ลงทุนอย่างไรในช่วงครึ่งปีหลัง

ลงทุนอย่างไรในช่วงครึ่งปีหลัง

นยามที่ตลาดปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 170 จุดตั้งแต่ต้นปี มาอยู่ที่บริเวณ 1,735 จุดในปัจจุบัน

 นักลงทุนหลายคนอาจเริ่มกังวลว่าตลาดปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับที่แพงไปแล้วหรือยัง และควรจัดสรรการลงทุนอย่างไรดี ซึ่งยิ่งตลาดปรับขึ้นมามากเท่าไหร่ จะมีนักลงทุนส่วนหนึ่งที่ต้นทุนต่ำที่พร้อมขายทำกำไรได้ทุกเมื่อ ดังนั้นความผันผวนในการลงทุนย่อมมากขึ้นเท่านั้น นักลงทุนจึงควรจัดพอร์ตการลงทุนอย่างระมัดระวัง โดยมีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เพื่อผลตอบแทนที่ดีในความเสี่ยงที่เหมาะสม

ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มกลับทิศทางเป็นขาลง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ  เริ่มส่งสัญญาณที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1-2 ครั้งในปีนี้ และอีก 1 ครั้งในปีหน้า แน่นอนว่าสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ตราสารหนี้ ที่หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง แม้ความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้ของตราสารเท่าเดิม แต่จะทำให้ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ย่อมลดลงด้วย นอกจากหนี้ กองทุนตราสารหนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายใหม่โดยกระทรวงการคลังจะเริ่มการจัดเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ 15% จากเดิมที่ไม่มีการเรียกเก็บภาษีจากรายได้ดอกเบี้ยของกองทุน มีเพียงการเรียกเก็บภาษีเงินปันผล 10% เท่านั้น ในขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงโดยไม่ผ่านกองทุนรวม เดิมจะถูกหักภาษีดอกเบี้ย 15% กฎหมายใหม่ที่ออกมานี้เพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในการลงทุน และจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2019 เป็นต้นไป ดังนั้น นักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมย่อมจะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำลงจากการเก็บภาษีตรงนี้ด้วย

หากนักลงทุนต้องการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น (Search for Yield) การลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infra Fund) ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ ถึงแม้ว่าการลงทุนใน REITS และ Infra Fund จะมีความเสี่ยงในการลงทุนสูงกว่า เนื่องจากผลตอบแทนเงินปันผลขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของทรัพย์สินในกองทุน ไม่ว่าจะเป็น นิคมอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า เสาโทรคมนาคม โรงไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งกระแสเงินสดจะมีความผันผวนมากกว่าตราสารหนี้ทั่วไป ทว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนเฉลี่ยอยู่ในระดับ 4-6% ถือเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงและน่าพอใจ เมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่อยู่ที่ 1.5 - 3% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก่อนลงทุน นักลงทุนควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินของกอง ที่มาของรายได้ ความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน (Leasehold หรือ Freehold) และนโยบายการจ่ายผลตอบแทนของกองทุน เนื่องจาก REITs และ Infra fund แต่ละกอง จะมีลักษณะและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน

นอกจากตราสารหนี้ REITs และ Infra Fund แล้ว หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลังค่อนข้างสูง ซึ่งนักลงทุนควรมีสัดส่วนการลงทุนจำนวนหนึ่งในหุ้นเช่นกัน  ภาพในระยะสั้น เมื่อพิจารณาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ ผลประกอบการน่าจะยังไม่ดีเท่าไรนัก เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว อีกทั้งไตรมาส 2 มีช่วงเทศกาลและวันหยุดยาวค่อนข้างมาก ธุรกิจมีวันทำงานน้อยลง และยังเป็นช่วงโลว์ซีซันของการท่องเที่ยว ทำให้กำไรรวมน่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ประกอบกับตลาดที่ขึ้นระยะหนึ่งทำให้ค่าพีอีของหุ้นอาจจะดูสูงไปบ้าง แต่หากพิจารณาว่า หลังจากรัฐบาลชุดใหม่เริ่มปฏิบัติงาน และเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ได้เสนอประชาชนไว้ตอนหาเสียง เช่น นโยบายการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นโยบายมารดาประชารัฐ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ รวมไปถึงการผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น รถไฟฟ้า ทางด่วน สนามบิน เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในช่วงนี้น่าจะกระเตื้องขึ้น ช่วยผลักดันภาพของกำไรบริษัทจดทะเบียนให้ดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 ไปจนถึงปีหน้า ที่น่าจะเห็นกำไรเติบโตได้ในระดับ 8-10% จากปีนี้ ซึ่ง ณ ระดับ SET index 1,735 จุด คิดเป็นค่าพีอีปี 2020 ในระดับประมาณ 15.1 เท่า ยังเป็นระดับที่ไม่แพงสำหรับการลงทุนระยะยาว

อีกสินทรัพย์หนึ่งที่ปรับตัวขึ้นมาร้อนแรงเช่นกันในปีนี้ นั่นคือ ทองคำ ที่ปรับตัวขึ้นมากว่า 11% ตั้งแต่ต้นปี และคาดว่าแนวโน้มราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ต่อ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาฯ กับประเทศอื่นๆ ในหลายภูมิภาคทั่วโลก เช่น จีน รัสเซีย และตะวันออกกลาง ดังเช่น อิหร่าน ทำให้ประเทศเหล่านี้เลือกที่จะเก็บเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปทองคำมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ความต้องการของทองคำมีมากขึ้น จึงผลักดันราคาทองคำให้สูงขึ้น และด้วยการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ มีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์อื่นค่อนข้างต่ำหรือในทิศทางตรงกันข้าม ทำให้การกระจายการลงทุนส่วนหนึ่งมาอยู่ในทองคำ จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนได้นั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีสินทรัพย์ทางเลือก ได้แก่ เงินสกุลดิจิตัล (Cryptocurrency) ที่เป็นเงินเสมือน บนระบบ Blockchain โดยสกุลที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ บิทคอยน์ (Bitcoin) โดยได้ปรับตัวขึ้นมากว่า 170% แล้วตั้งแต่ต้นปี หากนักลงทุนต้องการกระจายความเสี่ยงออกจากสินทรัพย์เดิมๆ เงินสกุลดิจิตอลก็เป็นอีก 1 ทางเลือกให้แก่นักลงทุนได้เช่นกัน แต่เงินสกุลดิจิตัลเกือบทุกสกุล มีการเคลื่อนไหวผันผวนสูงมาก จึงเหมาะกับนักลงทุนประเภทรับความเสี่ยงสูงได้เท่านั้น

จะเห็นว่าในทุกสภาวะตลาด มักมีสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอีกประเภทหนึ่ง ดังนั้นการเลือกและจัดสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทในเวลาที่เหมาะสม จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้นั่นเอง