อาหาร การศึกษา หางานทำ 3 โจทย์สำคัญของ ครม. ใหม่

อาหาร การศึกษา หางานทำ 3 โจทย์สำคัญของ ครม. ใหม่

ในที่สุดเราก็ได้เห็นหน้าตาคณะรัฐมนตรี(ครม.)ชุดใหม่ ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาได้มากพอสมควร มีทั้งเสียงชื่นชมและข้อสังเกตของความผิดฝาผิดตัว

 ระหว่างความชำนาญของรัฐมนตรีกับกระทรวงที่ต้องดูแล รวมถึงประวัติในอดีต จะถูกใจหรือไม่ถูกใจ ตั้งแต่นี้ต่อไปหน้าที่ในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าก็อยู่ในมือเขาเหล่านี้แล้ว

ช่วงเลือกตั้ง พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคมีชุดนโยบายของตัวเองที่สัญญากับประชาชนว่า หากมีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศจะขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ให้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบของพรรคร่วมและคณะรัฐมนตรีไม่ได้จำกัดอยู่แค่สิ่งที่ได้สัญญาไว้กับประชาชนเท่านั้น การหาประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อพลิกผันประเทศก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะประเด็นเหล่านี้คือสิ่งที่กำหนดความเป็นไปของประเทศในระยะยาว

3 ประเด็นที่อยากฝากให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา คือ อาหาร การศึกษา และหางานทำ

อาหาร  หลายปีที่ผ่านมา คุณภาพและความปลอดภัยของอาหารไทยอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง สถิติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น คือ สัญญาณอันตรายที่มองข้ามไม่ได้ อาหารที่ด้อยคุณภาพไม่ปลอดภัยย่อมบั่นทอนสุขภาพของคนไทยให้ตายผ่อนส่ง ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานของแรงงาน ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

นอกจากนี้แล้ว ความสะอาดปลอดภัยของอาหารยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่ต่างประเทศมีต่ออาหารไทย หากอาหารในประเทศไม่ถูกสุขลักษณะ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็เสี่ยงกับการเจ็บป่วย เมื่อเกิดขึ้นบ่อยเข้า ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ เรื่องนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะมากู้ภาพลักษณ์คืนให้ดีเหมือนเดิมเป็นเรื่องยากมาก ควรป้องกันไว้ดีกว่ามาตามแก้ทีหลัง

การแก้ปัญหานี้ ไม่ได้จบลงที่การหยุดใช้สารเคมีในภาคเกษตร แต่ยังต้องรวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านอาหารโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นร้านอาหารริมทางทั้งหลายมีความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาหารที่สะอาดปลอดภัย มีการเสริมสร้างนิสัยในที่ดี เช่น การล้างผักให้ถูกวิธีเพื่อกำจัดสารเคมีที่ติดมา การเลือกเนื้อสัตว์ที่มีความสดสะอาด การล้างจานจามเพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคสะสม เป็นต้น

ประชาชนเองก็ต้องได้รับความรู้ที่เพียงพอ จะได้รู้จักเลือกซื้อเลือกรับประทานอาหารที่ปลอดภัย เป็นแรงกดดันอีกด้านหนึ่งเพื่อให้ผู้ประกอบการด้านอาหารปรับตัว

การศึกษา  แม้ว่าจะมีความพยายามในการปรับนโยบายและรูปแบบการเรียนรู้ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น ยังขาดการเปลี่ยนแปลงกรอบคิดในเชิงลึก เราพูดถึงการศึกษาของฟินแลนด์ เราพูดถึงการปรับตัวของสิงคโปร์ แต่ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่าสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างการศึกษาแบบไทยแลนด์โมเดลได้อย่างไร ที่เราเห็นคือการนำเอาห้องเรียนจากฟินแลนด์จากสิงคโปร์แบบสำเร็จรูปโดยไม่ปรับให้เหมาะกับบริบทของไทย

ตราบใดที่โรงเรียนยังขึ้นป้ายขนาดใหญ่หน้าโรงเรียนเพื่อเชิดชูเด็กที่ได้คะแนนสอบสูง ยังประกาศรายชื่อคนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในสาขายอดนิยมได้ การศึกษาของไทยก็ยังคงย่ำอยู่กับที่แบบนี้ต่อไป

หากย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์การศึกษาของฟินแลนด์ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การปฏิรูปการศึกษาต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคตของประเทศ ซึ่งต้องอาศัย “ความกล้า” “ความทุ่มเท” และ “ความเข้าใจในอนาคต” อย่างลุ่มลึกโดยยึดเอาความผาสุกในอนาคตของลูกหลายเป็นที่ตั้ง

หางานทำ  ข้อมูลทุนมนุษย์ของ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ชี้ให้เห็นว่าประเทศที่มีความพร้อมรับมือกับการเข้าสู่ยุค 4.0 จะมีแรงงานทักษะสูงประมาณ 45% ถึง 50% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ประเทศไทยมีแรงงานกลุ่มนี้ไม่ถึง 20% ซึ่งน้อยกว่าที่ควรจะเป็นถึงกว่าเท่าตัว นั่นหมายความว่า เรายังต้องยกระดับทักษะหรือเสริมสร้างทักษะใหม่ให้กับแรงงานในประเทศไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนให้เร็วที่สุด ซึ่งถือเป็นอภิมหาโครงการด้านแรงงานที่มีความสำคัญมาก เพราะเรื่องนี้เป็นหลักประกันว่าแรงงานไทยจะสามารถปรับตัวหางานใหม่ทำได้ในยุคที่คำว่าดิสรัปชั่นกำลังแสดงอิทธิฤทธิ์สร้างและทำลายธุรกิจจำนวนมากในประเทศ

นอกจากนี้แล้ว สำหรับแรงงานที่ตกงานหรือหางานทำไม่ได้แล้วไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จำเป็นต้องมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนว่าแรงงานที่เสี่ยงตกงานในแต่ละกลุ่ม แต่ละอุตสาหกรรม จะมีงานประเภทไหนที่เข้ามารองรับได้ช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อยกระดับทักษะหรือสร้างทักษะใหม่ให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป

การบ้านทั้ง 3 เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ไม่ใช่เรื่องที่จะช่วยเพิ่มความนิยมให้กับพรรคและตัวรัฐมนตรีอย่างรวดเร็ว แต่ 3 เรื่องนี้คือรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ จึงน่าจะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนให้เราได้เห็นว่าคณะรัฐมนตรีเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ของใคร