สิทธิในการอุทธรณ์ภาษีของผู้เสียภาษี

สิทธิในการอุทธรณ์ภาษีของผู้เสียภาษี

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(รธน.) ปี 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายของสูงสุดของประเทศ บัญญัติให้การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย

ขณะเดียวกันประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ได้บัญญัติถึงหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี หรือสามารถกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กฎหมายได้ให้อำนาจหน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดเก็บภาษีจากประชาชนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด

กฎหมายข้างต้นได้กำหนดภาระหน้าที่ของผู้เสียภาษีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการชำระภาษีให้แก่รัฐ รวมถึงการกำหนดสิทธิของผู้เสียภาษี เช่น สิทธิในการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือสิทธิขออุทธรณ์ภาษีต่อหน่วยงานจัดเก็บภาษี เป็นต้น

หากพิจารณาถึงหน้าที่ของผู้เสียภาษีแล้ว หากผู้เสียภาษีไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ผู้เสียภาษีจะต้องมีความรับผิดชอบในทางใดทางหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด เช่น เจตนาไม่ยื่นรายการที่ต้องเสียภาษี เพื่อหลีกเลี่ยง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 37 ทวิ) เป็นต้น

นอกจากนี้ กฎหมายยังได้กำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่เรียกกว่าเจ้าพนักงานประเมินด้วยเช่นกัน เช่น ให้อำนาจประเมินภาษีที่เกี่ยวข้องเมื่อมีการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี และเมื่อได้ประเมินภาษีแล้วให้แจ้งจำนวนภาษีที่ประเมินไปยังผู้ต้องเสียภาษี (มาตรา 18) หรือในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการยื่นเสียภาษีไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจไต่สวนตามขั้นตอนของกฎหมาย และมีอำนาจที่จะแก้จำนวนเงินที่ประเมินภาษีหรือที่ยื่นรายการไว้เดิมได้ (มาตรา 19 ประกอบมาตรา 20) เป็นต้น

การทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินข้างต้น ส่งผลทำให้ผู้เสียภาษีเกิดสิทธิประการหนึ่งที่กฎหมายรับรองคือ สิทธิในการอุทธรณ์การประเมินภาษี เป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ฯของผู้เสียภาษีมีลักษณว่า ผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน จำนวนภาษีที่ต้องชำระ หรือเหตุผลที่เจ้าพนักงานประเมินใช้อ้างอิงเพื่อประเมินและจัดเก็บภาษี

สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการการอุทธรณ์ภาษีตามประมวลรัษฎากรนั้น ผู้เขียนได้จำแนกออกเป็น 3 ขั้นตอนเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจคือ (1) การจัดเตรียมเอกสาร (2) การยื่นอุทธรณ์ และ (3) การนำคดีไปฟ้องศาลภาษีอากร

โดยขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารนั้น ผู้เสียภาษีซึ่งเป็นผู้ถูกประเมินภาษีจะต้องจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น เอกสารประจำตัวของผู้อุทธรณ์ หนังสือมอบอำนาจ หนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคล เอกสารหลักประกันการเสียภาษี หนังสือแจ้งการประเมินภาษี หรือหลักฐานอื่น ๆ ที่ใช้อ้างอิงประกอบหนังสืออุทธรณ์ เป็นต้น

ส่วนขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์นั้น ผู้เสียภาษีต้องยื่นคำอุทธรณ์เป็นหนังสือตามแบบฟอร์มของกรมสรรพากร โดยระบุให้ชัดแจ้งว่า อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีประเภทใด เดือนหรือปีภาษีใด และเป็นจำนวนเงินภาษีเท่าใดตามหนังสือแจ้งการประเมิน พร้อมทั้งเหตุผลและหลักฐานการไม่เห็นด้วยต่อการประเมิน จำนวนภาษีที่ต้องชำระ และคำขอบังคับต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ทั้งนี้ให้ยื่นคำอุทธรณ์ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพากรภาคหรือหน่วยงานที่ออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีแล้วแต่กรณี ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษี

ในขั้นตอนการนำคดีไปฟ้องศาลภาษีอากรนั้น เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของผู้เสียภาษีแล้ว จะส่งผลคำวินิจฉัยให้แก่ผู้อุทธรณ์ต่อไป หากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการฯ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลยุติธรรม โดยให้ยื่นเป็นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากรภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ หากผู้เสียภาษีไม่พอใจในผลคำพิพากษาก็สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลภาษีอากรไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ รวมถึงศาลฎีกาได้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ฯ ถือเป็นสิทธิที่กฎหมายได้รับรองคุ้มครองและยืนยันถึงหลักการการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียภาษีที่มีต่อหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากด้วยอำนาจของกฎหมายส่งผลทำให้หน่วยงานของรัฐมีอำนาจในลักษณะที่เหนือกว่าในการจัดเก็บภาษีจากผู้เสียภาษี อีกทั้งหน่วยงานของรัฐได้ใช้อำนาจทางมหาชนในลักษณะของการบังคับฝ่ายเดียวในการจัดเก็บภาษีโดยถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นจึงมีเหตุผลสนับสนุนที่มีน้ำหนักมั่นคงที่จะต้องมอบสิทธิการอุทธรณ์การประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้ผู้เสียภาษีพิจารณาเลือกใช้สิทธิดังกล่าวต่อองค์กรที่ทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาท ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือศาล

จะเห็นได้ว่า ผู้เสียภาษีสามารถเลือกใช้สิทธิตามกฎหมายในการอุทธรณ์การประเมินภาษีโดยต้องดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด หากคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษามีผลเป็นที่สุดแล้ว ผู้เสียภาษีต้องน้อมรับและยินยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาแล้วแต่กรณี หากมีการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามย่อมต้องมีความรับผิดตามกฎหมายอีกเช่นเดียวกัน.

โดย... 

ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์