“ห่วงโซ่อุปทาน” ความรับผิดชอบในยุคโลกาภิวัฒน์ 4.0

“ห่วงโซ่อุปทาน” ความรับผิดชอบในยุคโลกาภิวัฒน์ 4.0

ทุกหน่วยงานทั้งรัฐ-เอกชน ล้วนพึ่งพาห่วงโซ่คุณค่าเพื่อการส่งมอบสินค้าและบริการไปทั่วโลกแบบไร้รอยต่อร่วมกันทัังสิ้น

ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกล้วนเกี่ยวพันกับชีวิต รวมถึงความมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของบรรดาธุรกิจต่างๆ เกษตรกร และผู้บริโภคจำนวนมาก ความรับผิดชอบและการแสดงออกถึงหน้าที่จึงเป็นสิ่งสำคัญซึ่งพวกเขาต้องยึดถือ นั่นคือต้องแน่ใจว่าห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกมีบทบาทในการบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดจนยังประโยชน์แก่ทุกชีวิตในห่วงโซ่คุณค่านั้น

ในภูมิภาคเอเชียเอง นอกจากความท้าทายกับโครงสร้างพื้นฐานและความจำเป็นในการหาแนวทางบริหารจัดการให้สอดคล้องกับนโยบายทางการเมือง การค้า และเศรษฐกิจที่ซับซ้อนแล้ว ยังมีความท้าทายทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ห่วงโซ่อุปทานโลกมีส่วนเกี่ยวโยงด้วยอีกมากมาย อีกทั้งมลพิษพลาสติกที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่มีข้อมูลจากศึกษาวิจัยระบุว่า 5 ประเทศในภูมิภาคนี้ ถูกทิ้งสู่มหาสมุทรรวมกันมากกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก

มลพิษทางอากาศ-น้ำ ที่รุนแรงทำให้บางเมืองในเอเชียมีมลพิษมากที่สุดในโลก การใช้แรงงานทาสในปัจจุบันก็ยังคงส่งผลกระทบกับคนกว่า 40 ล้านชีวิต โดย 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ได้รับผลกระทบอยู่ในทวีปเอเชีย

การแก้ปัญหาบรรจุภัณฑ์พลาสติก ของเสีย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิทธิแรงงาน ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอันดับแรก แต่ด้วยความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทานโลก สิ่งเหล่านี้ก็เป็นปัญหาที่ซับซ้อนสำหรับองค์กรต่าง ๆ ในการแก้ไขเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้นประชากรโลกซึ่งคาดว่าจะแตะ 9 พันล้านคน และการผลิตอาหารโลกที่จะต้องเพิ่มขึ้น 60% ภายในปี 2593 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ คาดอุปสงค์ซึ่งเพิ่มขึ้นนี้จะผลักดันให้ปริมาณการผลิตอาหารสูงขึ้นอย่างมหาศาล นำไปสู่ความท้าทายอื่นๆ อาทิ อุปทานน้ำ การใช้ประโยชน์จากที่ดิน ตัดไม้ทำลายป่า และความหลากหลายทางชีวภาพอันเกินดุล การสร้างดุลยภาพของความต้องการเหล่านี้จำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นต่อการตรวจสอบย้อนกลับและความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน

เราสามารถช่วยเพิ่มความโปร่งใสให้กับห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและกระบวนการในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการฝึกอบรมบุคลากรและซัพพลายเออร์ เราเชื่อว่าภาคธุรกิจต่างๆ สามารถทำงานร่วมกับรัฐบาล รวมถึงองค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหามากมายที่ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ผ่านช่องทางทั้ง 3 นี้

ประการแรก เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายโดยองค์กรใดหรือประเทศใดเพียงลำพัง ทว่าต้องการความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนทั่วโลก สิ่งนี้คือแรงจูงใจให้กลุ่มซีพีเป็นหัวหอกในสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยขององค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) เพื่อผลักดันโครงการด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต เครือข่ายนี้เติบโตขึ้นในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน มีบริษัท 40 แห่งในประเทศไทยทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อส่งเสริมการดำเนินการตามหลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในการประกอบกิจการ ผ่านการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน การหารือ และการฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมให้มีแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารทะเล 

เราได้เห็นผลการดำเนินงานของ Seafood Taskforce หรือพันธมิตรความร่วมมือระหว่างบริษัทค้าปลีกอาหารทะเลชั้นนำจากสหรัฐและสหภาพยุโรป ผู้ผลิตอาหารทะเลไทย และองค์กรระหว่างประเทศอิสระ ในการพัฒนาและส่งเสริมระบบตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาการทำประมงเกินขนาด

นอกจากนี้ เราเห็นถึงความสำคัญของการมีคณะพัฒนาระบบการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงไทย(Thai Sustainable Fisheries Roundtable หรือ TSFR) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของบรรดาสมาคมอุตสาหกรรมการประมง องค์กรเพื่อการทำการประมงอย่างยั่งยืน และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลประจำประเทศไทย เพื่อพัฒนาแนวทางการจับปลาอย่างยั่งยืนในอ่าวไทย และทะเลอันดามันด้วย

ประการที่สอง เทคโนโลยี กระบวนการในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม ยังเป็นกำลังสำคัญในการนำความสามารถด้านการตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกได้มากขึ้น เราได้เห็นผลกระทบเชิงบวกอย่างมหาศาลจากเทคโนโลยีการผสมผสานชั้นสูง อาทิ หุ่นยนต์ การตรวจสอบแบบเรียลไทม์ และเซ็นเซอร์ เพื่อช่วยให้ฟาร์มไก่และไข่ ฟาร์มสุกรแบบผสมผสาน และโรงงานผลิต ถูกสุขอนามัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ระบบดาวเทียมช่วยให้เกษตรกรหาทำเลพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมได้ ส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต (IoT) ก็จะสามารถช่วยให้ระบบชลประทานจัดการการใช้น้ำได้ดีขึ้น ในขณะที่เครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบบล็อกเชนช่วยให้ห่วงโซ่อุปทานมีความโปร่งใส โดยทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดตามสินค้าได้ตลอดกระบวนการผลิต กล่าวถึงการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องในเทคโนโลยีดาวเทียม เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทค และหุ่นยนต์ ยังได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการปรับใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมแล้ว อาจมีผลอย่างมากในการช่วยให้เราเข้าใจโรคภัยต่างๆ ที่เกิดกับสัตว์ ระบาดวิทยา รวมถึงวงจรชีวิตของสินค้า เพื่อรับประกันว่าฟาร์มของเรามีความยั่งยืนมากขึ้น

ประการสุดท้าย การฝึกอบรมและการมีส่วนร่วมของพนักงาน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน มีบทบาทสำคัญในการประกันว่ามีการนำหลักการความรับผิดชอบมาใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เราได้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้นำรุ่นใหม่ และนั่นคือเหตุผลที่เราฝึกอบรมบุคลากรให้เป็นตัวแทนของความยั่งยืน และให้อำนาจแกพวกเขาให้นำความรู้และเป้าหมายกลับไปพัฒนาภาคส่วนต่างๆ ของธุรกิจ เราได้ก่อตั้งสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อฝึกอบรมผู้บริหารรุ่นใหม่ในแต่ละปี พร้อมให้พวกเขาได้ลงมือทำโครงการธุรกิจจริงเพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงออกถึงวิธีคิดใหม่ๆ รวมถึงมีความเข้าใจในผลลัพธ์ทางสังคมหรือคุณค่าต่อสังคมของธุรกิจของเรา เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงทิศทางใหม่ๆ ของเหล่านวัตกร ผู้มองเห็นประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง (Disruptor) พนักงาน และผู้บริโภครุ่นต่อไปของเรา เพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขา และปรับตัวเข้ากับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

ภาคธุรกิจสามารถเป็นกำลังให้เกิดสิ่งดีๆ ในห่วงโซ่อุปทานโลกได้ หากเราเร่งสร้างพันธมิตรที่มีประสิทธิภาพให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง รวมถึงใช้ประโยชน์จากกระบวนการในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยี และฟังเสียงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเรา

ผมเชื่อว่าภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีบทบาทในการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานอันยั่งยืน และเราจำเป็นต้อง กำหนดเหตุผลทางธุรกิจ (Business Case) เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความรับผิดชอบ สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกร และผู้จัดส่งสินค้าวัตถุดิบ (supplier) ยินดีและเต็มใจเป็นผู้จัดส่งผลิตภัณฑ์วัตถุดิบที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น

รวมถึงส่งเสริมสนับสนุน ให้บริษัทต่าง ๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานของเราดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบมากขึ้น และทั้งหมดนี้คือ ด้วยการทำงานร่วมกันเท่านั้นจะทำให้เราสามารถสร้างความแตกต่างสู่สิ่งที่ดีกว่าได้อย่างแน่นอน ซึ่งหมายถึงการสร้างแรงจูงใจให้บรรดาเกษตรกรและซัพพลายเออร์มีความรับผิดชอบมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานของเรายึดแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบมากขึ้น มันคือการทำงานร่วมกันเพื่อรังสรรค์สิ่งที่แตกต่าง

ที่มา : World Economic Forum

 โดย... 

ศุภชัย เจียรวนนท์

ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์