โจทย์หลักกูรูเศรษฐกิจ

โจทย์หลักกูรูเศรษฐกิจ

เนื่องด้วยผู้เขียนได้รับเกียรติอย่างสูงให้เป็นหนึ่งในวิทยากรในงานเสวนา “เรียนรู้สู่กูรูเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โดยโจทย์ที่ได้รับคือ “โอกาสและความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย” ผู้เขียนจึงขอนำมุมมองดังกล่าวมาแชร์ในบทความนี้ด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านแล้ว ยังเป็นข้อเสนอให้กับผู้บริหารกระทรวงการคลังชุดใหม่ด้วย

หากให้สรุปธีมที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในงานสัมมนาสั้น ๆ 3 คำ คือ " อุปสงค์โลกต่ำ ความเสี่ยงโลกสูง แต่ทางการไทยอนุรักษ์นิยมเกินไป" โดยผู้เขียนได้แบ่งการเสวนาเป็น 2 ช่วง คือ (1)ภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลก และ (2)เศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับ “กับดักรายได้ปานกลาง” (Middle-income Trap)

ในส่วนของภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันนั้น ยังแบ่งออกได้เป็นอีก 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกได้แก่ ภาวะปัจจุบันที่เป็น New normal ที่ โตต่ำ ค้าน้อย โภคภัณฑ์ถูก และผลตอบแทนการลงทุนต่ำและผันผวน

เศรษฐกิจโลกที่โตต่ำนั้น เกิดจากความต้องการในการใช้จ่ายหรือ Demand ทั่วโลกต่ำลง ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างอย่างภาวะสังคมสูงวัยที่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศเจริญแล้ว ซึ่งทำให้ความต้องการจับจ่ายน้อยลง นอกจากนั้น หนี้ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นมาก (ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3 เท่าของ GDP โลก) ซึ่งเป็นผลจากรัฐบาลทั่วโลกกระตุ้นการจับจ่ายหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้ภาครัฐในประเทศเจริญแล้วและภาคเอกชนในประเทศกำลังพัฒนาขาดเม็ดเงินที่จะจับจ่ายในปัจจุบัน

ในส่วนของการค้าน้อยลงนั้น เป็นผลทั้งจากประเทศขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐและจีน หันมาผลิตในประเทศมากขึ้น ผลจากเทคนิคการขุดเจาะน้ำมัน Shale gas/ oil ในสหรัฐ ที่ทำให้ราคาพลังงานและค่าขนส่งถูกลง และการที่ทางการจีนบังคับให้บริษัทข้ามชาติที่มาลงทุนในจีนนั้นมีการถ่ายโอนเทคโนโลยี ก็ทำให้ผู้ผลิตจีนสามารถผลิตสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงเองได้ นอกจากนั้น สงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น ก็จะทำให้การค้าโลกลดต่ำลงเช่นกัน

ในส่วนของโภคภัณฑ์ถูกนั้น เป็นผลจากเทคนิคการผลิตใหม่ๆ ทำให้ปริมาณของโภคภัณฑ์นั้นเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่ความต้องการที่ตกต่ำโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะยาวลดลง ทั้งโภคภัณฑ์หนัก เช่น สินแร่โลหะ (ที่ราคาเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเศรษฐกิจจีน) โภคภัณฑ์เบา รวมถึงเชื้อเพลิง

ส่วนสุดท้ายได้แก่ผลตอบแทนการลงทุนที่ลดต่ำลงและผันผวน ซึ่งเกิดจากนโยบายการเงินทั่วโลกที่ลดดอกเบี้ยและเพิ่มสภาพคล่องหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ไร้ความเสี่ยง (Risk-free Rate)ลดลง และสภาพคล่องมหาศาลที่ไหลเข้าสู่ตลาดเงินทุนก็กดให้ส่วนเพิ่มความเสี่ยง (Risk-premium)ลดลงเช่นกัน ผลตอบแทนการลงทุนทั่วโลกจึงต่ำและผันผวนมากขึ้นตามสภาพคล่อง

ประเด็นที่สองของภาพเศรษฐกิจโลก ได้แก่ความเสี่ยงในระยะต่อไป ซึ่งผู้เขียนมองว่า ได้แก่ สงครามเย็นระหว่างสหรัฐและจีน ที่เริ่มด้วยสงครามการค้าและลุกลามเป็นสงครามเทคโนโลยี (Tech War) และอาจลามไปสู่สงครามด้านการเงิน โดยสหรัฐอาจห้ามธุรกิจจีนมาระดมทุนในสหรัฐ ซึ่งจีนอาจตอบโต้ด้วยการแบนธุรกิจบริการจากสหรัฐ ทั้งเกม รายการทีวี และห้ามนักท่องเที่ยวและนักเรียนจีนไปยังสหรัฐ และสุดท้ายอาจนำไปสู่สงครามด้านการทหาร ที่จะนำไปสู่ความตึงเครียดในมหาสมุทรแปซิฟิกและคาบสมุทรเกาหลี สั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ เพิ่มระดับการจารกรรมเชิงพาณิชย์ ทางไซเบอร์ และทางทหาร และความเสี่ยงแห่งสงครามในอนาคต

เมื่อโลกโตต่ำเพราะอุปสงค์อ่อนแอ (Weak demand) และอุปทานล้นเกิน (Excess supply) รวมถึงเสี่ยงจากสงครามเย็นที่อาจกลายเป็นสงครามร้อนแล้ว ไทยเองกลับแย่ยิ่งกว่า

โจทย์หลักกูรูเศรษฐกิจ

                  ความสัมพันธ์ของหนี้สาธารณะและการเติบโตของรายได้ต่อหัวของประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาในการก้าวข้ามผ่านกับดักรายได้ปานกลาง (Middle-income Trap)

โดยหากพิจารณาจากการขยายตัวเศรษฐกิจ จะเห็นว่าภาพของไทยก็ไม่ต่างจากโลก คือขยายตัวต่ำลงเรื่อยๆ และยิ่งเมื่อพิจารณารายได้ต่อหัวของคนไทยก็ยิ่งหดหู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาการเติบโตของรายได้ต่อหัวรูปสกุลท้องถิ่นในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ารายได้คนไทยเติบโตเกือบต่ำสุดในภูมิภาคที่ปีละประมาณ 2% ขณะที่อินเดีย จีน และอินโดนิเซียโต 8-10% ต่อปีโดยตลอด

ภาพเหล่านี้เกิดจาก Demand ในประเทศที่อ่อนแอ ไม่ว่าจะพิจารณาจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลเดือนละ 2-3 พันล้านดอลลาร์ เงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้ามาตลอด อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และดัชนีค่าเงินบาทที่แข็งกว่า 20% เมื่อเทียบกับคู่ค้าในรอบ 5-6 ปีหลัง

ภาพเหล่านี้นอกจากจะเกิดจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไป ยังเป็นผลจากนโยบายการคลังที่เข้มงวดเกินไป โดยเฉพาะการละเลยการลงทุนภาครัฐ ดังจะเห็นได้จากดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานของ WEF ที่ของไทยแทบไม่มีการพัฒนาเลยในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการคลังที่มุ่งเน้นแต่การเบิกจ่ายงบประจำ แต่ละเลยงบลงทุนมาโดยตลอด ประกอบกับกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตึงตัวเกินไป เห็นได้จากภาระหนี้รัฐบาลกลางของไทยที่แทบจะต่ำที่สุดในโลก

ผู้เขียนได้ลองศึกษาอย่างง่ายถึงระดับการก่อหนี้ของรัฐบาลกลางต่อผลของการที่ประเทศจะหลุดพ้นจากMiddle-income trap พบว่า ประเทศมีหนี้สาธารณะในระดับที่เหมาะสม (เช่น ประมาณ 80-100% ของ GDP) จะทำให้รายได้ต่อหัวเติบโตในระดับ10% ต่อปีหรือมากกว่า และทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ เพราะประเทศจะนำเงินที่ได้มาพัฒนาประเทศผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

ผู้เขียนเห็นว่า หนทางหนึ่งที่ทำได้คือการผ่อนคลาย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ให้ภาคการคลังสามารถก่อหนี้ได้มากขึ้น ขณะที่ภาคการเงินก็ลดดอกเบี้ยให้ต่ำ เพื่อให้ต้นทุนทางการเงินของภาครัฐไม่สูงนัก (ซึ่งสามารถทำได้เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงเงินเฟ้อ) รวมถึงทำนโยบายกึ่ง QE คืออนุญาตให้ธนาคารกลางเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ออกเพื่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้ ขณะที่ภาครัฐก็ควรพิจารณา “อัตราผลตอบแทนการลงทุนเชิงเศรษฐกิจ” (EIRR)แทนผลตอบแทนการลงทุนทั่วไป(IRR) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาในระยะยาวได้

เครื่องมือมีอยู่แล้ว กูรูเศรษฐกิจพร้อมจะใช้เพื่อศักยภาพและอนาคตของลูกหลานไทยหรือไม่ ถามใจเธอดู 

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]