กว่าจะมาเป็นสวีเดนทุกวันนี้

กว่าจะมาเป็นสวีเดนทุกวันนี้

ปัจจุบัน ณ พ.ศ. 2562 สวีเดนเป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับจาก Freedom House ได้ 100 คะแนนเต็ม

จากการประเมินเสรีภาพในด้านต่างๆ ประเทศที่ได้คะแนนเต็มร้อยมี 3 ประเทศคือ สวีเดน เบลเยี่ยมและฟินแลนด์ ส่วนบ้านเราได้ 30/100 แต่สำหรับดัชนีความสุข (world happiness index) สวีเดนมาเป็นอันดับที่ 9 และเดนมาร์กที่เคยได้อันดับหนึ่งตกลงมาเป็นอันดับที่ 2 ในขณะที่เดนมาร์กได้คะแนน 97 ของFreedom House ส่วนประเทศที่ได้อันดับ 1 ทั้ง Freedom House และ World Happiness Index คือ ฟินแลนด์ 

แต่ถ้าย้อนกลับไปในอดีตกาล สวีเดนเป็นประเทศที่มีปัญหาสับสนวุ่นวายทางการเมืองมากพอตัว ตั้งแต่ยุคกลางก็เป็นประเทศที่รบราฆ่าฟันแย่งชิงบัลลังก์กันอุตลุด นักวิชาการบางท่านเรียกช่วงเวลาดังกล่าวนี้ของสวีเดนว่าเป็นยุค “Kingly Chaos” บ้างหรือ “Dynastic Upheavals” บ้าง นั่นคือเป็นยุคแห่งความสับสนวุ่นวายในเรื่องการแก่งแย่งชิงบัลลังก์กันนั่นเอง ใครที่เคยดูซีรี่เรื่องมหาศึกชิงบัลลังก์หรือ Game of Thrones ในซีรี่ย์เป็นยังไง สวีเดนยุคกลางก็เป็นอย่างนั้น นับตั้งแต่ ค.ศ. 1060-1126 มีกษัตริย์ 11 พระองค์เฉลี่ยครองราชย์พระองค์ละ 6 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1126-1250 มีกษัตริย์ 12 พระองค์ จาก 2 ราชวงศ์ขับเคี่ยวทำสงครามสลับกันเป็นกษัตริย์ เฉลี่ยครองราชย์พระองค์ละ 10 ปี หลังจากนั้น มีราชวงศ์ใหม่ ตั้งแต่ ค.ศ. 1250-1364 มีกษัตริย์ 7 พระองค์ เฉลี่ยครองราชย์พระองค์ละ 16 ปี 

 ที่ทำออกมานี้เป็นค่าเฉลี่ย แต่ในความเป็นจริง กษัตริย์หลายพระองค์ต้องทิ้งบัลลังก์ลี้ภัยไป หลายพระองค์ได้เป็นกษัตริย์ตั้งแต่พระชนมายุไม่ถึง 6 พรรษา บ้างก็สิ้นพระชนม์จากการประชวร บ้างก็ถูกสำเร็จโทษทั้งที่พระชันษาไม่ถึง 30 กษัตริย์สวีเดนอย่างน้อย 15 พระองค์ที่ถูกลอบปลงพระชนม์หรือสิ้นพระชนม์จากการทำศึกชิงบัลลังก์ บางครั้งพี่น้องก็แย่งชิงฆ่าฟันกันเอง 

นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องสวีเดนอย่าง Franklin Scott กล่าวว่าสวีเดนเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง แต่ยังดีที่คนสวีเดนยังมีกติกาในใจหรือยึดถือจารีตประเพณีอะไรบางอย่างที่ทำให้ลดทอนความรุนแรงลงไปได้บ้าง ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนอ่านประวัติศาสตร์สวีเดน ก็ยังนึกไม่ออกว่า กติกาที่ว่านี้คืออะไร เพราะเห็นแต่ฆ่าฟันแย่งชิงอำนาจกันนองเลือด แต่ถ้าพิจารณาให้ดี ก็พบว่า การขึ้นเป็นกษัตริย์ของสวีเดนจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาในแต่ละท้องถิ่นที่เขาเรียกในภาษาของเขาว่า “ting” (ทิง) หากกษัตริย์พระองค์ใดไม่ผ่านการยอมรับที่ว่านี้ ก็จะขาดความชอบธรรม อาจจะปกครองใดเฉพาะแต่เขตที่ยอมรับเท่านั้น 

อย่างไรก็ดี ในศตวรรษที่ 16 กุสตาฟ วาซา (Gustav Vasa) กษัตริย์สวีเดนได้รับการขนานนามว่า เป็นผู้นำสวีเดนเข้าสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ได้พยายามแก้ปัญหาการสืบราชบัลลังก์โดยการออกกฎมณเฑียรบาล (Succession Pact) ออกมาในค.ศ. 1544 แต่ก็ยังมีปัญหาตามมา เพราะยามเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการที่พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนไม่มีพระราชโอรส หรือมีแต่พระราชธิดา หรือไม่มีองค์รัชทายาทเลย หรือมีแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ ก็ส่งผลต่ออำนาจทางการเมืองการปกครองในสวีเดนโดยทันที นั่นคือ การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองจากอำนาจทางการเมืองที่อยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ไปสู่พวกขุนนาง บ่งบอกถึงสภาวะที่พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ยังไม่มั่นคงและมีเสถียรภาพ แต่ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพและพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นๆ มากกว่าจะอยู่ที่ตัวสถาบัน

ข้อสังเกตของผู้เขียนตรงกับความเห็นของ Leon Jespersen นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครองสวีเดนในศตวรรษที่ 16 และ 17 ที่ว่า แม้นเข้าสู่ศตวรรษที่ 17 แล้ว ปัญหาร้ายแรงของการเมืองสวีเดนยังมีอยู่3 ข้อ นั่นคือ 1.ศึกชิงบัลลังก์ที่อาจจะไม่โจ่งแจ้งเหมือนสมัยยุคกลาง 2.ความขัดแย้งในเรื่องศาสนา และ 3.การปกครองของอาณาจักรยังไม่มีความแน่นอนมั่นคง แต่จะขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพความสามารถขององค์พระมหากษัตริย์นั้นๆ จากเงื่อนไขดังกล่าวนี้จึงทำให้ไม่สามารถเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลตามที่กุสตาฟ วาซาได้วางรากฐานได้ หรือแม้ว่าจะเป็นไปตามนั้นในทางหลักการ แต่ในทางปฏิบัติ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ทำหน้าที่บริหารราชการในยามที่กษัตริย์ยังไม่ถึงพระชันษาที่จะขึ้นครองราชย์ก็มีบทบาทอย่างสูงยิ่งและมักส่งผลเลยเถิดต่อมา แม้จะมีพระมหากษัตริย์แล้วก็ตาม  

ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่สวีเดนเข้าสู่การเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในราวค.ศ. 1680 ยามเมื่อพระมหากษัตริย์อย่างชาร์ลสที่ 12 ไม่มีองค์รัชทายาท สถานการณ์ทางการเมืองก็พลิกผันไปในทันที นอกเหนือไปจากเงื่อนไขที่ชาร์ลสที่ 12 พ่ายแพ้สงครามในตอนปลายรัชสมัย การเมืองสวีเดนก็เหวี่ยงตัวอย่างรุนแรง สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดนที่ดำเนินมาได้เพียง 39 ปีก็เป็นอันสิ้นสุดลง (ระยะเวลาดังกล่าวนี้ ไม่นับกระบวนการที่สวีเดนค่อยๆ วิวัฒนาการมาสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) อำนาจเปลี่ยนมือมาอยู่ที่ฝ่ายรัฐสภาที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ สวีเดนได้เข้าสู่ยุคที่ถูกตั้งชื่อว่าเป็น “ยุคแห่งเสรีภาพ ที่พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อมาได้กลายเป็นเพียงตรายางเท่านั้น แต่ในยุคแห่งเสรีภาพนี้ ก็เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง (Corruption) ในหมู่อภิชนขุนนางในรัฐสภาอย่างรุนแรง ทำให้เมื่อสวีเดนมีกุสตาฟที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ที่มีพระปรีชาสามารถและความมุ่งมั่นกล้าหาญ พระองค์ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากฝ่ายสภา ท่ามกลางการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปและโดยเฉพาะชาวไร่ชาวนา 

ฟังดูแล้ว การเมืองสวีเดนในศตวรรษที่ 18 ดูจะไม่ต่างจากการเมืองไทยปัจจุบันที่เมื่อ เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง (Corruption) ในหมู่นักการเมืองก็เป็นเหตุให้ระบบรัฐสภาที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตยต้องสิ้นสุดลง น่าสงสัยว่า การเมืองในระบอบรัฐสภาของสวีเดนที่ดำเนินมาเป็นเวลา 53 ปีนั้นยังไม่เพียงพอที่จะลงหลักปักฐานได้หรืออย่างไร ถึงทำให้เมื่อมีการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง ก็เป็นสาเหตุเพียงพอที่จะทำให้พระมหากษัตริย์ยึดอำนาจและสถาปนาระบอบที่รัฐสภาไม่มีความหมายขึ้นมาได้ ? 

แต่ปัจจุบัน อย่างที่กล่าวไปข้างต้น สวีเดนเป็นประเทศที่ได้คะแนนเต็มร้อยจาก Freedom House และผู้คนมีความสุขเป็นอับดับ 9 ของโลก อะไรคือปัจจัยที่ทำให้สวีเดนพ้นจากความอลหม่านทางการเมืองไปได้ ?!!