คืนสมดุลระบบนิเวศป่าชายเลน เพื่อชุมชน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม

คืนสมดุลระบบนิเวศป่าชายเลน  เพื่อชุมชน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม

เป็นสัญญาณที่ดีของความร่วมมือเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทย ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีทั้งมูลค่าและคุณค่าทางเศรษฐกิจ

จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) พบว่าพื้นที่ป่าชายเลนของไทยในปัจจุบัน (ข้อมูลปี 2561) มีพื้นที่ 1.535 ล้านไร่ เพิ่มจาก 1.528 ล้านไร่ ในปี 2552 หลังจากที่ภาครัฐมีนโยบายเข้มงวดเรื่องการบุกรุกป่า ขณะเดียวกันสนับสนุนการปลูกป่าชายเลนเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ว่างเปล่าบริเวณชายฝั่งทะเล รวมไปถึงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า

พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณ ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของสถานีพัฒนาป่าชายเลนที่ 38 จังหวัดสงขลา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ป่าสงวนของภาครัฐ ลักษณะพื้นที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศตามยุทธศาสตร์ป่าชายเลนของประเทศ

นอกเหนือจากภารกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนโดยภาครัฐ เป็นความร่วมมือของชุมชนที่ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และความตั้งใจจริงของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ทำให้เกิดเป็นความร่วมมือ ที่ประกอบด้วย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สำนักงานเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์การมหาชน) ภาคประชาสังคม ชุมชน และภาคเอกชน คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ช่วยกันฟื้นฟูและรักษาสมดุลของระบบนิเวศป่าชายเลน ภายใต้โครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ทำให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ( ปี 2557-2561) สามารถอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนที่ ต.ชะแล้ จำนวน 200 ไร่ และปลูกป่าใหม่อีก 25 ไร่

การปลูกป่าใหม่และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพป่าชายเลนที่สมบูรณ์ ยังต้องอาศัยเวลา เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าชายเลน 3 น้ำ ได้แก่ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ประกอบพื้นที่เป็นป่าพรุ ซึ่งทุกๆปลายปีจะมีน้ำท่วมขังพื้นที่ เป็นปัญหาต่อการเติบโตของต้นไม้ที่ปลูก ทำให้ต้องเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมและทนต่อสภาพพื้นที่ อาทิ ต้นเสม็ดขาว ต้นจาก ต้นตีนเป็ดทะเล ต้นจิกทะเล ต้นหยีน้ำ ต้นโพธิ์ทะเล ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ทนต่อสภาพน้ำ โดยเฉพาะต้นเสม็ดขาวที่มีลักษณะเฉพาะตัว คือ ทนทานต่อน้ำและเป็นพืชท้องถิ่น

นอกจากนี้ ความร่วมมือที่เกิดจากประสบการณ์เรียนถูกเรียนผิดไปด้วยกัน ความรู้และประสบการณ์ในการปลูกป่าที่ถูกถ่ายทอดโดยหน่วยงานภาครัฐสู่ชุมชน ผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของปราชญ์ชุมชน และการสนับสนุนงบประมาณโดยเอกชน เป็นความลงตัวที่นำมาสู่เป้าหมายความสำเร็จ ทำให้ในปีแรกๆ ซึ่งต้นไม้ที่ปลูกมีอัตรารอดตายไม่ถึง 30 % ปัจจุบันมีอัตราการรอดตายเพิ่มเป็นเกือบ 70 % แล้ว

จุดเด่นของการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนที่ ต.ชะแล้ ซึ่งสามารถนำบทเรียนจากการเรียนรู้ถูกผิดไปใช้ประโยชน์ในการฟื้นฟูป่าชายเลนพื้นที่อื่นๆ คือ ใช้ป่าสร้างป่า และ ธรรมชาติพึ่งพิงธรรมชาติ อาทิ ป่าเสม็ดซึ่งมีต้นเสม็ดขาวขึ้นเป็นจำนวนมาก และเติบโตได้ดีในสภาพที่ลุ่มที่มีน้ำขัง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด เมล็ดของเสม็ดขาวที่ร่วงจากต้นตกสู่ดิน ทำให้มีโอกาสรอดและเติบโตเพิ่มเติมในป่าได้อีก นอกจากนี้ พื้นที่ป่าชายเลน ต.ชะแล้ เป็นพื้นที่ที่พบแมลงชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า“ชันโรง” จำนวนมาก ชันโรงมีลักษณะคล้ายผึ้งแต่มีขนาดเล็กกว่า เวลาที่ชันโรงตอมเกสรดอกไม้จะเก็บเกี่ยวเกสรจากดอกไม้ไป

พื้นที่ป่าชายเลนที่ ต.ชะแล้ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ กุ้ง ปู ปลา หอย เป็นแหล่งอาหารของชุมชน และปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้ามาจัดค่ายกิจกรรมเป็นแหล่งเรียนรู้ป่าชายเลน ซึ่งในอนาคตพื้นที่แห่งนี้ พร้อมพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดสงขลา และเป็นตัวอย่างของโครงการปลูกป่าที่ประสบความสำเร็จจากการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่

โดย... 

ประพัฒน์ โนเรศน์

หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 38 (สงขลา)

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)