ใครคือผู้กำหนดนโยบายสาธารณะ ของชาติ ?

ใครคือผู้กำหนดนโยบายสาธารณะ ของชาติ ?

ใครคือผู้กำหนดนโยบายสาธารณะ ของชาติ ใครเป็นผู้กำหนดว่าจะใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ไปในทิศทางใด

 และใช้อะไรเป็นหลักการจัดสรรแบ่งปันไปในสัดส่วนใดที่เหมาะสม? ตอบได้ชัดๆเ ฉพาะคำถามสุดท้ายนี้ที่ถามว่า ใช้อะไรเป็นหลักการจัดสรรแบ่งปันไปในสัดส่วนใดที่เหมาะสม ขอตอบว่าต้องใช้หลักวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่มีวิชาเล่าเรียนกันถึง 4 ปีในมหาวิทยาลัย ต้องใช้หลักการในตำราที่ชื่อว่า นโยบายสาธารณะ ( Public Policy) ที่มีผู้เขียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆมากมายนับเป็นร้อยๆเล่มทั่วโลก

แต่ในความเป็นจริงคนที่จะเป็นผู้กำหนดว่าจะใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ของประเทศไทยให้ไปในทิศทางใด คือ “นักการเมือง” ผู้ที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาในระบอบประชาธิปไตยที่เราใช้กันมาตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาในปี 2475

ผลที่ผ่านมาตลอด 87 ปี ที่ถึงแม้จะมี ส.ส. ที่เป็นตัวแทนของประชาชนทั่วประเทศเข้ามาดูแลจัดสรรแบ่งปันงบประมาณให้แพร่กระจายความเจริญไปทั่วถึงทุกจังหวัด แต่ความเหลื่อมล้ำในความเจริญของเมืองหลวงและเมืองใหญ่ ก็ยังแตกต่างกันมากกับเมืองในต่างจังหวัด

แม้ต่อมาได้มีความพยายามที่จะกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เพิ่มอำนาจให้ประชาชน โดยมีสภาตำบล สภาจังหวัด ให้ประชาชนเลือกคนใกล้ตัว ใกล้ชิดในหมู่บ้าน ไปดูแลงบประมาณส่วนที่ท้องถิ่นได้ตัดสินใจจับจ่ายใช้สอยได้เอง 

ตามหลักคิดระบอบประชาธิปไตย ที่ว่าประชาชน ย่อมรู้ว่าต้องการอะไร และดูแลเงินของตัวเองได้ดีกว่าการหยิบยื่น จัดมาให้จาก ส.ส.ส่วนกลาง

แต่แล้วก็ปรากฎว่าสภาท้องถิ่น เอาเงินไปสร้างอะไรที่สูญเปล่าใช้งานไม่ได้เต็มไปหมด แม้แต่การดูแล จัดจ้างทำอาหารกลางวันให้นักเรียนลูกหลานตัวเอง ก็ดูแลไม่ได้

หากปรากฏเป็นความจริงเช่นนี้ ก็น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งเพราะการเรียกร้องให้มีประชาธิปไตย คือการมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ต้องมีต้นทุนแล้วมาเก็บคืนจากส่วนแบ่งจากงบต่างๆ

ด้วยเหตุที่ปรากฏมาเช่นนี้ เราจึงไม่ควรให้เพียง ส.ส. และสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นผู้ดูแลงบประมาณแผ่นดินอันเป็น เงินทองของชาติ แต่เพียงกลุ่มเดียว!

ต้องให้มีหลายๆ กลุ่มมาร่วมกันดูแลดังตัวอย่าง เช่นในประเทศสหรัฐ ซึ่งมีการใช้ระบอบประชาธิปไตยมายาวนานนั้น การเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบ ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการควบคุมดูแลรัฐบาล เพื่อให้การใช้เงินทุกบาททุกสตางค์โดยรัฐบาลนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง

เขาจะต้องมีกลุ่มอื่นๆ อีกรวมเป็น 5 ฝ่ายที่สำคัญที่จะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้เกิดนโยบายสาธารณะที่ดี นั่นก็คือ

(1) เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ ผู้ริเริ่มกำหนดนโยบายด้านต่างๆ

(2) ผู้วิเคราะห์นโยบาย เช่น สถาบันวิจัยต่างๆ กลุ่มของอาจารย์มหาวิทยาลัย

(3) สื่อมวลชน ซึ่งต้องทำหน้าที่ติดตามรายงานข่าว เกี่ยวกับนโยบายของรัฐฯ ให้เป็นที่สนใจของประชาชน

(4) ภาคประชาสังคม องค์กรต่างๆ

(5) ส.ส. และพรรคการเมือง

ในทั้ง 5 ส่วนนี้ ส่วนพรรคการเมืองของประเทศไทยจะมีปัญหามากที่สุด ที่ผ่านมา พรรคบางพรรคดูแลประโยชน์เฉพาะให้กับจังหวัด และเขตเลือกตั้งของตน

ซึ่งก็ยังนับว่าดีกว่า หลายพรรคที่ดูแล แค่ให้มีเงินจากโครงการของรัฐฯ ไหลมาเข้ากระเป๋าเงิน ของพรรค

มีเรื่องเล่าขานกันอย่างเปิดเผยในสื่อ เช่นที่นายเสนาะ เทียนทอง เคยเปิดเผยว่า มีผู้ใหญ่ในพรรคบอกว่า การเมืองต้องใช้เงิน จึงต้องช่วยกันหาเงินเข้าพรรคกันด้วย โดยหัก 10% จากเงินทุกโครงการที่เสนอเข้าพรรค

และมีจากคำบอกเล่าจากคนที่ผมรู้จักในพรรคที่หัวหน้าพรรคเสียชีวิตไปแล้ว วิธีการในอีกพรรคหนึ่งซึ่งเก่าแก่กว่าพรรคแรกที่นายเสนาะ เทียนทอง เล่า ก็ได้ความทำนองเดียวว่า : พรรคขอให้ ส.ส. ของพรรคช่วยเสนอโครงการมาให้พรรค เขียนมาสั้นๆใน 1 หน้ากระดาษ แต่ที่สำคัญตรงบรรทัดสุดท้าย ต้องบอกว่า พรรคจะได้เงินเท่าไรจากโครงการนี้ !

นี่เป็นเรื่องในอดีต หวังว่ารัฐบาลใหม่ ส.ส. ใหม่ ตามรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับปราบโกง จะได้เปลี่ยนแปลง มาดูแลนโยบายสาธารณะเพื่อสาธารณะส่วนรวมจริงๆเสียที

โดย...

รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค 

กลุ่มมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล