Workplace Analytics หรือการส่องชีวิตพนักงาน?

Workplace Analytics หรือการส่องชีวิตพนักงาน?

การเก็บข้อมูลลูกค้า และนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับองค์กรต่างๆ แต่ความน่าสนใจ (และน่ากลัว) ที่กำลังตามมาติดๆ กันคือ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     เมื่อองค์กรสามารถติดตามชีวิตและการทำงานของพนักงาน และนำข้อมูลเหล่านั้นมาช่วยในการจูงใจและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน

หลายคนอาจจะรู้สึกดีเมื่อที่ทำงานมอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ iPad หรือ คอมพิวเตอร์ แต่จะเป็นไปได้ไหมว่าภายใต้อุปกรณ์เหล่านั้นได้ติดตั้งซอฟแวร์ที่สามารถติดตามทั้ง การใช้งาน แอพที่ใช้ เวลาที่ใช้งาน หรือ แม้กระทั่งสถานที่ที่ใช้งาน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ได้มีบทความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งยกตัวอย่างหลายๆ บริษัทที่เริ่มติดตามข้อมูลการทำงานของพนักงานผ่านทางเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทหนึ่งใช้ซอฟแวร์ที่ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ของบริษัทและพบว่า จากที่พนักงานคนหนึ่งควรจะทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่กลับทำจริงๆ เพียงแค่ 3 ชั่วโมง เนื่องจากใช้เวลาบนคอมพิวเตอร์ ไปกับสื่อสังคมออนไลน์ หรือ ความบันเทิงผ่านทางระบบออนไลน์ต่างๆ

นอกจากนี้ ปัจจุบันหลายๆ องค์กรก็ได้นำข้อมูลที่ได้จากอีเมล์ของพนักงานมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์เช่นเดียวกัน

บรรดาผู้บริหารของบริษัทที่ติดตามพนักงานอย่างใกล้ชิดต่างระบุเหมือนกันว่าไม่ได้ทำตัวเป็นจารชนหรือพวกโรคจิตที่ต้องเฝ้าติดตามการทำงานของพนักงาน หรือ ไม่ได้ต้องการนำข้อมูลที่ได้มาใช้เป็นเครื่องมือในการลงโทษ แต่ต้องการหาหนทางในการช่วยเหลือพนักงานให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

มีอยู่บริษัทหนึ่งที่ผู้บริหารจะส่งข้อมูลให้พนักงานรู้เลยว่าวันๆ หนึ่งได้ใช้คอมพิวเตอร์หรือมือถือของบริษัทเข้า Facebook หรือ Twitter มากน้อยเพียงใด อีกทั้งเมื่อพนักงานเข้าไปใน Youtube ก็จะมีสัญญาณเตือนเด้งเข้าไปที่หน้าจอของพนักงาน ซึ่งผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวระบุว่าเมื่อพนักงานรู้ว่ากำลังถูกเฝ้าจับตาดูอยู่ ก็จะตั้งใจทำงานมากขึ้น และสุดท้ายผลผลิตของพนักงานแต่ละคนก็ดีขึ้น

อีกบริษัทหนึ่งทางผู้บริหารจะใช้ข้อมูลนี้ในการดูพฤติกรรมในการทำงานของพนักงาน เช่น ถ้าพนักงานนำโน๊ตบุ๊คของบริษัทกลับไปเพื่อทำงานที่บ้านหลังเลิกงาน ก็จะได้รับการชื่นชมเป็นพิเศษ

ในริษัทหนึ่งเขาจะศึกษาอีเมลของพนักงานกลุ่มที่มีการลาออกสูงเปรียเทียบกับกลุ่มที่ไม่ค่อยลาออก และพบว่าพวกที่ภักดีและอยู่กับบริษัทนานๆ จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่นทั้งภายในและภายนอกบริษัท (ดูจากอีเมลที่ส่งและรับ) แต่กลุ่มพนักงานที่ลาออกบ่อย จะเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับภายนอกบริษัทมากกว่าภายในบริษัท

ขนาดยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ก็เก็บข้อมูลของพนักงาน ทั้งการสื่อสาร อีเมล์ และกำหนดนัดหมายต่างๆ ผ่านระบบ Office 365 ของตนเอง เพื่อติดตามประสิทธิภาพและความสมดุลระหว่างการทำงานและครอบครัวเนื่องจากเมื่อเห็นข้อมูลจากอีเมล์ การ Chat และตารางนัดหมายของพนักงาน ทางบริษัทก็จะรู้ว่าในแต่ละสัปดาห์พนักงานใช้เวลาไปกับอะไรบ้าง รวมถึงสามารถให้คำแนะนำได้ด้วยว่าพนักงาน (โดยเฉพาะทีมขาย) ควรจะต้องสร้างเครือข่ายให้มากขึ้น รวมทั้งควรจะต้องใช้เวลากับลูกค้ามากกว่าประชุมภายใน

บริษัทอื่นก็มีการนำระบบของ Microsoft ไปใช้เพื่อดูว่าพนักงานเข้าระบบและส่งอีเมล์นอกเวลางานมากเพียงใด เพื่อติดตามเรื่อง Work-life balance ของพนักงาน ในขณะที่อีกบริษัทก็ใช้ระบบดังกล่าวเพื่อดูว่าพนักงานใช้เวลากับการประชุมที่มากเกินไปหรือเปล่า

ถ้ามองในแง่บวก การที่บริษัทเข้ามาสอดส่องพฤติกรรมการทำงานของพนักงานก็เป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากจะได้ให้คำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตของพนักงาน แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง คือ การสูญเสียความเป็นส่วนตัวของพนักงาน เนื่องจากจะมีคนสามารถรู้ได้ตลอดเวลาว่าท่านกำลังใช้อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ทำอะไรอยู่

ดังนั้นไม่แน่ว่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ท่านใช้อยู่ทุกวันนี้กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากบริษัทของท่านก็เป็นได้