วิทยาศาสตร์กับความเชื่อในสังคมไทย

วิทยาศาสตร์กับความเชื่อในสังคมไทย

ท่านผู้อ่านเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมคะว่า คนไทยดูๆ ก็เป็นคนที่รับวัฒนธรรมต่างประเทศได้ง่าย

 เช่น การใช้มือถือก็ดี การใส่เสื้อสายเดี่ยวก็ดี การใส่กางเกงยีนส์ขาดๆ การใช้มอเตอร์ไซค์ ล้วนแต่รับแฟชั่นและวัฒนธรรม และวิถีชีวิตใหม่ๆ ได้ง่าย แต่ทำไมเมื่อมาถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเรากลับช้ากว่าชาติอื่นๆ ยกตัวอย่าง เช่น จีนนั้นเปิดประเทศและรับเทคโนโลยีต่างประเทศในปี 1973 หลังประเทศไทยที่ได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในปี 1960 แต่มาในปัจจุบันจีนก็ก้าวหน้าไปจนลิบลับแล้ว หัวเว่ย (Huawei) ก็ไล่กินแอปเปิ้ล (Apple) อยู่ทุกวัน ส่วนเกาหลีนั้น เมื่อตอนแบ่งแยกประเทศก็มี GDP ใกล้เคียงกับไทย เมื่อแบ่งประเทศแล้วเกาหลีใต้นั้นเป็นส่วนที่เป็นการเกษตรและอุตสาหกรรมเบาที่ล้าหลังกว่าเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมหนักด้วยซ้ำ แต่มาวันนี้คนไทยกลับเป็นลูกค้าใหญ่ของซัมซุง (Samsung) ฮุนได (Hyundai) จ่ายเงินกันมือเป็นระวิง ทั้งหมดนี้เป็นเพราะความเชื่อพื้นฐานในสังคมไทยนั้นเป็นอุปสรรคส่วนหนึ่งของความไม่ก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยใช่หรือไม่

เมื่อวันที่ 21 พ.ค.นี้ แผนงานคนไทย 4.0 โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิศึกษาสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง ความเชื่อในสังคมไทยกับวิทยาศาสตร์: ปรปักษ์ พันธมิตรหรืออยู่ร่วมอย่างแตกต่าง” มีวิทยากรที่มีชื่อ 2 ท่าน คือ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรากฏว่ารายการนี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีผู้เข้าชมผ่าน Facebook Live กว่า 7,000 คน จึงขอนำบางส่วนมาอธิบายให้ผู้ที่ยังไม่มีโอกาสได้รับฟัง ดังนี้

รศ.ดร.เจษฎา ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ ตอบคำถามข้างบนนี้ว่า ที่ประเทศไทยตกรถไฟขบวนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนานาชาติ แล้วรัฐเพิ่งจะมากระตุ้นโดยฉายภาพไทยแลนด์ 4.0 บนพื้นฐานของนวัตกรรมและเทคโนโลยีหลังชาติอื่นก็เพราะวิธีการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนของเรา ซึ่งเป็นการสอนให้ “เชื่อ” วิทยาศาสตร์แต่ไม่สอนให้ใช้เหตุผลในการพิสูจน์ความจริง ไม่ได้สอนให้มีความสามารถที่จะโต้เถียงและใช้เหตุผลล้มล้างความคิดที่เป็นเท็จ เราลืมไปว่าวิทยาศาสตร์ คือ ข้อเท็จจริงที่เสมือนยาซึ่งมีวันหมดอายุ 

ตัวอย่างที่น่าสนใจจำนวนมาก เช่น ปัญหาการรับรู้รสชาติของลิ้น ซึ่งถูกสอนให้เชื่อแผนที่การรับรสของลิ้นทั้งๆ ที่ในความรู้สึกไม่เป็นเช่นนั้นและพิสูจน์ได้ง่าย ครูก็จะไม่ยอมให้พิสูจน์ ปัญหาการหลอกลวงคนทั้งประเทศด้วย GT200 กำเนิดของบั้งไฟพญานาค และการหลอกลวงผู้ไม่รู้โดยผู้ที่อ้างตนว่าเป็นคนทรงของเจ้าต่างๆ มีอิทธิฤทธิ์ทนไฟทนร้อน ซึ่งขอให้ไปตามดูรายละเอียดกันใน Facebook live ในเว็บไซต์แผนงานคนไทย 4.0 (http://www.khonthai4-0.net/) การอาศัยความเชื่อเป็นฐานในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสสำคัญๆ ที่จะก้าวหน้าไปเหมือนคนอื่นเขา เช่น ในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพโดยการตัดต่อยีน

ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ เริ่มต้นโดยการอธิบายวิวัฒนาการของความเชื่อของมนุษย์ที่ค่อยๆ ก้าวมาจากไสยศาสตร์ มาเป็นศาสนา และวิทยาศาสตร์ในที่สุด ในยุคแรกๆ สังคมตะวันตกสมัยใหม่ มุ่งคิดแบบวิทยาศาสตร์ เน้นเหตุเน้นผล พยายามลดความหลงใหลงมงาย แต่มนุษย์ก็มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของตน เพราะต้องเผชิญหน้ากับความไม่รู้ ความไม่แน่นอน ที่จำเป็นต้องหาคำอธิบายให้ตนเองคลายกังวล ศ.ดร.อานันท์ ย้ำว่าความเชื่อไม่ใช่ความจริงอันบริสุทธิ์ผุดผ่องแต่อยู่ภายใต้อำนาจการเมืองและการครอบงำ แต่อำนาจศักดิ์สิทธิ์ หรือความเชื่อด้านไสยศาสตร์ซึ่งเป็นอำนาจเชิงวัฒนธรรมนั้นอยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐและอำนาจอื่นๆ ทำให้มีการ “เลือกเชื่อ” และ “เลือกใช้” ความเชื่อเพื่อที่จะแสวงหาอิสระเสรีภาพที่จะปลดปล่อยตัวเองจากกรอบอำนาจที่ควบคุมอยู่ ดังนั้นในความเชื่อทางไสยศาสตร์จึงถูกใช้โดยคนหลายกลุ่มที่มีปริบททางการเมืองและทางสังคมที่แตกต่างกัน เพื่อเหตุผลที่แตกต่างกัน

การจัดการกับความเชื่อจึงขึ้นอยู่กับวิธีการที่ผู้นำความเชื่อไปใช้ ในกรณีของการตอกย้ำความเชื่อทางไสยศาสตร์เพื่อหลอกลวงประชาชน หรืออาศัยความเชื่อวิทยาศาสตร์เชิงศรัทธาหาผลประโยชน์ ต้องใช้แนวความคิดทฤษฎีของคู่ต่าง คือ ต้องใช้การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในการทำลายการเอารัดเอาเปรียบ ดังเช่นกิจกรรมที่ รศ.ดร.เจษฎา ได้เคยพิสูจน์มาในกรณีของ GT200 อย่างไรก็ดี แต่จะใช้ทฤษฎีเดียวกันนี้ไปเหมารวมว่าความเชื่อทางไสยศาสตร์เป็นความเชื่อที่เป็นภัยต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เพราะคนตัวเล็กๆ ที่ไร้อำนาจในสังคมใช้ความเชื่อเป็นกลยุทธ์ที่จะประท้วงหรือแสดงออก รวมทั้งการต่อสู้เพื่อการสร้างตัวตนในเชิงวัฒนธรรม เมื่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์เป็นพื้นที่นอกการควบคุมก็เปิดโอกาสให้มีพื้นที่ช่วงชิงอำนาจและการสร้างตัวตน เช่น ผีแม่ม่ายที่ทนทุกข์จากการสูญเสียสามี (ผู้ซึ่งพยายามเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์เพื่อสร้างรายได้แต่กลับต้องเสียชีวิต) โดยการเอาเครื่องหมายลึงค์มาตั้งที่หน้าบ้าน เป็นการฟ้องให้เห็นถึงผลของความสูญเสียจากการเข้าสู่กระแสโลกาภิวัฒน์ หรือการที่ชาวบ้านกล่าวถึงผีตามตึกสูงที่ร้าง (เพราะวิกฤตเศรษฐกิจ) เป็นการอธิบายแบบบ้านๆ ของความล้มเหลวของความเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่

ดังนั้น ดูเสมือนว่าความเชื่อที่อาจจะดูไม่เป็นวิทยาศาสตร์นั้นก็ไม่น่าจะเป็นพิษเป็นภัยไปเสียทั้งหมด แต่การที่จะมองว่าความเชื่อชุดใดเป็นความเชื่อที่มีผลลบต่อสังคมนั้นก็มาต้องดูปริบทของการนำไปใช้ เช่น การสร้างหนังผีเพื่อสร้างความบันเทิงของผู้เข้าชม ก็เป็นเรื่องที่สังคมรับรู้อยู่ว่าไม่ไช่เรื่องจริง ไม่ใช่หลอกลวง แต่เป็นเรื่องสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิง ขณะที่การทรงเจ้าอาจต้องมีการพิสูจน์ การเอาวิทยาศาสตร์มาเป็นความเชื่อเพื่อหลอกลวงเอางบประมาณแผ่นดิน เช่น ในกรณี GT200 นั้นเลวร้ายกว่าพฤติกรรมของการใช้ไสยศาสตร์ในการหลอกลวงผู้คนเสียอีก

ความเชื่อที่อาจจะดูไม่เป็นวิทยาศาสตร์นั้นคงจะอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป แต่ชุดความเชื่อที่จะถูกเลือกมาใช้ในการแสดงออกนั้นจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา การศึกษา ความรู้ที่เพิ่มขึ้น และสถานะทางสังคมของคนไทยและบริบททางสังคมในแต่ละช่วงเวลา เมื่อคนไทยมีการเรียนเรื่องวิทยาศาสตร์มากขึ้น ชุดความเชื่อและรูปแบบหรือพิธีกรรมที่ใช้ในการแสดงออกก็จะเปลี่ยนไปตามพื้นฐานของผู้ใช้และบริบทของปัญหา ความเข้าใจเรื่องบริบทของการใช้ความเชื่อทางไสยศาสตร์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องมาวิเคราะห์ เพื่อเข้าใจถึงที่มาที่ไปของบริบทและการเปลี่ยนแปลงของสังคม แล้วจึงจะสามารถที่จะหากลยุทธ์ที่เหมาะสมมาต่อกรได้