ปฏิรูปงบประมาณระบบสาธารณสุขอย่างไรดี

ปฏิรูปงบประมาณระบบสาธารณสุขอย่างไรดี

คิดเรื่องนี้มานานแล้วว่า ถ้าจะปฏิรูประบบสาธารณสุขก็คงมีแค่ 2 เรื่องใหญ่ คือ โครงสร้างและระบบบริหารจัดการ

โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณของทั้งระบบ และเห็นด้วยกับท่านนายกรัฐมนตรีที่ยืนยันว่าไม่ยกเลิกบัตรทองแน่นอน แล้วลงท้ายว่าอยากให้ 3 องค์กรคือ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ปรึกษากันเรื่องงบประมาณสำหรับสาธารณสุข

ส่วนตัวนั้นเห็นด้วยกับท่านนายกฯ เพียงแต่ภารกิจขององค์กรทั้ง 3 น่าจะมีการปฏิรูปปรับเปลี่ยน เพื่อไม่ให้มีการทับซ้อนกัน และส่งเสริมสนับสนุนกันเพื่อให้ระบบสาธารณสุขของเราแข็งแรงยิ่งขึ้น ให้บริการประชาชนได้เต็มศักยภาพ เพราะถ้าประชาชนแข็งแรง ประเทศชาติก็แข็งแรงด้วย

ประการที่หนึ่ง...อยากให้ กระทรวงสาธารณสุขเป็นแม่ข่ายใหญ่ เป็นเสาหลักของระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขได้ชื่อว่าเป็นกระทรวงที่มีข้าราชการระดับครีมของประเทศ เพราะคนที่จะสอบเข้าเรียนเป็นแพทย์ สาธารณสุข วิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น ต้องถือว่าเป็นระดับท็อปของประเทศตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ถ้าข้าราชการสาธารณสุขทำงานได้เต็มที่เต็มศักยภาพ น่าจะขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขของประเทศให้ก้าวไกลไม่น้อยหน้าใคร

ประการที่สอง...อยากให้องค์กรสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นองค์กรขับเคลื่อนเชิงสนับสนุนระบบสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข เพราะการเป็นองค์กรรัฐที่ไม่เป็นราชการย่อมมีความคล่องตัวมากกว่าระบบราชการ อีกทั้งเจ้าหน้าที่และพนักงานองค์กร แท้จริงก็คือแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่แตกมาจาก กระทรวงสาธารณสุข จึงเชื่อมั่นว่า สมอง สติปัญญาของคนในองค์กร สปสช. ไม่เป็นรองใคร ถ้างานขององค์กรเน้นส่งเสริมสนับสนุนองค์กรหลัก ย่อมทำให้ระบบสาธารณสุขของเราแข็งแกร่งขึ้น

ประการที่สาม...อยากให้ สสส. เป็นอีกองค์กรที่สนับสนุน กระทรวงสาธารณสุข โฟกัสที่งานวิชาการ วิเคราะห์ วิจัย ประสานหน่วยงานเอกชน องค์กรเอกชนเพื่อการพัฒนา ประสานกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

ถ้าสามองค์กรหลักทำงานประสานกันได้ดี เชื่อว่าระบบสาธารณสุขของเราจะอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศกำลังพัฒนาอย่างแน่นอน ถึงแม้จะมีข่าวว่าประชาชนจำนวนหนึ่งมารวมตัวกันคัดค้านการแก้ไขร่าง พรบ.แก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เท่าที่ปรากฏจากข่าว ส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการกลัวเรื่องยกเลิกบัตรทอง เกรงว่าจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนที่เคยได้รับ

จริงๆ เรื่องนี้ ท่านนายกฯก็ยืนยันว่าไม่มีการยกเลิก แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งมีความไม่มั่นใจ เพราะแม้ว่านายกฯจะให้คำมั่น แต่ยังมีการเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมีความกังวลว่าการเพิ่มจำนวนกรรมการที่มาจากโรงพยาบาลจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบประกันสุขภาพ เพราะน่าจะเป็นกรรมการที่อยู่ในฝ่ายผู้ให้บริการ และจะไม่ให้ความสำคัญกับผู้รับบริการเพียงพอ

เรื่องนี้ต้องประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจมากกว่านี้ว่ากรรมการจำนวน 5 หรือ 7 คนที่เพิ่ม แม้มาจากแพทย์โรงพยาบาล แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเข้ามาทำให้คณะกรรมการเอียงไปในข้างผู้ให้บริการเสมอไป เชื่อว่าแพทย์โรงพยาบาลที่เข้ามาเป็นกรรมการจะต้องผ่านการคัดสรรว่าเป็นผู้มีประสบการณ์จริงจากการทำงานเพื่อตอบสนองผู้รับบริการ พวกเขาจะรู้ดีถึงจุดอ่อนจุดแข็งของระบบบริการทั้งฝ่ายผู้ให้บริการและผู้รับบริการมากกว่ากรรมการที่ไม่ได้มาจากคนที่ทำงานบริการด้วยซ้ำ

ยิ่งกว่านั้น และที่สำคัญ คือต้องให้ประชาชนเข้าใจว่า ผู้รับบริการตามสิทธิประกันสุขภาพไม่ได้เสียสิทธิที่เคยได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้ยากไร้ที่ขึ้นทะเบียนคนจน จะได้รับการดูแลมากขึ้น ถ้ามีการร่วมจ่ายจากผู้ที่มีคุณสมบัติสูงกว่าผู้ที่ขึ้นทะเบียนคนจน โรงพยาบาลจะมีเงินได้มากขึ้น และยิ่งถ้า สปสช.สามารถดึงเงินที่จ่ายค่ารายหัวให้โรงพยาบาล แต่ไม่มีการใช้บริการ เงินที่ได้คืนก็จะทำให้โรงพยาบาลมีงบประมาณมากขึ้น ประโยชน์ก็จะตกกับประชาชนที่จะได้รับบริการดีขึ้น

ปัญหางบประมาณในระบบสาธารณสุข ถ้าทำได้อาจมีการปรับปรุงที่มาของรายได้ที่นอกเหนือจากงบประมาณจากรัฐบาล โดยนำเงินที่ สสส. ได้รับจากภาษีบาปมาใช้ทำนุบำรุงกิจการของโรงพยาบาลโดยตรง เพราะกองทุนของ สสส.นั้นได้รับเงินอุดหนุนเป็นอัตรา 2% ของเงินได้ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ แต่ภารกิจของ สสส. จำกัดวงในเรื่องวิชาการวิเคราะห์ วิจัย ส่งเสริมสนับสนุนโครงการสร้างความตระหนักให้กับประชาชน งานเหล่านี้ไม่มีการลงทุน งบประมาณจึงควรกำหนดเพดาน ไม่ควรผูกติดกับอัตราร้อยละของเงินได้จากธุรกิจ เพราะยิ่งธุรกิจโตขึ้นสัดส่วนก็จะสูงขึ้นโดย สสส. ไม่มีภารกิจรองรับ

การจำกัดเพดานงบประมาณของ สสส. จะทำให้มีเงินส่วนเกินไปใช้ในกิจการโรงพยาบาลที่ดูแลรักษาผู้ป่วย เช่นถ้ากำหนดเพดานให้ได้รับไม่เกินสองพันล้านบาท เท่าๆ กับที่องค์กรทีวีสาธารณะไทยพีบีเอสได้รับ ส่วนเกินก็ให้ไปลงที่หน่วยให้บริการ นั่นหมายความว่ารัฐจะได้ประโยชน์ทั้งด้านเงินกองทุนเพื่อการทำงานของ สสส. และเงินบำรุงโรงพยาบาล

วิธีโยกเงินได้ดังกล่าวจะสอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะโรงพยาบาลต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้นจากตัวยาและเวชภัณฑ์ใหม่ๆ เทคโนโลยีการรักษาพยาบาลใหม่ๆ เครื่องมือแพทย์ใหม่ๆ ถ้าโรงพยาบาลรัฐได้เงินเพิ่มมากขึ้นทุกปีตามสัดส่วนการเติบโตของธุรกิจที่ถูกหักภาษีบาป โรงพยาบาลก็จะมีเงินนอกงบประมาณเพื่อใช้จ่ายปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ประโยชน์ก็จะตกแก่ประชาชน

ทั้งหมดนี้ ถ้าคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุขสนใจ ก็ส่งผ่านให้คณะทำงานเพื่อการปฏิรูประบบสาธารณสุขได้พิจารณา ถ้าหากเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดีก็อาจนำไปปรับปรุงตามความเหมาะสม

แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือจะเกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรและหน่วยงานในระบบสาธารณสุขมากขึ้นสมตามที่บัญญัติไว้ใน พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้การทำงานเป็นแบบร่วมมือกัน