารถเรียนรู้ได้ยาวนานมากขึ้น จนสามารถเรียนจบวิชาได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจนถึงปัจจุบันก็ยังพบว่าอัตราการเรียนจนจบวิชาก็ยังไม่เกิน 20% เท่านั้น

ดังนั้น การเรียนรู้ทางออนไลน์จึงยังไม่สามารถทดแทนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยได้ ทิศทางการปรับหลักสูตรจึงน่าจะเป็นการออกแบบการเรียนรู้โดยใช้จุดแข็งจากทั้ง 2 รูปแบบการเรียนรู้ โดยการผสมผสานการเรียนที่แคมปัสมหาวิทยาลัยกับการเรียนผ่านทางออนไลน์อย่างเหมาะสม

ผู้เขียนคิดว่าหลักการสำคัญของการสร้างประสบการณ์ให้นักศึกษา คือ มหาวิทยาลัยแห่งอนาคตจะต้องจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมสำหรับนักศึกษาแบบรายบุคคล โดยสนับสนุนให้นักศึกษามีความก้าวหน้าทางการเรียนรู้เฉพาะตนเอง เปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกหลักสูตรหรือทักษะที่ต้องการได้อย่างยืดหยุ่น และสามารถกำหนดวิชาและระยะเวลาการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับตนเอง

ในการออกแบบหลักสูตรแห่งอนาคต มหาวิทยาลัย Stanford เป็นตัวอย่างที่ดีในการระดมสมองทีมอาจารย์และนักศึกษาโดยใช้การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เพื่อร่วมกันจินตนาการถึงมหาวิทยาลัยปี 2025 ซึ่งพบว่าได้หลักสูตรแห่งอนาคตที่น่าสนใจ 4 รูปแบบ คือ (1) โมเดลมหาวิทยาลัยแบบเปิด (Open Loop University) ที่อนุญาตให้ขยายเวลาเรียนปริญญาตรีเป็น 6 ปี โดยจะเริ่มเรียน ออกไปทำงาน กลับมาเรียนและจบการศึกษาในช่วงไหนในชีวิตก็ได้ (2) โมเดลการเรียนเป็นลำดับขั้น (Paced Education) ปรับจากการเรียนปี 1 ถึงปี 4 เป็นเรียน 3 ขั้นคือขั้นพื้นฐาน ขั้นยกระดับและขั้นปฏิบัติจริง โดยนักศึกษาแต่ละคนสามารถใช้เวลาแต่ละขั้นไม่เท่ากันได้

(3) โมเดลการศึกษาแบบพลิกแกน (Axis Flip) เปลี่ยนจาก “ความรู้” เป็นแกน เป็น “ทักษะ” เป็นแกนแทน เปลี่ยนจากคณบดีตามสาขาวิชาเป็นคณบดีตามทักษะ (4) โมเดลการเรียนรู้แบบมีเป้าหมาย (Purpose Learning) ให้นักศึกษาเลือกพันธกิจ (missions) ของตนเองแทนเลือกคณะ เน้นการเรียนรู้ผ่านโครงงานเพื่อให้นักศึกษามีความรู้ทักษะในการออกไปแก้ไขปัญหาสังคมตามพันธกิจที่ตนเองต้องการ

ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกได้ออกแบบหลักสูตรที่เปลี่ยนไปจากยุคเก่าจำนวนมาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นตัวอย่างของการมีหลักสูตรใน Harvard Extension School ซึ่งมีหลักสูตรที่ยืดหยุ่นสำหรับบุคคลทั่วไปและทางออนไลน์ มีผู้เข้าเรียนแบบรับใบปริญญาบัตรกว่า 2,000 คนและมีนักศึกษาแบบรับประกาศนียบัตรกว่า 13,000 คนที่เข้าเรียนในวิชาออนไลน์หรือที่แคมปัสมหาวิทยาลัย หรือเรียนผสมกันทั้ง 2 รูปแบบ

มหาวิทยาลัย MIT ได้พัฒนาระบบการเก็บเครดิต “MicroMasters” ที่ผู้เรียนสามารถเรียนวิชาออนไลน์ผ่านทาง edX.org เมื่อสอบผ่านจะได้ใบรับรอง MicroMasters จาก MIT และสามารถสมัครเรียนหลักสูตรมหาบัณฑิตเพื่อเก็บเครดิตที่เหลือให้ครบที่แคมปัสของ MIT หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำ

มหาวิทยาลัย VIT University ได้พัฒนาระบบการเก็บเครดิตการเรียนแบบยืดหยุ่น (Fully flexible credit system) โดยนักศึกษาสามารถเลือกลงทะเบียนวิชาตามความสนใจและตามความก้าวหน้าทางวิชาการของตนเอง

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน เช่น วิธีการเรียนแบบ Flipped Classroom หรือห้องเรียนกลับด้าน ที่ให้นักศึกษาเรียนออนไลน์ล่วงหน้าแล้วจึงมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในห้องเรียน บางมหาวิทยาลัยใช้วิธีการแบบ Interactive and Experiential Learning หรือการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ เช่น Case Western Reserve University ใช้เทคโนโลยี VR บนแพลตฟอร์ม HoloLens ของ Microsoft สำหรับการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ เป็นต้น ทิศทางเหล่านี้จึงกำลังกลายเป็นกระแสหลักของหลักสูตรในอนาคตซึ่งทุกมหาวิทยาลัยจะต้องคิดคำนึงและออกแบบหลักสูตรของตนเองใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

บทความตอนหน้าจะกล่าวถึงการปรับตัวของมหาวิทยาลัยที่จะต้องตอบโจทย์การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ความท้าทายทางสังคม และโมเดลรายได้ของมหาวิทยาลัย

โดย... 

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation