การปกครองท้องถิ่นคือฐานรากของประชาธิปไตย

การปกครองท้องถิ่นคือฐานรากของประชาธิปไตย

ในขณะที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจที่จะพัฒนาการเมืองหรือปฏิรูปการเมืองอย่างมาก

ไม่ว่าการพยายามออกแบบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายต่างๆ ออกมารองรับในทฤษฎีหรือความเชื่อของตน แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่กล่าวถึงการพัฒนาการเมืองในระดับชาติแทบทั้งสิ้น มีการกล่าวถึงการปกครองท้องถิ่น การกระจายอำนาจน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย โดยในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีกล่าวถึงการปกครองท้องถิ่นเพียง 6 มาตรา และในรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ(ที่มีหมวดที่ว่าการปฏิรูปด้วยนั้น)ไม่มีคำว่า “การกระจายอำนาจ” แม้แต่คำเดียว ซึ่งแท้จริงแล้วการกระจายอำนาจหรือการปกครองท้องถิ่นนั้นมีความสำคัญ ซึ่งนานาอารยประเทศทั้งหลายที่ถือว่าการปกครองท้องถิ่นคือฐานรากของประชาธิปไตยเลยทีเดียว ด้วยเหตุเพราะ

1) เป็นการให้การศึกษาและฝึกฝนทางการเมือง(Providing Political Education and Training)

การปกครองท้องถิ่นเป็นระบบการปกครองที่ย่อส่วนจากระบบการเมืองในระดับชาติ กิจกรรมทางการเมืองของการปกครองท้องถิ่นนับเป็นหนึ่งในรูปแบบการศึกษาเรียนรู้ทางการเมือง การเลือกตั้งท้องถิ่นในแต่ละครั้งย่อมเป็นช่วงเวลาและบรรยากาศของการเรียนรู้ทางการเมืองเป็นอย่างดียิ่ง เพราะข้อมูลข่าวสารทั้งของตัวผู้สมัคร นโยบายของผู้สมัคร หรือทีมผู้สมัคร ทั้งในแง่ของการปราศรัยหาเสียงและการรายงานข่าวผ่านสื่อสารมวลชนในรูปแบบต่างๆ ย่อมนำมาสู่ความสนใจเรียนรู้ ถกเถียงในหมู่ประชาชน ถือเป็นการศึกษาเรียนรู้ทางการเมืองนอกห้องเรียนและประชาชนในพื้นที่ ย่อมสัมผัสได้โดยตรงและอย่างใกล้ชิด การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นก็คือ การที่บางคนตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งย่อมเป็นการเข้าสู่เวทีแห่งการฝึกฝนทางการเมืองได้เป็นอย่างดี เพราะนักการเมืองระดับชาติหลายคนก็เคยผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ทางการเมืองด้วยการเป็นนักการเมืองท้องถิ่นมาก่อน

2) เป็นการส่งเสริมความเป็นพลเมืองและการมีส่วนร่วม (Promoting Citizenship and Participation)

ในขณะที่การเมืองระดับชาติประชาชนมีความรู้สึกห่างไกลจากตนเอง ทำให้มีผลต่อการมีส่วนร่วม แต่การปกครองท้องถิ่น ซึ่งมีความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างใกล้ชิดแนบ โอกาสที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองย่อมมีความเป็นไปได้มากกว่า เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นพลเมืองที่มีความเข้มแข็งในทางการเมือง ตระหนักถึงสิทธิประโยชน์และความสำคัญของตนในทางการเมือง เกิดความรอบรู้แจ่มแจ้งทางการเมือง(political maturity) เพราะการปกครองท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองย่อมทำให้ประชาชนรู้จักการเมือง รู้จักวิธีการเลือกตั้ง การตัดสินใจ การบริหาร การต่อสู้แข่งขันทางการเมือง ประชาชนรู้ว่าเขาควรจะเลือกใครที่จะสามารถสร้างและพัฒนาท้องถิ่นได้ดีที่สุด ที่สำคัญคือประชาชนสามารถติดต่อสื่อสาร เข้าถึงนโยบายและการบริหารงานของนักการเมืองท้องถิ่นได้ดีกว่านักการเมืองระดับชาติ และเมื่อเทียบกับการเมืองในระดับชาติแล้ว การปกครองท้องถิ่นสร้างความเท่าเทียมทางการเมืองมากกว่า เพราะประชาชนมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างทั่วถึง(Political Equality)กว่าการเมืองระดับชาติ และด้วยความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งในทางการเมืองการปกครองท้องถิ่นจะช่วยยกระดับ ขยายไปสู่ความเข้มแข็งและความมีเสถียรภาพในทางการเมือง(political Stability)ระดับชาติต่อไปในที่สุด

3) เป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบ(Accountability) การปกครองท้องถิ่นก่อให้เกิดความรับผิดชอบ โดยสร้างการตรวจสอบ ถ่วงดุลของประชาชนที่มีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเข้าสู่วิถีทางการเมืองของประชาชน(politicization) ทำให้ประชาชนมีความผูกพันกับระบบการเมืองอย่างต่อเนื่อง มีความรู้สึกว่าตนเองจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะเป็นผลประโยชน์โดยตรงของตนนั่นเอง

4) เป็นการสนองตอบ(Responsiveness) ที่ตรงกับความต้องการของประชาชน

การปกครองท้องถิ่นคำนึงถึงสภาพของท้องถิ่นแต่ละแห่งว่ามีความแตกต่างกัน การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาจึงต้องสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น การสนองตอบของระบบการเมืองต่อข้อเรียกร้อง ความต้องการของท้องถิ่นจึงสอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่ระบบการเมืองคำนึงถึงปัจจัยนำเข้า(Input) หรือข้อมูลนำเข้าที่ป้อนเข้าสู่ระบบการเมืองแล้วแปรรูปเป็นปัจจัยนำออก(Output) ที่ตรงกับข้อเรียกร้องและความต้องการของท้องถิ่น ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่นดีกว่าคนในท้องถิ่น” นั่นเอง

5)เป็นการป้องกันการปฏิวัติรัฐประหารและการใช้อำนาจเผด็จการรวบอำนาจจากส่วนกลาง(Dictatorship Prevention)

เมื่อมีการกระจายอำนาจมากขึ้น ท้องถิ่นจะเข้มแข็ง สถาบันทางการเมืองจะมั่นคง การยึดอำนาจหรือการใช้อำนาจเผด็จการจากส่วนกลางเป็นไปได้ยาก ดังที่มองเตสกิเออ(Montesquieu)ได้เขียนสนับสนุนการปกครองท้องถิ่นว่า “การปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็งจะสามารถต่อต้านคลื่นการปฏิวัติรัฐประหารได้ และการปกครองท้องถิ่นที่มีอิสระจะช่วยส่งเสริมให้สถาบันการเมืองต่างๆในยุโรปมีความมั่นคงยิ่งขึ้น

น่าเสียดายที่ไทยเรา ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการเองหรือภาครัฐมักไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการปกครองท้องถิ่น ทั้งๆ ที่เป็นฐานรากของประชาธิปไตย นโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาพูดถึงการปกครองท้องถิ่นในหัวข้อย่อยแบบเลื่อนลอย และน้อยมากกล่าวถึงเพียงไม่กี่บรรทัดแบบเสียไม่ได้

โลกเขาไปถึงไหนๆ แล้ว การพยายามที่จะฝืนกระแสโลก โดยพยายามรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเช่นในปัจจุบันที่กำลังทำกันอยู่ย่อมที่จะฉุดรั้งประเทศไทยให้ล้าหลังจนเกินกว่าที่จะแก้ไขเยียวยาได้โดยง่าย

ไม่มีรัฐใดที่ประชาธิปไตยเข้มแข็งโดยปราศจากการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็งหรอกครับ Konrad Adenauer อดีตนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีได้กล่าวไว้ว่า “No state without city” ซึ่งหากแปลตรงตัวก็คือ ไม่มีรัฐใดที่ไม่มีเมืองซึ่งความหมายที่แท้จริงคือ ไม่มีทางที่การเมืองการปกครองในระดับชาติ(state)จะเข้มแข็งได้ หากปราศจากการปกครองท้องถิ่น(ในที่นี้หมายถึง เมือง หรือ city ซึงรวม town,township,municipality ฯลฯ) ที่เข้มแข็งนั่นเอง