ข้อเสนอ 6 ประเด็น แผนบริหารทรัพย์ทางทะเล

ข้อเสนอ 6 ประเด็น แผนบริหารทรัพย์ทางทะเล

จากข้อมูลกิจกรรมการใช้ประโยชน์ และข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

สรุปได้ว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มของกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเลและชายฝั่งเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของปริมาณ มูลค่า และรูปแบบ ขณะที่แนวโน้มของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นฐานสำคัญของกิจกรรมกำลังเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่อง หากปล่อยให้อยู่ในสภาวะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะการสูญเสียผลประโยชน์ทางทะเลสุทธิในระดับที่น่าเป็นห่วง

สาเหตุที่ทำให้ไทยต้องสูญเสียผลประโยชน์ทางทะเลส่วนหนึ่งเกิดจากการแยกส่วนการบริหารจัดการระหว่างกิจกรรมการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขาดการวางแผนในการใช้ทรัพยากรทางทะเลและกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเล ทำให้การบริหารจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของไทยในภาพรวมขาดประสิทธิภาพ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ต้นทุนด้านทรัพยากรทางทะเลเสื่อมโทรม เช่น การท่องเที่ยวทางทะเล ควรลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรปะการังโดยตรง เพราะปะการังเป็นทรัพยากรทะเลที่เป็นฐานของกิจกรรมการท่องเที่ยว

ข้อเสนอ 6 ประเด็น แผนบริหารทรัพย์ทางทะเล

นอกจากนี้ ควรสนับสนุนกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับฐานทรัพยากร และสนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการกำหนดเครื่องมือในการจัดการผลประโยชน์ทางทะเลทั้งระบบ เช่น การประเมินมูลค่าเศรษฐกิจภาคทะเล ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง , พรบ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 เป็นต้น ที่สำคัญควรมุ่งสนับสนุนให้เกิดการทำงานเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ หรือ สนับสนุนให้มีการป้องกันปัญหา ก่อนที่จะเกิดปัญหาการสูญเสีย

ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจน เพื่อการบริหารจัดการทางทะเลเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนไปพร้อมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาและเพิ่มผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศได้ในที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ ( พ.ศ.2561-2580) โดยได้จัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อย (Policy brief) ต่อประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางทะเล สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม รวมทั้งหมด 6 ประเด็น ได้แก่ กลุ่มที่1 ข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการผลประโยชน์ทางทะเลในภาพรวม ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1. การวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล ซึ่งมีข้อค้นพบสำคัญคือ ประเทศไทยยังไม่มีการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลในภาพรวม ทำให้ขาดความสามารถในการมองเห็นและการวางแผนกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเลบนฐานทรัพยากรอย่างเป็นองค์รวม

กลุ่มที่ 2 ข้อเสนอแนะในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ประเด็นที่ 2.พื้นที่คุ้มครองทางทะเล พบว่า มีการทับซ้อนกันของพื้นที่คุ้มครองทางทะเล เนื่องจากการขาดข้อมูลและแผนที่แสดงข้อมูลเชิงบูรณาการ ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และจะต้องอาศัยความมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่เป็นสำคัญ ประเด็นที่ 3.การบริหารจัดการเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาปะการังเสื่อมโทรม โดยการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง เพื่อให้ระบบนิเวศปะการังกลับคืนทั้งระบบในระยะยาว จึงควรมีมาตรการควบคุมกิจกรรมการใช้ประโยชน์ และการกำหนดตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ประเด็นที่ 4. แนวทางป้องกันแก้ไขปัญาขยะทะเล พบว่า ขยะถือเป็นวัตถุดิบ จึงเสนอแนวคิดเปลี่ยนขยะเป็นเงิน และจัดการขยะทั้งแต่บนบก หรือการทำให้วัตถุดิบเหลือใช้กลายเป็นวัตถุดิบสำหรับกระบวนการผลิตอื่นๆ ประเด็นที่ 5.แนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พบว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง นำไปสู่การสูญเสียระบบนิเวศหาดด ดังนั้น การรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศปะการังและระบบนิเวศป่าชายเลนจะต้องเชื่อมโยงกับระบบนิเวศหาด เป็นต้น

กลุ่มที่3 ทิศทางการบริหารจัการเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ประกอบด้วย ประเด็นที่ 6.ทางเลือกในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในกิจการปิโตรเลียมในทะเลพบว่า การวางแผนเพื่อรองรับการื้อถอนสิ่งติดตั้งควรจะเป็นแผนการในระยะยาวเพื่อรองรับสิ่งติดตั้งทุกประเภอ และก่อให้เกิดผลประโยชน์กับประเทศมากที่สุด โดยเสนอให้มีการพัฒนาระบบการรื้อถอนทั้งระบบ เช่น ด้านอุตสาหกรรม และด้านบุคลากรเพื่อรับมือกับวิธีการรื้อถอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ข้อเสนอแนะทั้ง 6 ประเด็น ได้ถูกนำเสนอในที่ประชุมระดับนโยบายของคณะกรรมการต่างๆ ล่าสุดได้มีการนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายบางส่วนจากประเด็นการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล และประเด็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลฯ เข้าสู่ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย เรื่องการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์และกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ซึ่งได้ผ่านมติเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ ข้อเสนอแนะดังกล่าวยังได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทยุทธศาสตร์ที่ 5 ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

โดย... 

ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา: โครงการการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย" ซึ่งเป็นโครงการคู่ขนานกับโครงการสถานการณ์และข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)