Supply Chain Finance

Supply Chain Finance

เมื่ออัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะต่ำเช่นนี้ต่อไปอีกนาน ทำให้ผู้ลงทุนเริ่มหาช่องทางการลงทุนใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา

โดยสำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่ และผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ก็ค่อนข้างจะมีช่องทางในการลงทุนที่มากกว่าผู้ลงทุนทั่วไป แต่ช่องทางการลงทุนที่ว่านั้น ก็มาพร้อมกับความซับซ้อน และสภาพคล่องที่จำกัดกว่าของผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆด้วยเช่นกัน

ห่วงโซ่ทางการผลิต (Supply Chain) คือ ห่วงโซ่ทางการผลิตที่ผูกโยงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตในขั้นตอนต่างๆเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ผลิตสินค้า ผู้จัดส่ง ผู้จัดเก็บ ศูนย์กระจายสินค้า ผู้จัดจำหน่ายจนกระทั่งสินค้านั้นๆถึงมือผู้บริโภค

ในอดีตกระบวนการเหล่านี้อาจไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมาก แต่เมื่อโลกมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด ทำให้ห่วงโซ่ทางการผลิตนี้ไม่ได้จำเพาะที่จะอยู่ภายในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือกลุ่มบริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น แต่ผูกโยงกันไปยังประเทศต่างๆในหลายภูมิภาคทั่วโลก

ใครที่สามารถสร้างประสิทธิภาพของห่วงโซ่ทางการผลิตที่เหนือกว่า ก็มักจะมีต้นทุนของผลิตภัณฑ์ที่ถูกกว่าและสามารถให้บริการลูกค้าได้ดีกว่าตามไปด้วย

การสร้างประสิทธิภาพนั้น ส่วนที่สำคัญมากๆส่วนหนึ่งสำหรับผู้อยู่ในห่วงโซ่นี้ คือ สภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ขาย (ซัพพลายเออร์) ก็ย่อมต้องการได้เงินเร็ว ในขณะที่ผู้ซื้อของ ก็อยากจะจ่ายเงินช้าที่สุดเท่าที่จะช้าได้

Supply Chain Finance (SCF) จึงเข้ามามีบทบาท โดยมีสถาบันการเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทั้งผู้ขาย และผู้ซื้อ ซึ่งผู้ขายสินค้าจะสามารถนำเอาใบแจ้งหนี้ (Invoice) ไปขายในอัตราลดให้กับสถาบันการเงิน โดยผู้ขายจะได้เงินสดไปทำธุรกิจทันที ไม่ต้องรอรับเงินตามเครดิตเทอมปกติ ในขณะที่ผู้ซื้อ แทนที่จะจ่ายเงินค่าสินค้ากับผู้ขายตามปกติ ก็จะเปลี่ยนมาจ่ายเงินให้กับสถาบันการเงิน (ที่รับซื้อใบแจ้งหนี้จากผู้ขายมาไว้แล้ว) นอกจากนี้ ผู้ซื้อยังอาจตกลงกับสถาบันการเงินของตนที่จะจ่ายเงินค่าสินค้าช้าลงกว่าเดิมได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย

สำหรับฝั่งผู้ขาย ที่ได้ขายใบแจ้งหนี้ไปในอัตราลดนั้น อัตราลดที่ว่าก็เป็นอัตราที่พิจารณาจากเครดิตของผู้ซื้อสินค้า ไม่ใช่ผู้ขายสินค้า ดังนั้น หากผู้ซื้อเป็นบริษัทที่มีเครดิตยิ่งดีเท่าไหร่ ผู้ขายก็ยิ่งขายใบแจ้งหนี้ได้ในราคาดีตามไปด้วยตามเครดิตของผู้ซื้อ การทำเช่นนี้ ทำให้ผู้ขายสินค้า (ซึ่งมักจะมีความต้องการสภาพคล่อง) ไม่ต้องไปกู้ยืมเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงๆจากแหล่งเงินกู้ของตนเอง

สำหรับกระบวนการขายลดใบแจ้งหนี้ และรับจ่ายเงินค่าสินค้าโดยสถาบันการเงินนั้น โดยทั่วไปแล้วจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวก คือ เมื่อใดผู้ขายสินค้าจะขายลดใบแจ้งหนี้ (ที่ผู้ซื้อรับรองผ่านระบบไว้แล้วว่าจะจ่าย) ก็เพียงเข้าไปกดในหน้าจอโปรแกรม ก็สามารถทำได้เลย สถาบันการเงินก็ทราบ ผู้ซื้อก็เห็น มีการคำนวณดอกเบี้ยและโอนเงินกันได้ในวันทำการถัดไป โดยไม่ต้องยุ่งยากทำเอกสารเพิ่มเติมแต่อย่างใด

แม้ว่า SCF จะมีมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1990 แต่ผลิตภัณฑ์นี้เริ่มเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ โดยปัจจุบันตลาด SCF มีขนาดอยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคำนวณเป็นรายรับรวมได้ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2010 ตลาดโดยรวมของ SCF เติบโตในอัตราเฉลี่ย 20% ต่อปี ในขณะที่ผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิมอย่างการชำระค่าสินค้าผ่านธนาคาร หรือ Letter of Credit เริ่มได้รับความนิยมลดลง

สำหรับธุรกิจที่นิยมใช้ SCF นั้น ก็ได้แก่ สินค้าทุน พลังงาน รถยนต์ ซึ่งมีการจัดการด้านห่วงโซ่อุปทาน และความมั่นคงของผู้ขาย เป็นปัจจัยสำคัญ

SCF ถือเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนรูปแบบหนึ่ง ที่ผู้ลงทุนรายใหญ่ และผู้ลงทุนสถาบัน ใช้เป็นเครื่องมือในการกระจายการลงทุน โดยมุ่งหวังอัตราผลตอบแทนที่เหนือกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอย่าง LIBOR โดยการลงทุนในผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ผู้ลงทุนควรศึกษาถึงความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ เช่น ความผันผวน ผลตอบแทน และหลักประกันที่เกี่ยวข้องก่อนการลงทุน