หุ้นโรงกลั่นน้ำมัน ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

หุ้นโรงกลั่นน้ำมัน ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

หุ้นกลุ่มโรงกลั่นฯ ที่มี 'วัฏจักร' หรือที่เรียกว่าหุ้นประเภท 'Cyclical Stock'

หุ้นกลุ่มโรงกลั่นฯ (อาทิ TOP, ESSO, SPRC, BCP, IRPC, PTTGC) เป็นขาลงมาตลอดตั้งแต่ปลายปี 2561 ต่อเนื่องจนถึงในขณะนี้ สาเหตุหลักมาจาก 'ค่าการกลั่น' ที่ปรับลงมากผิดปกติในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผลการดำเนินงานของหุ้นในกลุ่มฯอ่อนแอตามภาวะอุตสาหกรรมฯ อย่างไรก็ดีสำหรับ หุ้นกลุ่มโรงกลั่นฯ ที่มี 'วัฏจักร' หรือที่เรียกว่าหุ้นประเภท 'Cyclical Stock' ตราบใดที่ยังมีความต้องการน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ก็จะทำให้ค่าการกลั่นมีทั้งขึ้นและลง เป็นไปตามหลัก อุปสงส์-อุปทาน ตามหลักเศรษฐศาสตร์

ฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) เผยแพร่บทวิเคราะห์หุ้นกลุ่มพลังงาน วันที่ 3 กรกฏาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยประเมินว่า GRM ในตลาดสิงคโปร์ที่ US$3.05/bbl ใน 2Q62 เป็นจุดต่ำสุดของปีนี้แล้ว เนื่องจากอุปทานน้ำมันเบนซินอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และเป็นช่วงที่อุปสงค์น้ำมันดีเซลต่ำตามฤดูกาล โดยเราคาดว่าค่าการกลั่นของไทยจะฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญใน 2H62 จากนโยบายของ IMO ที่จะลดส่วนผสมของกำมะถันในน้ำมันเตาลงจาก 3.5% เหลือ 0.5% ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นก่อนที่นโยบายจะมีผลบังคับใช้ และหนุนให้ Spread ของน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 

ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯ คาดว่า Spread ของน้ำมันดีเซลจะเพิ่มขึ้นจาก US$12.6/bbl ใน 1H62 เป็น US$16.0/bbl ใน 2H62 และ US$20.0/bbl ในปี 2563 นอกจากนี้ประเมินว่า Spread ของน้ำมันเบนซินก็จะฟื้นตัวขึ้นจาก US$5.6/bbl ใน 1H62 เป็น US$10.0/bbl ใน 2H62 และ US$11.0/bbl ในปี 2563 เนื่องจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งขึ้นจากการที่สหรัฐฯ เข้าสู่ driving season ในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้อุปทานน้ำมันเบนซินจากสหรัฐฯ คาดว่าจะลดลงถ้าหากเริ่มมีการใช้งานท่อส่งน้ำมันดิบ EPIC และ Cactus II เพราะโรงกลั่นที่สหรัฐฯ จะลดอัตราการกลั่นลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบ WTI ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งฝ่ายวิจัยฯเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของ Spread น้ำมันเบนซิน หลังจากส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI หดแคบลงเหลือประมาณ US$6/bbl จาก US$10/bbl ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับในระยะสั้น ตลาดโรงกลั่นได้แรงหนุนจากการที่โรงกลั่นของ Philadelphia Energy Solutions ซึ่งมีขนาด 335KBD และคิดเป็น 1.8% ของกำลังการกลั่นทั้งหมดของสหรัฐ ถูกปิดเนื่องจากเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ ฝ่ายวิจัยฯ มีมุมมองบวกกับแนวโน้มตลาดโรงกลั่นใน 2H62 โดยเลือก TOP และ IRPC เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มฯ สำหรับ TOP แม้ว่าบริษัทฯ จะมีกำหนดปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นเป็นเวลา 45 วันในเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม 2562 แต่ประเมินว่า TOP จะเป็นหนึ่งในกิจการที่ได้อานิสงส์มากที่สุดเมื่อตลาดโรงกลั่นฟื้นตัวขึ้นเพราะเป็นโรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีกำลังการกลั่นสูงถึง 275KBD และบริษัทมีกำไรจากธุรกิจโรงกลั่นคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของ EBITDA รวมทั้งหมด 

นอกจากนี้ สำหรับ IRPC ฝ่ายวิจัยฯประเมินว่าบริษัทจะได้อานิสงส์มากที่สุดในบรรดาโรงกลั่นในประเทศเมื่อนโยบายของ IMO มีผลบังคับใช้ในปี 2563 เนื่องจากเป็นโรงกลั่นในประเทศเพียงแห่งเดียวที่มี Hyvahl unit ซึ่งทำให้สามารถผลิตน้ำมันเตาที่มีส่วนผสมของกำมะถันแค่ 0.5% ได้ ซึ่งหมายความว่า IRPC จะได้อานิสงส์จากทั้ง Spread ที่เพิ่มขึ้นของน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่มีส่วนผสมของกำมะถันต่ำ ในขณะที่โรงกลั่นแห่งอื่นๆ จะถูกกระทบจาก Spread ที่ลดลงของน้ำมันเตาที่มีส่วนผสมของกำมะถันสูง เมื่อนโยบายของ IMO มีผลบังคับใช้ ดังนั้นในสถานการณ์ที่ดัชนี SET index ปรับตัวขึ้นมาใกล้ระดับ PE +16 เท่า ที่บริเวณ 1,750 จุด และ Earnings yield gap (ส่วนต่างของ Earnings yield หรือ ส่วนกลับของ PE ratio กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี) ลดลงสู่ระดับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 4.2% แสดงให้เห็นว่า Upside ของดัชนี อาจจะเริ่มจำกัด และหุ้น Big cap หลายตัวเริ่มเต็มมูลค่า

หุ้นกลุ่มโรงกลั่นที่ยัง Laggard และแนวโน้มผลการดำเนินงานคาดว่าจะฟื้นตัวใน 2H62 อาจเป็นเป้าหมายในการ Switching หรือ เปลี่ยนตัวเล่น ของนักลงทุนได้เช่นกัน สำหรับ 'เป้าหมาย' ดัชนี SET Index มีโอกาสที่จะแรลลี่ขึ้นทะลุระดับเหมาะสมที่ 1,750 จุด ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ อาทิ i) การลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และการประชุม กนง, ii) การยุติหรือสงบศึก สงครามการค้า, และ iii) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ต้องเป็นรูปธรรมและมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเราประเมินระดับดัชนี SET index หากเงื่อนไขทั้ง 3 ประการครบถ้วน อาจมีโอกาสทดสอบระดับ 1,850 จุดได้ ซึ่งจะเป็นระดับที่ Yield gap ลดลงสู่ระดับต่ำสุดของรอบก่อนที่ 3.8% และ Shiller’s PE พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดรอบก่อนที่ 21 เท่า