ขยะพลาสติก: ถอดบทเรียนจากอียูสู่อาเซียน

ขยะพลาสติก: ถอดบทเรียนจากอียูสู่อาเซียน

ขยะพลาสติกล้นประเทศ เราจะมีวิธีจัดการวิกฤติขยะพลาสติกนี้ได้อย่างไร

วันนี้ ผู้เขียนในฐานะเป็นผู้ช่วยนักวิจัย จะทำหน้าที่ถอดบทเรียนจากยุโรปมาให้แฟนคอลัมน์ “EU Watch” ได้อ่านกันนะคะ

วิกฤติขยะพลาสติก

ในช่วงปีที่ผ่านมาเรามักจะเห็นข่าวเกี่ยวกับการประกาศส่งกลับขยะพลาสติกสู่ประเทศต้นกำเนิดในหลายๆ ประเทศ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือ แม้แต่ประเทศไทยเอง ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนเริ่มหันมากวดขันการนำเข้าขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การตื่นตัวนี้เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการนำเข้าขยะพลาสติก และความพยายามลักลอบสำแดงสินค้าผิดประเภทที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการนำเข้า

ปัจจัยหนึ่งของการการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าขยะพลาสติกของอาเซียนคือนโยบาย “National Sword” ของประเทศจีน โดยนโยบายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าขยะผิดกฏหมายของผู้ประกอบการในจีน หรือการนำเข้าเพื่อรีไซเคิลที่ไม่เกิดขึ้นจริง หากแต่ถูกนำไปทิ้งหรือเผาในที่โล่งซึ่งส่งผลอย่างมากต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนชาวจีน นโยบายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 โดยหลังจากการบังคับใช้ ปริมาณการนำเข้าขยะพลาสติกของจีนก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ประเทศจีนนำเข้าขยะพลาสติกกว่า 581,000 ตัน โดยปริมาณดังกล่าวลดลงในทันทีหลังการบังคับใช้นโยบายเหลือเพียง 23,900 ตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2561

เมื่อจีนปิดประตูการนำเข้าขยะพลาสติก การส่งออกขยะพลาสติกก็เริ่มหันเหไปยังตลาดอื่นๆ รวมถึงประเทศในอาเซียน โดยหากพิจารณาตัวเลขการนำเข้าขยะพลาสติกพิกัดศุลกากร HS 3915 จาก Trademap จะเห็นว่าประมาณการนำเข้าขยะพลาสติกของกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะช่วงปี 2561 ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าในปี 2559 และปี 2560 อาเซียนมีสัดส่วนการนำเข้าขยะพลาสติกของโลกเป็นร้อยละ 5.38 และร้อยละ 11 ตามลำดับ สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นในปี 2561 เป็นร้อยละ 27 โดยการนำเข้ารายประเทศของสมาชิกอาเซียน มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่มีการนำเข้าขยะพลาสติกสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยในปี 2559 มาเลเซียนำเข้าขยะพลาสติกราวๆ 300,000 ตัน โดยตัวเลขการนำเข้าขยะพลาสติกของมาเลเซียเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปี 2561 อยู่ที่ราวๆ 900,000 ตัน ท่ามกลางการไหลทะลักของขยะพลาสติกเข้าสู่ประเทศ รัฐบาลมาเลเซียได้พยายามออกมาตรการฉุกเฉินในการควบคุมการนำเข้าขยะ รวมไปถึงการเพิกถอนใบอนุญาตนำเข้าของบริษัทเอกชนเป็นเวลาหลายเดือน นอกจากนี้ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศส่งกลับขยะพลาสติกกว่า 450 ตัน สู่ประเทศต้นทาง

ขยะพลาสติก: ถอดบทเรียนจากอียูสู่อาเซียน

สำหรับประเทศไทย ปริมาณการนำเข้าขยะพลาสติกของไทยอยู่ในสามอันดับแรกของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยในปี 2559 ประเทศไทยนำเข้าขยะอยู่ที่ราวๆ 70,000 ตัน ในขนะที่ในปี 2561 ตัวเลขการนำเข้าได้พุ่งสูงขึ้นอยู่ที่ราว 500,000 ตัน โดยที่ประเทศที่ส่งออกขยะพลาสติกสู่ไทยอันดับต้นๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย

การค้าขยะผ่านการส่งขยะพลาสติกไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อรีไซเคิลอาจถูกมองว่าเป็นการเอาเปรียบประเทศที่มีการพัฒนาเศรษกิจที่ช้ากว่า หรือมีระเบียบภายในประเทศที่เข้มงวดน้อยกว่า

โดยที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาสังคมได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาใส่ใจการรีไซเคิลขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในประเทศของตนและหลีกเลี่ยงการส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา โดยนักวิชาการและนักกิจกรรมเสนอการให้ความสำคัญ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการปรับปรุงแบบผลิตภัณฑ์ (Redesign)

วิธีจัดการขยะพลาสติกของสหภาพยุโรป หรืออียู

หนึ่งในแนวทางจัดการปัญหาคือที่มีตัวอย่างเป็นรูปธรรมในสหภาพยุโรป คือการเข้ามามีส่วนรับผิดชอบของผู้ผลิต โดยในหนึ่งมาตรการที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์คือโครงการ Green Dot ซึ่งเป็นโครงการการสมัครใจที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปบางประเทศ เช่น เยอรมัน เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส และอีกกว่า 20 ประเทศในสหภาพยุโรป ได้นำมาใช้ในการบริหารจัดการขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์หลังจากการบริโภค โดยผู้ผลิตจะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามขนาดและลักษณะบรรจุภัณฑ์ของตน อีกทั้งยังมีข้อผูกพันที่จะต้องหาวิธีรับกลับ (Return) บรรจุภัณฑ์แล้วทำไปรีไซเคิล (Recycle) หรือนำไปใช้ใหม่ (Reclecle) โดยผู้ผลิตที่เข้าร่วมโครงการแล้ว จะสามารถนำเครื่องหมาย Green Dot ไปแสดงบนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าของตน เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดของสินค้าได้ มาตรการ Green Dot นี้ นอกจากที่จะสร้างระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์ให้เป็นรูปธรรมแล้ว ยังสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ผลิตในการลดปริมาณพลาสติกในขั้นตอนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้น้อยลงเพื่อลดต้นทุนการจ่าค่าธรรมเนียม Green Dot อีกด้วย

อีกหนึ่งมาตรการที่สหภาพยุโรปกำลังอยู่ระหว่างการบังคับใช้คือมาตรการการห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาชิกสภายุโรปได้มีมติสนับสนุนสหภาพยุโรปห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว มติดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2564 และจะครอบคลุมถึงอุปกรณ์ทานอาหาร ไม่ว่าจะเป็น หลอด ช้อน ส้อม จาน แก้วน้ำที่ทำจากพลาสติก หรือแม้แต่ที่ปั่นหู โดยภายในปี 2568 ผู้ผลิตจะต้องบรรลุเป้าหมายให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกมีส่วนประกอบของวัสดุจากการรีไซเคิลอย่างน้อย 25% และประเทศสมาชิกมีเป้าหมายที่จะเก็บบรรจุภัณฑ์หลังจากการบริโภคเพื่อนำกลับเข้าสู่ระบบให้ได้มากกว่า 90% ภายในปี 2572

ท่ามกลางปัญหาขยะพลาสติกที่ทวีความรุนแรงขึ้นในยุคของการบริโภคนิยม การสร้างความตระหนักและความรับผิดชอบในการบริโภคเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ไปกับการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ผลิตและภาครัฐ โครงการ Green Dot และมติของสภายุโรปถือเป็นสัญญาณอันดีในการสร้างมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ และยังเป็นการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ อีกทั้งยังเป็นการสร้างมาตรฐานให้รัฐบาลทั่วโลกตระหนักถึงความจำเป็นในการเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกด้วยการบูรณาการการมีส่วนร่วมจากทั้งภาครัฐ ผู้ผลิต และผู้บริโภค

กำกับประเด็นบทความโดย ดร. อาจารี ถาวรมาศ ผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd