เมื่อฟ้าฝนไม่เป็นใจ แต่เกษตรกรไทยยังมีความหวัง

เมื่อฟ้าฝนไม่เป็นใจ แต่เกษตรกรไทยยังมีความหวัง

ประเมินว่าหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศน่าจะยังมีโอกาส Outperfor

ปลายเดือน มี.ค 2562 ที่ผ่านมา ผมเคยเขียนบทความเรื่องปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่จะทำให้ปริมาณน้ำฝนในภูมิภาคเอเชียลดต่ำลงกว่าระดับปกติ ว่าอาจจะเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยหากรัฐบาลใหม่สามารถบริหารจัดการน้ำสำหรับการเกษตรได้ดี ทั้งนี้อ้างอิงจากงานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (Cashin P et al., 2015, Fair Weather or Foul? The Macroeconomic Effects of El Niño, IMF Working paper) พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว หลังการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหรือ GDP สูงขึ้นต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดๆกัน (ผลจากเงินเฟ้อ ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้น) อย่างไรก็ดีผลของปรากฏการณ์เอลนีโญเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาอาจไม่ได้ส่งผลบวกต่อเกษตรกรเต็มที่ดังเช่นสถิติในอดีตและที่ผมคาดหวังไว้เมื่อตอนเขียนบทความปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยสถานการณ์ในขณะนี้ อาจไม่เป็นใจมากนัก แม้ว่าจะผ่านพ้นปรากฏการณ์เอลนีโญไปแล้วก็ตาม ขณะนี้สภาพภูมิอากาศของโลกเป็นสถานการณ์ปกติ อ้างอิงจาก ข้อมูลการพยากรณ์ของ หน่วยงานที่ออสเตรเลีย (Bureau of Meteorology) ที่ประเมินว่าสภาพภูมิอากาศโลกกลับสู่ระดับปกติแล้ว ขณะที่หน่วยงานที่สหรัฐฯ (Climate Prediction Center) ประเมินว่าสภาพภูมิอากาศของโลกจะกลับสู่ระดับปกติในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า  แต่ล่าสุดปริมาณน้ำในเขื่อนหลักๆของไทยหลายแห่งอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ระดับน้ำเก็บกักในเขื่อนอยู่ในระดับใกล้เคียง หรือ บางแห่งต่ำกว่าระดับน้ำเก็บกักในปีที่เกิดวิกฤตภัยแล้งครั้งรุนแรงเมื่อปี 2558-59 อย่างไรก็ดี ข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดัชนีรายได้เกษตรกร 1Q62 ปรับตัวขึ้น +2.15% YoY และชะลอตัวลงเล็กน้อยในเดือน เม.ย. ก่อนที่จะปรับขึ้นต่อเนื่องในเดือน พ.ค.-มิ.ย. โดยสาเหตุหลักมาจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้น แม้ว่าดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรจะชะลอตัวลงก็ตาม จากข้อมูลดังกล่าวยังพอสรุปได้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรไทยในช่วง 2Q62 ที่ผ่านมายังพอจะมีรายได้ที่ดีขึ้น 

ผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ราคาข้าวเปลือกในตลาดโลก (ตลาด CBOT) ปรับขึ้นมาแล้ว +20% YTD หรือ เปรียบเทียบราคา ณ สิ้นปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการคาดการณ์ของนักลงทุนในตลาดฯ ว่าปริมาณผลผลิตข้าวในตลาดโลกจะลดลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เพาะปลูก อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญนั่นเอง อย่างไรก็ดี ดังที่ผมได้ให้ข้อมูลไว้ตอนต้นของบทความนี้ว่า สถานการณ์ตอนนี้ เรากำลังจะผ่านพ้นปรากฏการณ์เอลนีโญที่เป็นสาเหตุของภัยแล้งแล้ว ดังนั้นประเด็นนี้จึงตกเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องบริหารจัดการน้ำให้เกษตรกรสามารถประคับประคองผลผลิตทางการเกษตรให้พ้นวิกฤตนี้ ในสถานการณ์ที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ แม้จะมีฝนตกมากในหลายพื้นที่แต่กลับไม่ตกในพื้นที่กักเก็บน้ำ ให้เกษตรกรได้ใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกในช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับสูงขึ้น

กลับมาที่ภาพรวมตลาดหุ้นไทย ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงเรื่อง กำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานรากในขณะนี้ ผมประเมินว่า รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเร่งด่วน มาช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากหลังจากการแถลงนโยบายเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อในประเทศยังทรงตัวต่อเนื่องไปได้ใน 2H62 นี้ นอกจากนี้ หากวิเคราะห์จากข้อมูลที่หน่วยงานต่างๆ ออกมายืนยันว่า สภาพภูมิอากาศของโลกพ้น หรือ กำลังจะพ้นปรากฏการณ์เอลนีโญแล้ว น่าจะเป็นข่าวดีที่เกษตรกรไทยตั้งความหวังไว้ คือ ฝนน่าจะกลับมาเริ่มตกตามฤดูกาล

ดังนั้นผลประเมินว่าหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ เช่น กลุ่มค้าปลีก, กลุ่มเช่าซื้อ, กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น น่าจะยังมีโอกาส Outperform ตลาดฯ ได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นที่มีการพักฐานแล้วในช่วงที่ผ่านมา หรือยัง Laggard ตลาดอยู่ อาทิ ROBINS, GLOBAL เป็นต้น สาเหตุที่ผมพยายามหยิบยกหุ้นที่ยัง Laggard มาพูดถึง เนื่องจากผมประเมินว่าดัชนี SET index น่าจะเริ่มตึงตัว และมี Upside ที่จำกัด หลังจาก Forward PE ในปัจจุบันที่สูงถึงราว 16.5 เท่า (ระดับ Forward PE สูงสุดในอดีตจะอยู่ที่ราว 17.5 - 18.0 เท่า) ทำให้ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นไทย น่าจะเข้าสู่การ Sideway และนักลงทุนจะเริ่มเปลี่ยนตัวเล่น จากหุ้นที่ Outperform ตลาดฯมาก ในช่วงที่ผ่านมา มายังหุ้นที่ยังมีพื้นฐานที่ดี แต่ยัง Laggard