ความท้าทายของกฎหมายในยุคดิจิทัล

ความท้าทายของกฎหมายในยุคดิจิทัล

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมที่จัดโดย OECD Policy Center ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

  เพื่อเป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายและการปรับเปลี่ยนของกฎหมายในยุคดิจิทัล” สำหรับผู้เขียน ประเด็นที่ผู้แทนจากประเทศต่างๆ ได้หยิบยกขึ้นมานั้น น่าสนใจเป็นอย่างมาก จึงขอแชร์สาระดีๆ จากการประชุมดังกล่าวในประเด็นดังต่อไปนี้ 

ปัญหากฎหมายในยุคดิจิทัลต่างไปจากเดิม

กล่าวคือ ข้อพิพาทจะซับซ้อนขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการอาศัยประโยชน์จากเทคโนโลยีในทางที่ไม่ชอบ เช่น การตั้งค่าให้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักรทำงานแบบอัตโนมัติ หรือใส่โปรแกรมบางอย่างเพื่อบิดเบือนการทำงานของอุปกรณ์เพื่อสร้างผลลัพธ์ ที่ทำให้การกระทำนั้นถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการยากต่อการตรวจสอบของหน่วยงานกำกับดูแล ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งได้ใส่ Software เพื่อตั้งโปรแกรมให้แสดงผลบิดเบือนการตรวจจับค่าควันพิษจากเครื่องยนต์ (ทำให้เครื่องยนต์ปล่อย NOx ออกมาน้อยกว่าปกติ และเครื่องยนต์ทำงานในลักษณะที่ประหยัดน้ำมัน) การกระทำดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคและหน่วยงานกำกับดูแล (Environment Protection Agency) เข้าใจว่ารถรุ่นดังกล่าวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานที่กฎหมาย Clean Air Act กำหนดไว้

นอกจากนี้ ยังได้มีการกล่าวถึงปัญหาในการใช้ AI เข้ามาจัดการการค้าและการลงทุนในหลายรูปแบบ รวมถึงการเกิดขึ้นของความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในการพัฒนา AI ร่วมกัน เช่น Amazon, Facebook, Google, Microsoft และ IBM ได้ทำความตกลงในการสร้างความร่วมมือทาง AI หรือ “the Partnership on AI” นอกจากนี้ Elon Mask ยังได้สร้างองค์กรที่เรียกว่า “OpenAI” ซึ่งเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีแนวหน้ารายต่างๆ ใน Silicon Valley ดังนั้น รัฐบาลของหลายประเทศจึงกังวลถึงความเป็นไปได้ในการเกิดขึ้นของ “AI Cartel” หรือการผูกขาดทางการค้าโดยใช้เทคโนโลยี ซึ่งการผูกขาดในลักษณะดังกล่าวอาจอยู่นอกเหนือบริบทของกฎหมายป้องกันการผูกขาดทางการค้าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ในมุมกฎหมาย มีประเด็นว่า Traditional approaches ต่างๆ ที่เป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายในปัจจุบันควรต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับสถานการณ์นี้อย่างไร เพราะในอนาคต การกำกับดูแลผู้เล่นในตลาดอาจไม่ใช่การปฏิบัติการของมนุษย์อย่างเช่นในปัจจุบัน แต่เป็นการดำเนินการของเครื่องจักรและการตั้งค่าโปรแกรมอัตโนมัติในรูปแบบต่างๆ ผ่านกลไกสมองของ AI   ซึ่งหากเทียบกับกฎหมายไทย กฎหมายหลายฉบับยังคงใช้ถ้อยคำว่า “ผู้ใด…ทำผิดต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย” หรือ “บุคคลจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิด” ดังนั้น คำถาม คือ หากความเสียหายเกิดจากการกระทำโดยเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ จะสามารถตีความว่าเป็น “ผู้ใด/บุคคล” ตามกรอบของกฎหมายเดิมได้หรือไม่? และ กฎหมายในอนาคตควรจะกำหนดหลักการอย่างไรให้ความรับผิดในลักษณะดังกล่าวสามารถโยงไปถึงผู้ผลิตหรือผู้สร้างโปรแกรมเหล่านั้นได้? 

กฎหมายต้องปรับอย่างไร?

โจทย์สำคัญของหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก คือ การสร้าง Governance แบบใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่ OECD เสนอว่า กฎหมายต้องมีลักษณะ Ex-ante มากกว่า Ex-post กล่าวคือ กฎหมายต้องเข้าไปจัดการหรือวางรูปแบบการดำเนินการของผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีตั้งแต่เริ่มประกอบการ (Ex-ante) มิใช่การเข้าแทรกแซงเมื่อเกิดปัญหาแล้วในภายหลัง (Ex-post) 

สามแนวคิดในการปรับเปลี่ยน?

ประการแรก คือ หลัก Compliance by design at the code level หรือ หลักการการกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการสร้าง software ว่า การใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นสอดคล้องกับกฎหมายหรือกฎเกณฑ์กำกับดูแลในเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือไม่ โดยผู้ประกอบการมีหน้าที่ในการคงมาตรฐานเช่นว่านั้นไว้ตลอดระยะเวลาการผลิตหรือให้บริการ อย่างไรก็ดี หลักการ Compliance by design แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นหลักการพื้นฐานในกระบวนการทางวิศวกรรมบางสาขาอยู่แล้ว หากแต่ยังไม่เคยปรากฎอย่างชัดเจนในกฎหมาย จนกระทั้งสหภาพยุโรปและประเทศต่างๆ ได้นำหลักการดังกล่าวมาบรรจุไว้ในกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น กฎหมาย GDPR หรือ General Data Protection Regulation ที่สหภาพยุโรปประกาศใช้เมื่อปีที่แล้ว

ประการที่สอง คือ หลัก Real-time Monitoring หรือ หลักการที่หน่วยงานกำกับดูแล ควรปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากการตรวจสอบผู้ประกอบการตามรอบระยะเวลา เป็นการตรวจสอบผู้ประกอบการแบบ Real-time โดยใช้เทคโนโลยี เช่น IoT, Big data analytics หรือ AI เป็นเครื่องมือในการช่วยตรวจสอบ เช่น ในบางประเทศมีการติดตั้งเทคโนโลยี Sensor-based water pollution monitoring เพื่อตรวจสอบการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยให้เครื่องดังกล่าวรายงานผลไปยังหน่วยงานกำกับดูแลได้แบบ real-time ตลอด 24 ชั่วโมง 

ประการที่สาม คือ หลัก Government-led data exchange framework หรือ ภาครัฐควรเป็นผู้ริเริ่มในการจัดทำ “platform กลาง” ที่ใช้สำหรับแลกเปลี่ยนหรือเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการสร้างและส่งเสริมโครงการสาธารณะที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น การจัดทำโครงการ Smart Grid หรือ การใช้ Information Technology เพื่อบริหารจัดการการส่งไฟฟ้าไปยังผู้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพ (ปัจจุบันการพัฒนาโครงการ Smart Grid ได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทของกระทรวงพลังงานไทยแล้วเช่นกัน)

นอกจากนี้ ผู้แทนจากหลายประเทศยังได้เปิดเผยถึงการศึกษาของรัฐบาลในการพัฒนา Self-driving system หรือ ช่องเดินรถพิเศษสำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (ไร้คนขับ) ซึ่งได้แนวคิดมาจากระบบรถรางในสมัยก่อน โดยมีข้อดีที่น่าสนใจ คือ การลด space บนท้องถนนและ เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร เนื่องจากรถทุกคันที่ใช้ช่อง self-driving จะถูกคำนวนให้มีระยะห่าง ที่เท่าๆ กัน และมีระบบ sensor ที่เชื่อมต่อรถทุกคันผ่านการทำงานของ IoT ซึ่งในประเด็นนี้ คำถามในทางกฎหมาย คือ หากระบบมีปัญหาหรือมีข้อผิดพลาดจนมีความเสียหายเกิดขึ้น ความรับผิดควรเป็นของผู้ใด กฎหมายควรจะวางหลักเรื่องนี้อย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม 

ท้ายที่สุด forum ได้เห็นตรงกันว่า “ความร่วมมือ” ไม่ว่าจะระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือระหว่างรัฐและรัฐ คือ กลไกที่สำคัญในการพัฒนากฎหมายในยุคดิจิทัล โดยภาครัฐต้องเปลี่ยนแนวคิดจากการควบคุมการเกิดของเทคโนโลยี เป็นสนับสนุนอย่างเข้าใจ และก้าวไปด้วยกัน 

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]