ภารกิจกระจายถือครองที่ดิน ลดความยากไร้ เพิ่มความมั่นคง

ภารกิจกระจายถือครองที่ดิน  ลดความยากไร้ เพิ่มความมั่นคง

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นตามประกาศพระราชกฤษฎีกาเมื่อปี 2554

ได้ลงสำรวจพื้นที่เป้าหมายในการจัดทำโครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร ณ แปลงที่ดินหมู่ที่ 8 บ้านเวียงกือนา ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย พื้นที่ดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 69 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่รกร้างไม่มีการใช้ประโยชน์ และเกษตรกรได้รวมกลุ่มทำเรื่องร้องขอมายัง บจธ.เพื่อให้นำเข้าโครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการการกระจายการถือครองที่ดิน โดย บจธ.จะเข้าไปสำรวจความเหมาะสมของที่ดินที่จะนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ต่อไปตามเงื่อนไข ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการกระจายการถือครองที่ดินให้มีความเป็นธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ประชาชนในทุกกลุ่ม

บจธ.ต้องลงพื้นที่เพื่อสำรวจก่อนว่าที่ดินแปลงนี้มีความเหมาะสมที่จะทำโครงการหรือไม่ ต้องพิจารณาว่ามีสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะนำมาทำการเกษตรตามที่เกษตรกรได้วางแผนจะใช้ประโยชน์ที่ดินหรือไม่ และเป็นไปอย่างที่ชาวบ้านต้องการหรือไม่ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสม ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องให้เกษตรกรทำโครงการเสนอขึ้นมาว่าจะมีแผนการทำเกษตรอย่างไร จะปลูกพืชอะไร มีแผนการตลาดอย่างไร และจะรวมกลุ่มกันในรูปแบบไหน อย่างไร ซึ่ง บจธ.ก็จะต้องมาพิจารณาว่าจะมีการจัดแปลงรายย่อยให้แต่ละรายอย่างไร ใช้เนื้อที่คนละเท่าไร รวมทั้งการจัดสรรเกษตรกรลงแปลงด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าและสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างแท้จริง

หากประเมินแล้วมีแนวโน้มที่จะสามารถทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จได้ บจธ.จึงจะเข้าไปเป็นตัวกลางในการเจรจากับเจ้าของที่ดินเพื่อซื้อที่ดิน และนำมาจัดสรรด้วยวิธีเช่าซื้อให้กับเกษตรกรได้นำใช้ประโยชน์ต่อไปตามเงื่อนไข

การลงสำรวจพื้นที่เป้าหมายใน จ.เชียงรายครั้งนี้ บจธ.ยังได้นำตัวแทนเกษตรกรและผู้นำกลุ่มไปเยี่ยมชมและเรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการที่ดินของกลุ่มเกษตรบ้านเมืองรวง หมู่ 5 ต.แม่กรณ์ อ.เมือง จ.เชียงราย ที่แต่เดิมเคยทำเกษตรแบบใช้สารเคมี แต่ภายหลังเกษตรกรได้รวมกลุ่มกันและหันมาทำเกษตรอินทรีย์จนประสบความสำเร็จ สามารถประหยัดรายจ่ายและสร้างรายได้เพิ่มให้กับครอบครัวได้อย่างมั่นคง เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผู้ประสงค์ใช้ประโยชน์ที่ดินของ บจธ. ได้เรียนรู้เป็นแนวทาง นำกลับไปเขียนเป็นแผนหรือโครงการเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเหมาะสมและชัดเจนต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร บจธ.จะติดตามดูแลการใช้ประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกรให้เป็นไปตามเงื่อนไข เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่ายว่าจะได้รับความเป็นธรรมและได้รับประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ บจธ.ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ต้องการใช้ประโยชน์ในที่ดินกับเจ้าของที่ดินที่ปล่อยทิ้งรกร้าง หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ โดยจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทุนเพื่อการประกอบอาชีพการเกษตร ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และมีส่วนงานที่ทำหน้าที่คัดกรองที่ดินและกลุ่มเกษตรกรที่มีคุณภาพให้ตรงกับความต้องการของทั้งสองฝ่าย พร้อมติดตามดูแลการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เป็นไปตามเงื่อนไข เพื่อความมั่นใจว่าทุกฝ่ายจะได้รับความเป็นธรรม และได้รับประโยชน์สูงสุด

สำหรับโครงการต้นแบบนี้จะสนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ได้รับอย่างเหมาะสม และประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยเริ่มต้นเกษตรกรจะต้องรวมกลุ่มในรูปแบบของสถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีรายชื่อและจำนวนสมาชิกที่ชัดเจน โดยจะต้องมีเป้าหมายหลักในการกระจายการถือครองที่ดินให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน

กล่าวคือจะต้องมีแผนงานที่ชัดเจนในการจะใช้ประโยชน์และจัดสรรที่ดินให้กับสมาชิกในกลุ่ม ซึ่ง บจธ.จะมีหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยในเบื้องต้น บจธ.จะเป็นผู้ลงสำรวจพื้นที่ตรวจสอบความเหมาะสมในการใช้ที่ดินสำหรับเป็นที่ทำกิน ดูความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมในการผลิตต่างๆ ซึ่งหากพิจารณาแล้วผ่าน ก็จะเข้าสู่กระบวนการต่างๆ เพื่อจัดซื้อที่ดินต่อไป

นอกจากการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเสนอโครงการ จัดทำข้อมูลวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ และจัดหาที่ดินให้แก่เกษตรกรตามเป้าหมายแล้ว ในโมเดลนี้ยังสนับสนุนการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน และสร้างอาชีพที่มั่นคงแก่เกษตรกรด้วยการส่งเสริมอาชีพด้วย โดย บจธ.ได้ร่วมกับ 15 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินการส่งเสริมด้านอาชีพ ดูแลกระบวนการผลิตไปจนถึงการตลาด ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินโครงการใน 4 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ชุมชนน้ำแดงพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ชุมชนใน ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย และชุมชนใน จ.นครศรีธรรมราช 

สำหรับเกษตรกรและผู้ยากจนที่ต้องการรับการช่วยเหลือเงินสินเชื่อดังกล่าว สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.labai.or.th หรืออีเมล [email protected] หรือโทรติดต่อได้ที่ โทร.02-278-1244, 02-278-1648 ต่อ 601, 602, 610 และ 09-2659-1689

โดย... 

ขจรศักดิ์ เจียรธนากุล

ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)