Mike Pompeo นักการทูต หรือ นักเลงปากซอย

Mike Pompeo  นักการทูต หรือ นักเลงปากซอย

Mike Pompeo ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น รมว.ต่างประเทศ ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สืบต่อจาก Rex Tillerson ในเดือนมี.ค.2018

และได้รับการรับรองจากสภาและสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 26 เมษายน 2018 

ถ้าใครช่างสังเกต ก็จะรู้สึกว่า Pompeo เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐที่ขยันมากที่สุดผู้หนึ่ง การเยือนต่างประเทศตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งไม่เคยน้อยกว่าเดือนละ 2 ครั้ง แต่บ่อยครั้งที่มากถึง 6 ครั้ง เป้าหมายการเยือนส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออก ยุโรป และตะวันออกกลาง แต่ก็มีบ้างในอเมริกาใต้และแอฟริกา ประเด็นอันเป็นที่สนใจมีตั้งแต่ เรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง (โดยเฉพาะอิหร่าน) ทะเลจีนใต้ สิทธิมนุษยชนในจีน รัสเซีย/ยูเครน NATO เกาหลีเหนือ ปัญหาขั้วโลกเหนือ และ เวเนซูเอลา 

ที่น่าสังเกตคือในแต่ละครั้งของการเยือน เขามักจะปราศรัยหลายๆ ครั้งเพื่อตอกย้ำจุดยืนของสหรัฐเรื่องนั้น ๆ โดยเฉพาะการโจมตีฝ่ายตรงข้าม ตัวอย่างเช่น เสรีภาพของการเดินเรือกับการยึดครองทะเลจีนใต้ของจีนโดยมิชอบ การใช้ประโยชน์ขั้วโลกเหนือของจีนร่วมกับรัสเซียที่ว่าเป็นการทำลายสิ่งแว้ดล้อม การห้ามแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์โดยไม่กล่าวถึงสหรัฐอเมริกา การสื่อจุดยืนในเรื่องเหล่านี้ มีทั้งการปราศรัยที่เป็นทางการ การให้สัมภาษณ์สำนักข่าวระหว่างประเทศ และการออกทีวีโชว์สำคัญ ๆ ในสหรัฐ เรียกได้ว่าไม่เว้นแต่ละวัน นี่ยังไม่รวมส่วนที่กระทำโดยรัฐมนตรีช่วยและเจ้าหน้าที่ในกระทรวงต่างประเทศ ในการพูดถึงเรื่องต่างๆ แต่ละครั้ง มักจะพูดว่าจุดยืนของสหรัฐเป็นฝ่ายถูก และฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายผิด 

จุดยืนและวิธีการถือปฏิบัติเหล่านี้สอดคล้องกับประธานาธิบดีทรัมป์ และก็เป็นสาเหตุที่เขาได้รับเลือกให้มาปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนที่ Rex Tillerson รัฐมนตรีคนก่อนที่มักจะมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกัน ทรัมป์มองเห็นคุณสมบัติตรงนี้จากการรายงานสรุปต่อประธานาธิบดีเป็นประจำในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ CIA ตั้งแต่เริ่มต้นรัฐบาลในปี 2017 

ที่จริงแล้ว การยึดถือแนวคิดแบบอเมริกันอย่างรุนแรง พยายามยัดเยียดแนวคิดให้ผู้อื่น และไม่ยอมรับต่อความเห็นแตกต่าง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติสำหรับอเมริกันชนแบบขวาตกขอบ โดยเฉพาะพวกกบในกะลาบริเวณภาคใต้ และตะวันตกกลางที่ไม่เคยเห็นโลกภายนอก 

Mike Pompeo เกิดในรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1963 จบการศึกษาจาก West Point เป็นที่หนึ่งในชั้น ในปี 1986 สาขาวิศวกรรมจัดการ อยู่ในกองพลทหารราบที่ 4 ของกองทัพบก สหรัฐอเมริกาในระหว่างปี 1986-1991 จนได้รับยศนายพัน และศึกษาต่อที่ Harvard จนจบนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตปี 1994 เขาย้ายไปรัฐแคนซัสในปี 1998 เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับชิ้นส่วนเครื่องบินร่วมกับเพื่อน ๆ โรงเรียนนายร้อยอีก 2 คน ในทางการเมือง เขาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรรัฐแคนซัสสมัยแรกในปี 2010 และได้รับเลือกต่อมาอีก 2 สมัย รวมเป็น 3 สมัย จนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ CIA ในปี 2017 

Friedman (2018) กล่าวว่า Pompeo ยึดถือคติเช่นเดียวกับทรัมป์ที่ว่า ต่อยคู่ต่อสู้ก่อนเสมอ การอยู่ในตำแหน่งกว่า 1 ปีที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเขาต่อยก่อนเสมอและต่อยหนักต่อคู่ต่อสู้/ฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าในประเด็นใดและสถานที่ใด เขาเคยกล่าวในปี 2013 ว่า คุณต้องต่อยเขาก่อนเสมอ มิฉะนั้นคุณจะโดนต่อยเวลาหันหลังเดินกลับมา นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เขาอยากจะรักษากองกำลังสหรัฐในตะวันออกกลางไว้ตลอดเวลา เขากล่าวว่าถ้าหากการต่อสู้ย้ายมาอยู่ในอเมริกา พวกหัวรุนแรงอิสลามจะมาฆ่าพวกเราในอเมริกา สำหรับทัศนคติของเขาต่อเรื่องสำคัญๆ อื่นๆ อาจกล่าวได้โดยย่อในแต่ละเรื่องได้ดังนี้ 

ในเรื่องจีน เขาคงไม่ต่างจากอเมริกันชนขวาตกขอบอื่นๆ มากนัก ตรงที่เห็นว่าจีนยึดครองข่มเหงมณฑลซินเจียงและทิเบต ทั้งๆ ที่ประชาชนที่นั่นเป็นส่วนหนึ่งของจีนเป็นส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์จีน ซึ่งอยู่กันอย่างสุขสบายกว่าแต่ก่อนมาก เหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน การกดขี่ศาสนา ทั้งๆ ที่จีนมีกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ขนาดใหญ่จำนวนมากกว่าสหรัฐ การเรียกร้องเสรีภาพเดินเรือในทะเลจีนใต้ แต่ปฏิเสธการเดินเรือผ่านขั่วโลกเหนือว่าเป็นการคุกคามทางทหาร ทั้งๆ ที่สหรัฐเสริมกำลังในขั้วโลกเหนือเอง การกล่าวหาโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางว่าเป็นกับดักหนี้ที่วางไว้กับประเทศอื่น ๆ ที่สำคัญที่สุดคือการโกหกต่อประชาคมโลกว่า หัวเหว่ยเป็นภัยต่อความส่วนตัว ทั้ง ๆ ที่สหรัฐเองถูกฉีกหน้ากากแล้วว่า NSA ได้ติดตามและเฝ้าเก็บข้อมูลของผู้คนทั่วโลกเองโดยผ่านบริษัท IT ขนาดใหญ่อย่าง IBM, Cisco, Google, Qualcomm, Apple, Intel, Oracle และ Microsoft 

ในการแถลงข่าวภายหลังการพูดคุยกับ Sergey Lavrov. Pompeo กล่าวว่าเราพูดคุยกันถึงเรื่องการแทรกแซงกิจการภายในของเรา และ รัสเซียมีโอกาสที่จะพิสูจน์ว่ากิจกรรมเช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่ฝ่าย Lavrov โต้แย้งว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลแม้แต่น้อย Pompeo ยังกล่าวหาว่ารัสเซียแทรกแซงเวเนซูเอลา Lavrov ตอบโต้ว่าน่าจะเป็นตรงกันข้ามมากกว่าและจี้ลงไปว่า สหรัฐแทรกแซงกิจการภายในของอิรักนั่นแหละเรื่องจริงจนทุกวันนี้ก็ยังคงพยายามสถาปนาประชาธิปไตยที่นั่นอยู่ ทั้งๆ ที่เวลาก็ผ่านมานานแล้ว แม้ว่า Pompeo จะอ้างว่า การเยือนในครั้งนั้นเป็นความตั้งใจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับรัสเซีย แต่ที่จริงแล้ว เป็นการขอพบปะแบบกระทันหันที่ทดแทนการเยี่ยมสถานฑูตสหรัฐในมอสโค Lavrov กล่าวโต้ว่าที่จริงแล้ว การติดต่อสื่อสารระหว่างสองฝ่ายถูกแช่แข็งไปเพราะข้อกล่าวหาของฝ่ายสหรัฐมากกว่า 

ในการประชุมคณะกรรมการขั้วโลกเหนือที่ฟินแลนด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของแคนาดาปฏิเสธข้ออ้างของ Pompeo ที่ว่าช่องทางตะวันตกเฉียงเหนือเป็นกรณีพิพาทระหว่างแคนาดากับสหรัฐ และว่า ช่องทางนั้นเป็นของแคนาดาอย่างชัดเจน Byers ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์กล่าวว่า คำปราศรัยของ Pompeo ก้าวร้าว และ มีสิ่งที่ผิดและขัดแย้งกันเองจำนวนมาก เช่น การที่บอกว่าจีนมีการลงทุนบริเวณชายฝั่งแคนาดาด้านขั้วโลกเหนือเป็นต้น ความเป็นจริงคือไม่มี Pompeo วิจารณ์เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่อาจนำมาใช้ได้ในขณะที่น้ำแข็งขั้วโลกกำลังหดตัวลง แต่ความเป็นจริงคือน้ำแข็งที่หดตัวลงทำให้การเดินเรือจากเอเชียไปยุโรปอาจลดลงได้ถึง 20 วัน การประชุมที่ฟินแลนด์จบลงโดยไม่มีข้อสรุป เพียงเพราะว่าสหรัฐไม่เห็นด้วยกับคำว่า Climate change ในร่างแถลงการณ์ร่วม 

Pompeo เคยเขียนใน National review ในปี 2015 ว่า ผู้บัญชาสูงสุดคนต่อไป จะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ใจแข็งเหมือนเหล็กกล้า และ ไม่เกรงกลัวสิ่งใดต่อการก่อการร้าย จักรวรรดินิยมปูติน และ จีนที่ก้าวร้าวที่อยู่เบื้องหน้า คำพูดนี้อธิบายแนวคิดที่ (ตัวเองนั่นแหละ) ก้าวร้าวของ Pompeo ไม่ต้องสงสัยเลยที่การโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำที่อ่าวโอมานเมื่อต้นเดือนมิ.ย. ได้รับการกล่าวหาจาก Pompeo ว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน ทั้งๆ ที่หลักฐานใด ๆ ก็ไม่มี อีกทั้งลูกเรือและเจ้าของเรือ ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า เรือไม่ได้เสียหายเพราะทุ่นระเบิดอย่างที่สหรัฐกล่าวหา แต่เป็นอากาศยานที่โจมตี Pompeo กล่าวต่อไปอีกว่า การโจมตีย่อมเข้าใจได้ภายใต้บริบทที่ความก้าวร้าวไม่ได้ถูกท้าทายมา 40 ปีที่มีต่อสหรัฐและประเทศที่รักเสรีทั้งหลายข้ออ้างอันวิปริตของ Pompeo ที่ว่าต้องการฟื้นฟูประชาธิปไตยในอิหร่าน เรียกหาคำถามกลับมาว่า แล้วชาวอิหร่านถูกริดรอนซึ่งประชาธิปไตยที่เคยมีในเบื้องต้นเพราะอะไร? ความเป็นจริงคือ สหรัฐเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการล้มรัฐบาล Mossadegh ในปี 1953 ด้วยเหตุที่ Mossadegh ยึดคืนบ่อน้ำมันของอังกฤษและสหรัฐในอิหร่าน และ ทำให้อิหร่านตกอยู่ใต้อำนาจผ่านพระเจ้าซาร์จนกระทั่งการปฏิวัติของประชาชนอิหร่านในปี 1979 ที่ตามมาด้วยการยึดสถานฑูตสหรัฐ 444 วัน หลังจากนั้นสหรัฐก็ยังแทรกแซงอย่างต่อเนื่องโดยผ่านการสนับสนุนอิรักให้โจมตีอิหร่านจนถึงการหาเรื่องครั้งสุดท้าย ด้วยการถอนตัวจากสนธิสัญญาจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ 6 ชาติกับอิหร่าน 

Blackwill (2013) ได้กล่าวเกี่ยวกับคุณสมบัติที่ดีของนักการทูตที่ Harvard Kennedy School ว่า วัฒนธรรมของเรา (อเมริกัน) มักจะทำให้มีท่าทีต่ออุดมการณ์ที่ปราศจากการใคร่ครวญและไม่ยอมเปลี่ยนแปลง นักการทูตจะต้องต่อต้านจิตใต้สำนึกที่พยายามจะให้ข้อสรุปใด ๆ ก่อนที่จะวิเคราะห์ เขายังกล่าวอีกว่า ประวัติศาสตร์ไม่ได้ชี้ทางออกเชิงนโยบายที่ชัดเจนภายใต้สภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน แต่จะให้ทางเลือก และ ประเด็นสำคัญของการกำหนดนโยบายและการนำไปปฏิบัติ Pompeo ไม่มีคุณสมบัติทั้งสองข้อข้างต้น ซึ่งเป็นสองคุณสมบัติของนักการทูตที่ดี ในบรรดาคุณสมบัติทั้งหมด 15 ข้อ ยังดีที่ Pompeo มีคุณสมบัติที่ซื่อสัตย์ต่อผู้บังคับบัญชาเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นแล้ว ก็มีแต่อคติที่หลงชาติตัวเองโดยไม่เปิดใจดูคนอื่นแล้วปากจัดระรานไปทั่ว เสมือนหนึ่งนักเลงปากซอย