เมื่อบาบิโลนเป็นมรดกโลก

เมื่อบาบิโลนเป็นมรดกโลก

เมื่อต้นเดือน องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติประกาศรับเมืองบาบิโลน เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

บาบิโลนเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางอารยธรรมเก่าแก่ของย่านตะวันออกกลางที่อยู่ระหว่างแม่น้ำยุเฟรติสและแม่น้ำไทกริส หรือเมโสไปเตเมียซึ่งอยู่ในประเทศอิรัคในปัจจุบัน ดังเป็นที่ทราบกันดี พื้นที่ตรงนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของการรู้จักทำเกษตรกรรมซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดครั้งแรกของสังคมมนุษย์

เกษตรกรรมอันเป็นการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทำให้บรรพบุรุษของมนุษย์เราเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการเร่ร่อนหาของป่าและล่าสัตว์ไปตามฤดูกาลมาเป็นการตั้งบ้านเรือนถาวร การผลิตอาหารได้มากของชาวเมโสโปเตเมียส่งผลให้ผู้คนส่วนหนึ่งมีเวลาเหลือสำหรับทำอย่างอื่นมากขึ้น ผลคือความก้าวหน้าทางวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีพร้อมกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้านั้นนำไปสู่การพัฒนาบ้านเมืองและวัฒนธรรมรวมทั้งการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ อย่างใหญ่โตและวิจิตร สิ่งก่อสร้างที่ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในฐานะหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณได้แก่ “สวนสวรรค์แห่งบาบิโลน” (The Hanging Garden of Babylon)

คงเป็นที่ทราบกันดีว่า สวนสวรรค์นั้นไม่มีให้ดูเช่นเดียวกับสิ่งมหัศจรรย์ของย่านตะวันออกลางจำพวกพีรามิด ทั้งนี้เพราะมันได้ผุพังไปหมดแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีลงความเห็นหลังจากศึกษาบริเวณซากของมันว่ามันต้องวิจิตรตระการตามาก การผุพังของมันอาจมองว่าเป็นธรรมดาของสรรพสิ่งซึ่งไม่อาจอยู่ได้ตลอดไป แต่ในขณะเดียวกันอาจมองได้ว่ามันอาจอยู่ต่อมาอีกนานหากอารยธรรมในย่านนั้นไม่ล่มสลายลงด้วยปัจจัยที่อาจมองได้ว่ามิใช่ธรรมชาติล้วนๆปัจจัยพื้นฐานได้แก่ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวเมโสโปเตเมียกับธรรมชาติรอบด้านและระหว่างชาวเมโสโปเตเมียกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวเมโสโปเตเมียกับธรรมชาติรบด้านมีรากฐานมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความก้าวหน้านี้ทำให้พื้นที่ในย่านนั้นมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย แต่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าจำนวนประชากร ทั้งนี้เพราะชาวเมโสโปเตเมียซึ่งรวมทั้งส่วนที่อยู่ในอาณาบริเวณของบาบิโลนมิได้ใช้ทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิตเท่านั้น หากยังใช้เพื่อการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ชนิดใหญ่โตและวิจิตรอีกด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสภาวะที่มองว่าเป็นอารยธรรม แต่มันมักต้องใช้ทรัยกรมหาศาลซึ่งเกินความจำเป็นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์

การเพิ่มขึ้นของประชากรและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในนามของการสร้างอารยธรรมนำไปสู่ความร่อยหรอของทรัพยากรบางอย่าง ความร่อยหรอนั้นนำไปสู่การขาดดุลในระบบนิเวศและความขาดแคลนในสังคมมนุษย์ การขาดดุลนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงจำพวกความแห้งแล้งเกินปกติซึ่งเป็นเสมือนการตอบโต้ของธรรมชาติเมื่อถูกมนุษย์คุกคามจนทนไม่ไหว ส่วนความขาดแคลนนำไปสู่การแย่งชิงกันในสังคมมนุษย์ซึ่งเพิ่มความเข้มข้นและกว้างขวางขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสงครามระหว่างกลุ่มชนส่งผลให้อารยธรรมในย่านนั้นล่มสลาย

บาบิโลนน่าจะได้เป็นมรดกโลกมาก่อนหน้านี้ แต่ปัจจัยภายในทำให้ไม่เกิดขึ้นรวมทั้งการปกครองของซัดดัม ฮุสเซน การเป็นมรดกโลกจะนำไปสู่การฟื้นฟูหลายอย่างรวมทั้งสิ่งต่างๆ ที่ถูกทำลายโดยซัดดัม ฮุสเซนเองและโดยทหารต่างชาติในสงครามขับไล่เขา การฟื้นฟูนั้นจะสร้างแรงจูงใจให้เกิดทั้งการศึกษาและการไปชมของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น บนฐานของประสบการณ์ พอจะอนุมานได้ว่า ความสนใจในด้านการศึกษาและของนักท่องเที่ยวจะมุ่งเน้นไปในด้านความก้าวหน้าและความวิจิตรตระการตาของบาบิโลน การมุ่งเน้นเช่นนั้นจะทำให้เกิดบทเรียนสำหรับนำมาใช้ในโลกปัจจุบันเพียงจำกัด การศึกษาที่จะให้บทเรียนมากกว่าจะมาจากการมุ่งเน้นปัจจัยที่ทำให้อารยธรรมในย่านนั้นล่มสลายรวมทั้งบทบาทของเทคโนโลยีทั้งด้านดีและด้านร้าย ทั้งนี้เพราะโลกปัจจุบันกำลังประสบสภาวะไม่ต่างกับย่านเมโสโปเตเมียในยุคนั้น เทคโนโลยีมีประโยชน์มหาศาล แต่แฝงคำสาปมหาประลัยเอาไว้ด้วย หากใช้แบบไร้ความรู้ทันและจรรยา มันจะนำมาซึ่งความล่มจม