โลกร้อน โจทย์ใหญ่ภาคเกษตร

โลกร้อน โจทย์ใหญ่ภาคเกษตร

เมื่อต้นสัปดาห์ พายุฝนถล่มกรุงมาพร้อมกับข่าวแม่น้ำโขงเหือดแห้ง และภัยแล้งที่ทำให้น้ำในเขื่อนมีน้อยจนต้นข้าวยืนต้นตาย

ภาพที่ขัดแย้งกันนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในวันนี้ประเทศไทยยังไม่มีแนวทางการรับมือกับผลกระทบของโลกร้อนที่ชัดเจนมากพอให้คนไทยอุ่นว่าจะไม่เดือดร้อนจากภาวะโลกร้อนจนเกินไปนัก และหากดูแนวโน้มในช่วงครึ่งศตวรรษต่อจากนี้ บอกได้เลยว่าชะตากรรมของคนไทย โดยเฉพาะเกษตรกรยังมีความเสี่ยงสูงอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติที่ระบุว่า พ.ศ. 2573 หรืออีกประมาณ 12 ปีหลังจากนี้ ผลกระทบของปัญหาโลกร้อนจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรในทุกพื้นที่ทั่วโลก

เมื่อ 6 ปีก่อน คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(ไอพีซีซี) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดขององค์การสหประชาชาติ ได้เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งซึ่งยืนยันว่าอุณหภูมิของพื้นดิน ผืนน้ำ และอากาศสูงขึ้นจริง ไอพีซีซีมั่นใจจนกล้าฟันธงด้วยความเชื่อมั่นถึง 95% ว่าปัญหาโลกร้อนเกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ แม้หากดูสถิติย้อนหลังช่วง 15 ปีที่ทำการศึกษาจะพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักก็ตาม

คำอธิบายง่ายๆ ว่าทำไมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกถึงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักมันสวนทางกับความรู้สึกของเราก็คือ สมมติว่าวันแรกตอนเช้าอุณหภูมิ 30 องศา ตอนบ่าย 30 องศา อุณหภูมิเฉลี่ยก็คือ 30 องศา วันถัดมา ตอนเช้าฝนตกหนักเลยทำให้อุณหภูมิ 20 องศา ตอนบ่ายแดดเปรี้ยงอากาศร้อนจนอุณหภูมิเพิ่มเป็น 40 องศา ค่าเฉลี่ยทั้งวันก็ได้เท่ากับ 30 องศาเหมือนเมื่อวาน แต่สภาพอากาศมีความแปรปรวนมากกว่า

สำหรับผลกระทบจากโลกร้อนต่อภาคเกษตรนั้น นอกจากจะเกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม อากาศร้อนยังมีผลต่อการเติบโตของพืชและสัตว์ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผลิตภาพในการผลิตของภาคเกษตรทั้งหมดด้วย

นอกจากนี้แล้ว หากระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติของประเทศถูกทำลาย ขาดระบบชลประทานที่ดี ไม่สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป เช่น สร้างเขื่อนไว้ แต่ฝนดันไปตกหน้าเขื่อน น้ำเลยท่วม และไม่มีน้ำพอไว้ทำการเกษตรหน้าแล้ง ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ยิ่งมีมากขึ้นไปอีก

งานวิจัยของวิลเลี่ยม ไคลน์ ซึ่งเผยแพร่ในปี 2550 ได้ประเมินไว้ว่าภาวะโลกร้อนในช่วง 50 ถึง 60 ปีข้างหน้าจะส่งผลต่อผลิตภาพของภาคเกษตรในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างไร ซึ่งในที่นี้ ขอนำเสนอเฉพาะผลสรุปของประเทศไทยและบางประเทศมาแสดงไว้ในตาราง เพื่อให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง

ข่าวร้ายก็คือ ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยคาดว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้ผลิตภาพการผลิตในภาคเกษตรของเราลดลงไม่น้อยกว่า 25% ประเทศที่ร่วมชะตากรรมกับเราก็คือ ลาว อินเดีย และภาคตะวันตกและภาคเหนือของออสเตรเลีย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนซึ่งเป็นคู่แข่งด้านสินค้าเกษตรของเรานอกเหนือจากลาว ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าเรา

โลกร้อน โจทย์ใหญ่ภาคเกษตร

ที่น่าห่วงกว่านั้นก็คือ ประเทศจีนบางส่วน นิวซีแลนด์ และสหรัฐตอนเหนือ จะได้รับอานิสงค์จากโลกร้อน ทำให้อากาศอุ่นขึ้นสามารถเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ได้ดีกว่าเดิม ผลิตภาพการผลิตจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 5 - 25% ลำพังพื้นที่ของจีนที่จะเพาะปลูกได้ดีขึ้นเพียงประเทศเดียว ก็มากกว่าพื้นที่ของประเทศไทยทั้งหมดถึง 2 เท่า ถ้ารวมพื้นที่ของสหรัฐและนิวซีแลนด์เข้าไปด้วย พื้นที่ได้รับประโยชน์จากโลกร้อนของ 3 ประเทศนี้รวมกัน มีขนาดมากกว่าพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทยประมาณ 5 ถึง 6 เท่า ถ้าการคาดการณ์นี้ถูกต้อง ย่อมหมายถึงการมีสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยตามไปด้วย

ทางออกที่ดีที่สุด คือ การปรับตัวระยะยาว ทั้งในด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศด้วยการปลูกพืชที่หลากหลาย การพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ที่ทนร้อนทนแล้งได้มากขึ้น การทำประกันภัยพืชผลและปศุสัตว์ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงการทำเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถของเกษตรกรอย่างต่อเนื่องให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและตลาดโลกได้อย่างทันท่วงที

แม้ว่าเวลา 50 - 60 ปีอาจจะดูเหมือนนาน แต่หากมัวผัดวันประกันพรุ่ง วันนั้นต้องมาถึงเข้าจนได้ หากเมื่อวันนั้นมาถึงโดยที่เรายังไม่ได้ทำอะไร จะมานั่งเสียใจย้อนหลังก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว