ค่าโง่ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

ค่าโง่ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

มีผู้รวบรวมสถิติที่รัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายให้คู่สัญญาตามโครงการต่างฯของรัฐ ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

ที่เรียกกันว่าเสีย ค่าโง่หลายคดี วงเงินหลายหมื่นล้านบาท

เมื่อรัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายให้คู่สัญญา ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่เรียกว่าเสียค่าโง่ดังกล่าว ก็มีเสียงเรียกร้องให้รัฐ ยกเลิกพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และเสนอว่าในการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของรัฐกับเอกชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ไม่ต้องมีข้อความหรือข้อกำหนดให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ แต่ให้ฟ้องร้องที่ศาลตามปกติ เพราะรัฐเสียเปรียบมาตลอด

กระบวนการระงับข้อพิพาทโดย อนุญาโตตุลาการคือการที่คู่สัญญาตกลงกันให้บุคคล หรือคณะบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการพิจารณาระงับ ข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นหรือที่จะเกิดขึ้นนอกศาล โดยคู่สัญญาตกลงกันไว้ในสัญญาหลัก หรือทำสัญญาย่อยแยกต่างหากก็ได้ ซึ่งเป็นที่นิยมกันในการทำสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ สัญญารับขน สัญญาประกันภัยและสัญญาอื่นฯที่คู่สัญญา เห็นสมควรกำหนดให้มีการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ

สำหรับสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ หรือการจัดซื้อจัดจ้างที่รัฐเปิดประมูลระหว่างประเทศนั้น รูปแบบของสัญญาที่เป็นสากลจะกำหนดให้มีการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ นอกจากนี้ในสนธิสัญญาบางอย่าง เช่นสนธิสัญญาคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ และความตกลงเขตการค้า เสรี ก็มีบทบัญญัติ กำหนดว่าข้อพิพาทจากการตีความหรือการใช้สนธิสัญญาหรือความตกลง หากไม่สามารถระงับได้ในระดับรัฐที่เป็นภาคีก็ให้เสนอระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น การที่มีผู้เสนอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จึงมีความเป็นไปไม่ได้เลย เพราะหากยกเลิก ก็จะทำให้ไทยมีปัญหา ไม่มีกฎหมายรองรับการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ที่เป็นที่นิยมปฏิบัติกันอยู่ในการประกอบธุรกิจการค้าระหว่างเอกชนต่อเอกชน ทั้งภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ

ส่วนการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ อาจตัดข้อความการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการออกก็ได้ แต่ก็ต้องโดยความเห็นพ้องต้องกันของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ซึ่งถ้าอีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยก็คงตัดออกไม่ได้ เว้นแต่เป็นกรณีอำนาจต่อรองอยู่ที่รัฐ และมีอำนาจต่อรองสูง แต่ถ้าเป็นธุรกรรมที่อยู่ภายใต้สนธิสัญญาหรือความตกลงเขตการค้าเสรี ที่มีบทบัญญัติให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ ก็คงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การที่รัฐแพ้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการมากมายหลายคดี จนเรียกว่าเสียค่าโง่นั้น ทางแก้คงต้องพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางแก้ไข ที่แพ้คดีคงไปโทษเพราะระบบอนุญาโตตุลาการทำให้รัฐเสียเปรียบไม่ได้ แต่น่าจะเป็นเพราะปัจจัยต่างฯตามที่มีผู้รวบรวมไว้คือ ผู้มีอำนาจในการทำสัญญาโง่จริง และโง่โดยเจตนาให้รัฐเสียเปรียบ การต่อสู้คดีชั้นอนุญาโตตุลาการ ผู้รับผิดชอบในการสู้คดีไม่มีความรู้ความสามารถ หรือสู้ผิดประเด็น หรือไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามแม้จะแพ้ในชั้นอนุญาโตตุลาการก็ยังมีโอกาสสู้ในชั้นศาล.

เนื่องจาก คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่มีสภาพบังคับด้วยตนเอง ผู้ชนะคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ หากประสงค์จะให้มีคำบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ต้องยื่นคำขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ให้มีคำพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ศาลที่มีเขตอำนาจคือศาลปกครอง ถ้าข้อพิพาทนั้นเกิดขึ้นตามสัญญาทางปกครอง คือสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐและมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงหาจากประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศสำหรับข้อพิพาทที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง

สำหรับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศ ศาลไทยจะมีอำนาจพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดได้ ถ้าคำชี้ขาดนั้นอยู่ในบังคับของอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ(อนุสัญญากรุงนิวยอร์ก )ที่ไทยเป็นภาคีสมาชิก ในทางกลับกัน คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ไทยแพ้คดี คู่ความที่ชนะคดีสามารถยื่นคำขอต่อศาลในประเทศอื่นที่เป็นสมาชิกอนุสัญญาให้พิพากษาบังคับให้ไทยปฏิบัติตามคำบังคับก็ได้

ในชั้นศาล รัฐยังสามารถคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดได้ตามมาตรา40 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ถ้าศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ รัฐก็ไม่ต้องเสียค่าโง่ตามคำชี้ขาดนั้น นอกจากนี้ในชั้นที่ผู้ชนะคดีตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการยื่นคำของต่อศาล ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาด ก็ยังสามารถสู้คดีเพื่อให้ศาลทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ว่าคำชี้ขาดนั้นจะทำขึ้นในประเทศใด ตามมาตรา43 พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ถ้าสู้คดีจนศาลปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาด รัฐก็ไม่ต้องเสียค่าโง่เช่นกัน

  ข้อสังเกต สำหรับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งได้กระทำขึ้นในต่างประเทศ ไม่สามารถยื่นคำขอให้ศาลไทย เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นได้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่2952 /2560 ที่วินิจฉัยว่า การร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งได้กระทำขึ้นในต่างประเทศ ต้องร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจในประเทศที่คำชี้ขาดได้กระทำขึ้น สอดคล้องกับบัญญัติแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ซึ่งบัญญัติให้การเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นอำนาจเฉพาะของเจ้าหน้าที่หรือองค์กรที่มีอำนาจในประเทศที่มีการชี้ขาด