อเมริกาพบทางสายกลาง

อเมริกาพบทางสายกลาง

ย้อนไปเมื่อปี 2555 คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 8 มิ.ย. พูดถึงแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นแนวหน้าโจเซฟ สติกลิตส์ และ เจฟฟรี่ แซคส์

ซึ่งมีทั้งความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทั่วโลก ประสบการณ์นั้นเป็นปัจจัย ทำให้ทั้ง 2 มองว่า การพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวคิดกระแสหลักประสบปัญหาจนไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน คอลัมน์นี้สรุปว่าทางออกที่โจเซฟ สติกลิตส์เสนอเมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ยังอยู่ในกรอบของแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก ส่วนเจฟฟรี่ แซคส์ ได้เสนอทางออกไว้ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งมองได้ว่าเป็นทางเดียวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเพราะยึด “ทางสายกลาง” เป็นแกน ข้อเสนอของเขาอยู่ในบทที่ 9 ของหนังสือชื่อ The Price of Civilization

ผู้อ่านคอลัมน์นี้คงทราบว่า ผมสรุปมานานแล้วเช่นกันว่า แนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักพบทางตัน ในการค้นคว้าหาทางออก นอกจากจะติดตามงานของทั้ง 2 คนนั้นแล้ว ผมยังพยายามศึกษาแนวคิดต่างๆ พร้อมทั้งลงสนามเพื่อทำความเข้าใจการใช้แนวคิดในระดับชุมชนมาจนกระทั้งทุกวันนี้อีกด้วย จากการศึกษา ผมสรุปว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง ร. 9 คือทางออก จึงได้พยายามนำมาเผยแพร่ด้วยวิธีต่าง ๆ รวมทั้งในหนังสือชื่อ เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จซึ่งพิมพ์ในช่วงงานถวายพระเพลิงพ่อหลวง (ดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.banareader.com)

สำหรับการใช้แนวคิดดำเนินชีวิตในระดับชุมชน ผมศึกษาเรื่องราวของชาวอามิชเป็นพิเศษและได้นำความเข้าใจมาเขียนเป็นหนังสือชื่อ อเมริกาที่ยังใช้ม้าเทียมไถ (ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ดังกล่าว) ชาวอามิชนับถือศาสนาคริสต์และมีแนวคิดพื้นฐานว่า จะไม่รับเทคโนโลยีใหม่เริ่มจากการประดิษฐ์เครื่องจักรกลเป็นต้นมา ฉะนั้น พวกเขาจึงไม่ใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ ในบ้านใช้ตะเกียงลานและเตาฟืน ไม่มีเครื่องใช้ดิจิทัล ไปไหนมาไหนด้วยรถม้าและไถไร่ไถนาโดยการใช้ม้าและล่อลากไถ พวกเขาอยู่กระจัดกระจายในชนบทเป็นกลุ่มๆ ละราว 35 ครอบครัวโดยการพึ่งพาอาศัยกันและยึดเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ชีวิตของชาวอามิชดูจะสงบสุข แต่ผมมองว่าการปฏิเสธเทคโนโลยีเช่นนั้นเป็นการคิดแบบตกขอบทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีมีประโยชน์มากหากใช้อย่างรู้เท่าทันและบนฐานของคุณธรรม

ล่าสุด ผมเพิ่งไปดูชุมชน ต้นโอ๊คคู่” (Twin Oaks) ซึ่งผมได้ศึกษาจากเอกสารมานานแล้ว ชุมชนนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 2510 ในชนบทห่างไกลในตอนกลางของรัฐเวอร์จีเนีย โดยชาวอเมริกันกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งมองว่ามีหนทางดีกว่าการดำเนินชีวิตตามกระแสอเมริกันอันมีการแข่งขันและการบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดเป็นตัวขับเคลื่อน หลังจากได้ลองผิดลองถูกและบางครั้งแทบคลุกคลานมากว่า 50 ปี ชุมชนนี้มีความมั่นคงแล้ว ในขณะนี้มีสมาชิก 100 กว่าคนซึ่งเป็นเด็กราว 10% และได้ขยายพื้นที่จากราว 275 ไร่เป็นกว่าพันไร่เพื่อใช้ทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานและเก็บเกี่ยวต้นไม้ นอกจากนั้น พวกเขายังผลิตสินค้าบางอย่างขายเพื่อนำกำไรมาใช้ซื้อหาสินค้าและบริการที่พวกเขาผลิตเองไม่ได้ เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ สินค้าหลักของเขาได้แก่เปลญวน เต้าหู้และผลิตภัณฑ์เกษตรรวมทั้งเมล็ดพันธุ์อินทรีย์

ชุมชนต้นโอ๊คคู่เป็นหนึ่งในชุมชนทางเลือกนับพันซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั้งในเมืองและในชนบทห่างไกลในสหรัฐ แต่ละชุมชนมีหลักการพื้นฐานของตนเองซึ่งอาจอิงศาสนาคริสต์ตามแนวของชาวอามิช หรืออาจเป็นอย่างอื่น หลักการพื้นฐานของชุมชนต้นโอ๊คคู่ได้แก่ความร่วมมือกัน การเท่าเทียมกัน การแบ่งปันกัน การยึดสันติวิธีและการมุ่งสู่ความยั่งยืน ตามหลักการนี้ การบริหารกิจการของชุมชนจึงเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยพื้นฐานซึ่งสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมโดยตรงในการแสวงหามติของชุมชนและทุกคนเลือกปฏิบัติตามหลักศาสนาของตนเอง อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ผมฟังการบรรยายและการพาชมกิจการของชุมชนนั้น วลีที่ออกจากปากของตัวแทนของชุมชนหลายครั้งได้แก่ ทางสายกลาง

สองตัวอย่างที่อ้างถึงชวนให้คิดว่า อเมริกาได้พบแล้วว่าทางสายกลางคือทางออกของโลกปัจจุบัน ฉะนั้น ไทยไม่ต้องรอเดินตามฝรั่ง เรารู้จักทางสายกลางก่อนเขา แต่เสียตรงที่เรายังไม่ปฏิบัติอย่างจริงจังเท่านั้น